ความผิดยอมความได้

        เมื่อมีคดีความผิดทางอาญาเกิดขึ้น หลายคนยังสับสนในเรื่องของประเภทคดีระหว่างความผิดอาญาแผ่นดิน ความผิดยอมความได้ และความผิดลหุโทษ ว่ามีความหมายหรือความสำคัญในทางปฏิบัติอย่างไร วันนี้จะมาหาคำตอบกัน

         คดีความผิดอาญาต่อแผ่นดิน หมายความว่า คดีความผิดที่กระทบต่อสังคมส่วนรวม ถือว่ารัฐเป็นผู้เสียหาย ดังนั้น ผู้ที่ได้รับผลเสียหายจากความผิดอาญาดังกล่าวไม่อาจที่จะเข้าไปดำเนินคดีเองได้ หรือแม้จะไม่ติดใจเอาความ คดีก็ยังไม่ยุติ ต้องดำเนินคดีฟ้องร้องผู้กระทำผิดจนถึงที่สุด

             ตัวอย่างเช่น ความผิดฐานทำร้ายร่างกาย หรือความผิดฐานขับรถยนต์โดยประมาท เป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับอันตรายสาหัสหรือตาย แม้ภายหลังเกิดเหตุผู้เสียหายจะไม่ติดใจดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อไปแล้ว จะเนื่องด้วยได้รับการชดใช้ค่าเสียหายหรือสงสารก็ตาม คดีความก็ยังไม่ยุติ รัฐยังต้องดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดต่อไปจนถึงที่สุดของกระบวนการตามกฎหมาย เพราะว่าคดีดังกล่าวเป็นคดีความผิดอาญาต่อแผ่นดิน ส่วนศาลจะลงโทษมากน้อยเพียงใดนั้นก็แล้วแต่พฤติการณ์ของคดีแต่ละคดีๆ ไป ซึ่งการที่ผู้เสียหายได้รับการชดใช้ค่าเสียหายและไม่ติดใจดำเนินคดีต่อไป ศาลก็อาจใช้ดุลพินิจในการลงโทษสถานเบา หรือรอการลงโทษให้แก่จำเลย เป็นต้น

               คดีความผิดยอมความได้ หมายความว่า คดีความผิดที่ผู้เสียหายได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายโดยตรง สังคมไม่ได้รับผลกระทบหรือเดือดร้อนจากการกระทำผิดนันด้วย ดังนั้น ผู้เสียหายจึงมีสิทธิ์เข้าดำเนินคดีได้เอง หรือมอบให้รัฐดำเนินคดีแทนก็ได้ และมีสิทธิ์ยุติคดีเมื่อใดก็ได้ไม่ว่าจะด้วยการถอนคำร้องทุกข์ถอนฟ้อง หรือตกลงประนีประนอมยอมความก็ตาม

               ตัวอย่างเช่น ความผิดฐานหมิ่นประมาท,ความผิดฐานยักยอก, ความผิดฐานฉ้อโกงหรือโกงเจ้าหนี้ ผู้เสียหายมีสิทธิที่จะฟ้องร้องคดีเอง หรือร้องทุกข์ต่อเจ้าพนักงานตำรวจให้ดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดก้ได้ และไม่ว่าคดีจะดำเนินไปแล้วเพียงใด หากผู้เสียหายต้องการยุติคดีเนื่องจากได้รับการชดใช้ค่าเสียหายหรือสงสาร ก็สามารถทำได้ตลอดเวลาจนกว่าคดีจะถึงที่สุด เป็นต้น

                 ความผิดอันยอมความได้ หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า คดีความผิดต่อส่วนตัวนี้ จะมีบทบัญญัติของกฎหมายระบุไว้ชัดเจนว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ ดังนั้น หากความผิดฐานใดไม่มีบทบัญญัติระบุว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ ก็ต้องถือว่าเป็นความผิดอาญาต่อแผ่นดิน

                   นอกจากนี้ หากเป็นคดีความผิดอันยอมความได้กฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ของผู้เสียหายที่จะต้องรีบร้องทุกข์กล่าวโทษภายในกำหนด ๓ เดือน นับแต่วันที่รู้เรื่องความผิดและรู้ตัวผู้กระทำความผิด มิฉะนั้นถือว่าขาดอายุความ ไม่สามารถดำเนินคดีแก่ผู้กระทำผิดได้ (แต่เมื่อผู้เสียหายร้องทุกข์ภายในกำหนด ๓ เดือนแล้ว อายุความก็จะนับตามอายุความปกติ)

                     คดีความผิดลหุโทษ หมายความว่า ความผิดที่มีโทษเล็กน้อยซึ่งมีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับเช่นว่ามานี้ด้วยกัน และด้วยเหตุเป็นความผิดมีอัตราโทษเล็กน้อย จึงมีกระบวนพิจารณาพิเศษ ได้แก่ ความผิดลหุโทษแม้กระทำโดยไม่มีเจตนาก็เป็นความผิด เว้นแต่ตามบทบัญยัติความผิดนั้น จะมีความบัญญัติให้เห็นเป็นอย่างอื่น ส่วนผู้พยายามกับผู้สนับสนุนกระทำความผิดลหุโทษ แม้มีความผิดก็ไม่ต้องรับโทษ

