กฎหมายการรับราชการทหาร

การแจ้งขึ้นบัญชีทหารกองเกิน
ชายผู้มีสัญชาติไทย เมื่อมีอายุย่างเข้า 18 ปีบริบูรณ์ใน พ.ศ. ใด ให้ไปแสดงตนเพื่อลงบัญชีทหารกองเกินภายใน พ.ศ. นั้น ต่อสัสดีอำเภอที่ตนมีภูมิลำเนาทหารอยู่ ถ้าไม่สามารถไปลงบัญชีทหารกองเกินได้ด้วยตนเอง ต้องให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะแล้วและเชื่อถือได้เป็นผู้ดำเนินการแทน (อายุ 20 ปีบริบูรณ์) ภายในเดือนพฤศจิกายนของปีที่อายุย่างเข้า 18 ปี
บุคคลใดซึ่งยังไม่ได้ลงบัญชีทหารกองเกินที่อำเภอพร้อมกับคนปีเดียวกัน ถ้าอายุยังไม่ถึง 46 ปีบริบูรณ์ ต้องไปลงบัญชีทหารกองเกินเสียเช่นเดียวกับคนที่มีอายุย่างเข้า 18 ปีโดยต้องปฏิบัติภายใน 30 วัน นับแต่วันที่สามารถปฏิบัติได้ ในกรณีนี้จะให้ผู้อื่นดำเนินการแทนไม่ได้ (พระราชบัญญัติ รับราชการทหาร มาตรา ๑๘)
เมื่อได้รับการลงบัญชีทหารกองเกินแล้ว นายอำเภอจะออกใบสำคัญ ส.ด. 9 ให้ไว้เป็นหลักฐาน
เมื่อได้ลงบัญชีทหารกองเกินแล้ว ให้ถือว่าผู้นั้นมีภูมิลำเนาอยู่ในท้องที่อำเภอที่ได้ลงบัญชีทหารกองเกินไว้ ภูมิลำเนาทหารมีได้เพียงแห่งเดียวเท่านั้น (พระราชบัญญัติรับราชการทหาร มาตรา ๕)
หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
1.      สูติบัตร
2.      บัตรประจำตัวประชาชนหรือใบแทน
3.      สำเนาทะเบียนบ้าน(กรณีบิดามารดาไม่ได้อยู่บ้านเดียวกันกับผู้ขอลงบัญชีทหารกองเกินให้นำสำเนาทะเบียนบ้านของบิดามารดาไปด้วย)
4.      กรณีบิดามารดาเป็นบุคคลต่างด้าวจะต้องนำใบสำคัญประจำตัวคนต่างด้าวของบิดามารดาไปด้วย
5.      กรณีเปลี่ยนชื่อตัว-ชื่อสกุล จะต้องนำใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อตัว-ชื่อสกุลไปแสดงด้วย
6.      กรณีบิดามารดาถึงแก่กรรมแล้ว ให้นำหลักฐานใบมรณบัตรไปแสดงด้วย
โทษของการฝ่าฝืนไม่ไปลงบัญชีทหารกองเกินภายในกำหนด
บุคคลใดไม่มาลงบัญชีทหารกองเกิน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือนหรือปรับไม่เกิน 300 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถ้าบุคคลนั้นสำนึกในความผิดรีบไปแจ้งนายอำเภอเพื่อขอลงทะเบียนทหารกองเกินก่อนที่เจ้าหน้าที่จะยกเรื่องขึ้นพิจารณาความผิดก็จะถูกลงโทษในสถานเบาเพียงจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พระราชบัญญัติรับราชการทหาร มาตรา ๔๔)
การตรวจคัดเลือกทหารกองเกินให้เป็นทหารกองประจำการ (การเกณฑ์ทหาร)
ทหารกองเกินเมื่อมีอายุย่างเข้า 21 ปี ใน พ.ศ. ใด ต้องไปแสดงตนเพื่อรับหมายเรียกที่อำเภอท้องที่ ซึ่งเป็นภูมิลำเนาทหารของตนภายในปี พ.ศ. นั้นและในเดือนตุลาคมของทุกปี อำเภอหรือเขตท้องที่จะประกาศให้ทหารกองเกินที่มีอายุย่างเข้า 21 ปี ในพ.ศ.นั้นไปแสดงตนเพื่อรับหมายเรียกเข้ารับราชการทหารที่อำเภอหรือเขต
บุคคลใดไม่สามารถไปรับหมายเรียกด้วยตนเองได้ ต้องให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะซึ่งมีอายุ 20 ปีบริบูรณ์แล้ว และพอเชื่อถือได้ไปรับหมายเรียกแทน (พระราชบัญญัติ รับราชการทหาร มาตรา ๒๕) แต่ต้องมีหนังสือมอบหมายของผู้ถูกเรียกถึงนายอำเภอหรือสัสดีเขตให้ผู้แทนนำมาแสดงด้วย
หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
1.      บัตรประจำตัวประชาชน
2.      ใบสำคัญทหารกองเกิน (ส.ด.9)
โทษของผู้ฝ่าฝืน