ตัวอย่างเช่น คดีความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า กฎหมายกำหนดโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท และความผิดฐานเสพสุราหรือของเมาจนเป็นเหตุให้ตนเมาประพฤติวุ่นวายหรือครองสติไม่ได้ ขณะอยู่ในถนนสาธารณะหรือสาธารณสถาน กฎหมายกำหนดโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท ดังนั้น คดีดังกล่าวจึงเป็นคดีลหุโทษ เป็นต้น

              ความผิดลหุโทษ ไม่มีบทบัญญัติของกฎหมายระบุว่าเป็นความผิดอันยอมความได้ ดังนั้น แม้จะมีอัตราโทษที่เล็กน้อยก็ต้องถือว่าเป็นคดีความผิดอาญาต่อแผ่นดิน ที่รัฐจะต้องดำเนินคดีจนเสร็จสิ้นกระบวนวิธีพิจารณา จะตกลงประนีประนอมยอมความยุติคดีกลางคันไม่ได้นั่นเอง.
ความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา
มีดังนี้ครับ
 
ม.๒๗๒   เอาชื่อหรือยี่ห้อในทางการค้าของผู้อื่นมาใช้
ม.๒๗๖ วรรคแรก   ข่มขืนกระทำชำเราธรรมดา
ม.๒๗๘   กระทำอนาจาร(มิได้เกิดต่อหน้าธารกำนัล, ไม่ได้รับอันตรายสาหัสหรือถึงแก่ความ 
             ตาย, ไม่เป็นการกระทำแก่ผู้สืบสันดาน ศิษย์ซึ่งอยู่ในความดูแลหรือผู้อยู่ในความ   
               ปกครอง)
ม.๒๘๔   พาหญิงไปเพื่อการอนาจาร
ม.๒๐๙ วรรคแรก   ทำให้เสื่อมเสียเสรีภาพ
ม.๓๑๐ วรรคแรก   หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่น
ม.๓๑๑   หน่วงเหนี่ยวกักขังผู้อื่นโดยประมาท
ม.๓๒๒   เปิดเผยความลับในจดหมาย  โทรเลข
ม.๓๒๓   เปิดเผยความลับของผู้อื่นที่รู้มาโดยหน้าที่
ม.๓๒๔   เปิดเผยความลับในทางอุตสาหกรรมหรือวิทยาศาสตร์
ม.๓๒๖   หมิ่นประมาทคนเป็น
ม.๓๒๗   หมิ่นประมาทคนตาย
ม.๓๒๘   หมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา
ม.๓๔๑   ฉ้อโกงธรรมดา
ม.๓๔๒   ฉ้อโกงประกอบด้วยเหตุพิเศษ
ม.๓๔๔   หลอกลวงคนให้ไปทำงาน
ม.๓๔๕   สั่งซื้ออาหารหรือเข้าอยู่ในโรงแรมโดยไม่มีเงิน
ม.๓๔๖   ชักจูงให้เด็กเบาปัญญาขายของโดยเสียเปรียบ
ม.๓๔๗   ฉ้อโกงในเรื่องประกันวินาศภัย
ม.๓๔๙   ฉ้อโกงเจ้าหนี้จำนำ
ม.๓๕๐   ฉ้อโกงเจ้าหนี้ธรรมดา
ม.๓๕๒   ยักยอกทรัพย์ธรรมดา
ม.๓๕๓  ยักยอกทรัพย์ในฐานะเป็นผู้จัดการทรัพย์แทนเขา
ม.๓๕๔   ยักยอกทรัพย์ในฐานะเป็นผู้จัดการทรัพย์ตามคำสั่งศาล
ม.๓๕๕   ยักยอกทรัพย์เก็บตก
ม.๓๕๘   ทำให้เสียทรัพย์ตามธรรมดา
ม.๓๕๙   ทำให้เสียทรัพย์ชนิดพิเศษ
ม.๓๖๒   บุกรุกตามธรรมดา
ม.๓๖๓   บุกรุกโดยย้ายเครื่องหมายอสังหาริมทรัพย์
ม.๓๖๔   เข้าไปซ่อนตัวในอาคารคนอื่น
 
ความผิดอาญาที่นอกเหนือจากที่กล่าวมานี้ ที่กฎหมายให้เป็นความผิดที่ยอมความกันได้เมื่อผู้เสียหายและผู้ต้องหาเป็นญาติกันตาม ม.๗๑
ม.๓๓๔   ลักทรัพย์ธรรมดา
ม.๓๓๕   ลักทรัพย์ประกอบเหตุพิเศษ(เหตุฉกรรจ์)
ม.๓๓๖ วรรคแรก   วิ่งราวทรัพย์ตามธรรมดา
ม.๓๕๗   รับของโจร
ม.๓๖๐   ทำให้เสียทรัพย์ที่มีไว้เพื่อสาธารณประโยชน์เสียหาย
 
(ม.๗๑ :          ความผิดตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 334 ถึงมาตรา 336 วรรคแรก และมาตรา 341 ถึงมาตรา 364 นั้น ถ้าเป็นการกระทำที่สามี กระทำต่อภริยาหรือภริยากระทำต่อสามี ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ
ความผิดดังระบุมานี้ ถ้าเป็นการกระทำที่ผู้บุพการีกระทำต่อผู้สืบ สันดาน ผู้สืบสันดาน กระทำต่อผู้บุพการี หรือพี่หรือน้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน กระทำต่อกัน แม้กฎหมายมิได้บัญญัติให้เป็นความผิดอันยอมความได้ ก็ให้เป็น ความผิดอันยอมความได้ และนอกจากนั้น ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมาย กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้  )

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น