บุคคลใดไม่มารับหมายเรียกที่อำเภอ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 เดือน หรือปรับไม่เกิน 300 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าก่อนที่เจ้าหน้าที่จะยกเรื่องขึ้นพิจารณาความผิด บุคคลนั้นได้มาขอรับหมายเรียกด้วยตนเอง หรือให้บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะที่เชื่อถือได้มารับแทน ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (พระราชบัญญัติรับราชการทหาร มาตรา ๔๔)
เมื่อถึงกำหนดวันตามหมายเรียก ที่กำหนดวันให้ทหารกองเกินทุกคนต้องไปทำการตรวจคัดเลือกเพื่อเข้ารับราชการทหารกองประจำการนั้น ทหารกองเกินซึ่งถูกเรียกต้องมาให้คณะกรรมการตรวจเลือกทำการตรวจเลือก โดยนำใบสำคัญทหารกองเกิน บัตรประชาชน ประกาศนียบัตร หรือหลักฐานการศึกษามาแสดงด้วย (พระราชบัญญัติรับราชการทหาร มาตรา ๒๗)
ทหารกองเกิน ซึ่งจะถูกเรียกมาตรวจคัดเลือก เพื่อเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการนั้น ต้องมีอายุตั้งแต่ 21 ปีขึ้นไป แต่ยังไม่ถึง 30 ปีบริบูรณ์ (พระราชบัญญัติรับราชการทหาร มาตรา ๓๒)
บุคคลใดหลีกเลี่ยงขัดขืนไม่ให้คณะกรรมการตรวจเลือกทำการตรวจ เลือก หรือมาแต่ไม่เข้าทำการตรวจเลือกหรือไม่อยู่จนเสร็จการตรวจเลือก หรือหลีกเลี่ยงขัดขืนด้วยประการใดๆ เพื่อจะมิให้ได้เข้ารับราชการทหารกอง ประจำการต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี (พระราชบัญญัติรับราชการทหาร มาตรา ๔๕)
ทหารกองเกินซึ่งได้รับหมายเรียกให้ไปทำการตรวจเลือก เพื่อเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการ เมื่อถึงวันกำหนดให้ไปทำการตรวจเลือก ด้วยบุคคลนั้นมีเหตุจำเป็นบางประการไม่สามารถไปตรวจเลือกในวันนั้นได้ ก็ไม่มีความผิดตามกฎหมายแต่อย่างใด
เหตุจำเป็นดังกล่าวได้แก่
1. ข้าราชการซึ่งได้รับคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยปัจจุบันทันด่วน ให้ไปรับราชการทหารอันสำคัญ หรือไปราชการต่างประเทศ โดยคำสั่งของ เจ้ากระทรวง
2. นักเรียนซึ่งไปศึกษาต่างประเทศตามที่ระบุในกฎกระทรวง
3. ข้าราชการหรือผู้ปฏิบัติงานในสถานที่ราชการ หรือโรงงานอื่นใด ในระหว่างที่มีการรบ การสงคราม และอยู่ในความควบคุมของกระทรวงกลาโหม
4. บุคคลซึ่งกำลังปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยทหารในราชการสงคราม
5. เกิดเหตุสุดวิสัย
6. ไปเข้าตรวจเลือกที่อื่น
7. ป่วย โดยให้ผู้บรรลุนิติภาวะและเชื่อถือได้มาแจ้งต่อคณะกรรมการตรวจเลือกในวันตรวจเลือก (กรณีตามข้อ ๑, ๒, ๓ หรือ ๔ ต้องได้รับการผ่อนผันเฉพาะการจาก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยด้วย) (พระราชบัญญัติรับราชการทหาร มาตรา ๒๗)
ทหารกองเกินผู้ใดที่ถูกคัดเลือกเข้ารับราชการเป็นทหารกองประจำการ แล้ว ตามปกติจะต้องเข้ารับราชการมีกำหนดเวลา 2 ปี แต่อาจจะรับราชการน้อยกว่า 2 ปี ก็ได้ถ้ามีเหตุยกเว้นตามที่กฎหมายกำหนดไว้ (พระราชบัญญัติรับราชการทหาร มาตรา ๙) ได้แก่
1.                  ผู้สำเร็จจากการฝึกวิชาทหารตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 1 ให้รับราชการ ทหารกองประจำการ 1 ปี 6 เดือน แต่ถ้าเป็นผู้ที่ได้รับขอเข้ารับราชการในกองประจำการ ก็ให้รับราชการทหารกองประจำการเพียง 1 ปี
2.                  ผู้สำเร็จการฝึกวิชาทหารตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรการฝึกวิชาทหารชั้นปีที่ 2 ให้รับราชการทหารกองประจำการ 1 ปี แต่ถ้าเป็นผู้ที่ได้ร้องขอเข้ารับราชการในกองประจำการ ก็ให้รับราชการทหารกองประจำการเพียง 6 เดือน
3.                  ผู้สำเร็จการฝึกวิชาทหารตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรการฝึกวิชาทหารตั้งแต่ชั้นปีที่ 3 ขึ้นไป ให้ขึ้นทะเบียนกองประจำการแล้วปลดเป็นทหารกองหนุน โดยมิต้องเข้ารับราชการในกองประจำการ (กฎกระทรวงฉบับที่ ๒๔ (พ.ศ. ๒๕๐๘) ออกตามความใน พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. ๒๔๙๗)
ทหารกองเกินซึ่งถูกคัดเลือกเข้าเป็นทหารกองประจำการแล้ว ถ้ารับราชการครบ 2 ปี หรือน้อยกว่านั้นตามที่ได้รับยกเว้นแล้ว ก็จะถูกปลดเป็นทหารกองหนุนต่อไป (พระราชบัญญัติรับราชการทหาร มาตรา ๙ วรรค ๒)
บุคคลที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้ารับราชการเป็น ทหารกองประจำการ
ทหารกองเกินหรือทหารกองหนุนซึ่งได้รับการผ่อนผันไม่ต้อง เรียกเข้ารับราชการทหารในการเรียกพล เพื่อตรวจสอบเพื่อฝึกวิชาทหาร หรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อม คือ
1.       พระภิกษุ สามเณร
2.      นักบวชในพุทธศาสนาแห่งนิกายจีนหรือญวน
3.      นักบวชศาสนาอื่น ซึ่งมีหน้าที่ประจำในกิจของศาสนาและไม่ เรียกเข้ารับราชการทหารกองประจำการในยามปกติ ตามกฎกระทรวงที่ออก ตามมาตรา ๑๔ (๒)
4.      สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งรัฐ
5.      บุคคลซึ่งอยู่ในระหว่างการฝึกวิชาทหาร ตามหลักสูตรที่กระทรวงกลาโหมกำหนดตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร
6.      นักเรียนโรงเรียนเตรียมทหารของกระทรวงกลาโหม
7.      นักศึกษาของศูนย์กลางอบรมการศึกษาผู้ใหญ่ของกระทรวง ศึกษาธิการ
8.      นักศึกษาของศูนย์ฝึกการบินพลเรือนของกระทรวงคมนาคม
9.      นักเรียนซึ่งออกไปศึกษาวิชา ณ ต่างประเทศและได้รับการ ผ่อนผันตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๒๗ (๒)
10. ครูซึ่งประจำการสอนหนังสือหรือวิชาการต่าง ๆ ที่อยู่ในความควบคุมของกระทรวง ทบวง กรม หรือราชการส่วนท้องถิ่นและซึ่งไม่เรียก เข้ารับราชการทหารกองประจำการใน
ยามปกติตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๑๔ (๕)
11. พนักงานวิทยุของกระทรวง ทบวง กรม หรือองค์การของ รัฐบาล
12. ข้าราชการกลาโหมพลเรือน ลูกจ้าง หรือคนงานในสังกัดกระทรวงกลาโหม ทั้งนี้เฉพาะผู้ซึ่งทำงานโดยใช้วิชาหรือฝีมือ
13. ข้าราชการพลเรือน ข้าราชการฝ่ายรัฐสภา ข้าราชการการเมือง ข้าราชการกลาโหมพลเรือน ข้าราชการฝ่ายอัยการ ข้าราชการฝ่ายตุลาการ ข้าราชการส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญ ข้าราชการส่วนท้องถิ่น ซึ่งรับเงินเดือนประจำและเป็นข้าราชการหรือพนักงาน ตั้งแต่ระดับ 5 หรือเทียบเท่าขึ้นไปแล้วแต่กรณี
14. ข้าราชการซึ่งได้รับคำสั่งของผู้บังคับบัญชาโดยปัจจุบันทันด่วน ให้ไปราชการอันสำคัญยิ่ง หรือไปราชการต่างประเทศโดยคำสั่งของเจ้ากระทรวง
15. หัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอหรือกิ่งอำเภอ
16. ปลัดอำเภอ
17. ตำรวจประจำการ
18. กำนัน
19. ผู้ใหญ่บ้าน
20. สารวัตรกำนัน
21. แพทย์ประจำตำบลซึ่งมิใช่ทหารกองหนุน
22. นายกเทศมนตรีหรือเทศมนตรี
23. ผู้ซึ่งทำงานประจำในตำแหน่งหน้าที่สำคัญในราชการเทศบาล
องค์การของรัฐบาล หรือในกิจการเกี่ยวกับการอุตสาหกรรม เกษตรกรรม พาณิชยกรรม การขนส่ง การธนาคาร หากขาดไปจะทำให้กิจการเสียหายและจะหาผู้อื่นแทนไม่ได้ ตามที่กระทรวงกลาโหมกับกระทรวง ทบวง กรม เจ้าหน้าที่จะได้ตกลงกัน
24. บุคคลที่อยู่ในระหว่างการศึกษาตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา ๒๙ (๓)
25. บุคคลซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเห็นสมควรผ่อนผันเป็นพิเศษ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น