กระบวนการตรากฎหมาย (สนช.)

การสิ้นสุดของรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ส่งผลให้รัฐสภาที่ประกอบด้วยสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ต้องยุติหน้าที่ผู้แทนปวงชนในการพิจารณาร่างกฏหมายไปทันที อย่างไรก็ตามโชคดีที่ รัฐธรรมนูญฉบับ(ชั่วคราว) 2557(ฉบับที่ 19) กำหนดให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สามารถแต่งตั้งสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เข้ามาทำหน้าที่ดังกล่าวแทน ส.ส.และ ส.ว. การทำหน้าที่ของสนช.เป็นตามพิมพ์เขียว (Road map) ระยะที่สอง ที่จะนำประเทศไปสู่การเลือกตั้งและมีประชาธิปไตยที่เหมาะสมกับสภาพสังคมไทย
ด้วยเหตุนี้ จึงน่าสนใจว่าพวกเขาเป็นใคร? มาจากไหน? และมีขั้นตอนการทำงานอย่างไร?    
รู้จัก สนช.กันหน่อย
สนช.คือ กลุ่มบุคคลที่ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แต่งตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) ฉบับ 2557 เพื่อทำหน้าที่เสนอ เห็นชอบ และกลั่นกรองกฎหมายแทนสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา ซึ่งจะมีสมาชิกไม่เกิน 220 คน โดยวันที่ 31 กรกฎาคม 2557 มีบรมราชโองการแต่งตั้ง สนช.เป็นครั้งแรกจำนวน 200 คน  ประกอบไปด้วยทหารทั้งในและนอกราชการ 105 คน แบ่งเป็น 3 เหล่าทัพ ทหารบก 67 คน ทหารเรือ 19 คน และทหารอากาศ 19 คน ตำรวจ 10 คน และพลเรือน 85 คน แบ่งเป็นอดีต ส.ว.สรรหา, อดีต ส.ว.เลือกตั้ง, อธิการบดี และนักธุรกิจ
ต่อมา 25 กันยายน 2557 มีบรมราชโองการแต่งตั้ง สนช.เพิ่มอีกจำนวน 28 คน เป็นทหาร 17 คน และพลเรือน 11 คน ทั้งนี้การประกาศรายชื่อสนช.รอบแรกจำนวน 200 คน มีผู้ที่ขาดคุณสมบัติ และมีบางส่วนลาออกไปรับตำแหน่งรัฐมนตรี ทำให้เหลือ สนช.192 คน การแต่งตั้งครั้งนี้ทำให้ สนช.มีจำนวนครบ 220 คน
            การเดินทางของกฎหมายในสนช. ของรัฐธรรมนูญฉบับ (ชั่วคราว) 2557
ก่อนการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 รัฐธรรมนูญปี 2550 กำหนดให้ผู้ที่สามารถเสนอกฎหมายได้แก่ คณะรัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 10,000 รายชื่อ สำหรับรัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว) ปี 2557 กำหนดให้ผู้ที่สามารถเสนอกฎหมาย ประกอบด้วย
 1. คณะรัฐมนตรี(ครม.) สามารถเสนอร่างกฎหมายอะไรก็ได้เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ได้โดยตรง
 2. สภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) สามารถเสนอร่างกฎหมายเข้าสนช.ได้โดยตรง เว้นแต่เป็นร่างที่เกี่ยวด้วยการเงินต้องส่งไปให้ ครม.พิจารณาก่อนเข้าสู่ สนช.
 3. สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ จำนวนไม่น้อยกว่า 25 คน เสนอได้เฉพาะร่างกฎหมายที่ไม่เกี่ยวด้วยการเงิน ทั้งนี้ สปช. และ ครม.อาจนำร่างไปพิจารณาก่อนเข้าสู่วาระหนึ่งได้
 4. ผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) เสนอแก้พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.) เสนอแก้พ.ร.ป.ว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต ซึ่งจะเสนอได้แต่ พ.ร.ป.ที่ตนเองรักษาการและต้องไม่เกี่ยวด้วยการเงิน      
เมื่อร่างกฎหมายเข้าสู่การพิจารณาของ สนช.

วาระที่ 1 ขั้นรับหลักการ เมื่อร่างกฎหมายจากแหล่งข้างต้นเข้ามาสู่ สนช. สมาชิกสนช.จะประชุมพิจารณาเพื่อจะรับหรือไม่รับร่างกฎหมายในการพิจารณาต่อไปหรือไม่ หากที่ประชุมเสียงข้างมากไม่รับหลักการร่างนั้นก็จะตกไป แต่หากเสียงข้างมากหลักการก็จะเข้าสู่วาระที่สอง  

วาระที่ 2 เข้าสู่คณะกรรมาธิการที่สภาตั้ง เมื่อผ่านวาระที่หนึ่งร่างกฎหมายจะเข้าสู่คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้องกับร่างกฎหมายนั้น คณะกรรมาธิการจะพิจารณาร่างกฎหมายอีกครั้งซึ่งอาจมีการแก้ไขเพิ่มเติม แต่ต้องไม่ให้เปลี่ยนไปจะหลักการเดิมของร่างกฎหมาย ขั้นตอนนี้เรียกอีกอย่างว่าแปลญัตติ เมื่อเสร็จสิ้นแล้วร่างกฎหมายจะเข้าสู่วาระสาม
วาระที่ 3 ลงมติเห็นชอบ เมื่อผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการในวาระสอง สนช.ทั้งสภาจะต้องลงมติร่างกฎหมายนั้น ถ้าเสียงส่วนใหญ่ไม่เห็นชอบร่างนั้นก็ตกไป แต่ถ้าเสียงส่วนใหญ่เห็นชอบ จะส่งให้นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯ เพื่อให้พระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยให้ประกาศใช้เป็นกฎหมาย


หากพระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบ ให้สนช.ปรึกษาร่างกฎหมายนั้นอีกครั้งหากยืนยันตามเดิมด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของสภาให้ประกาศใช้เป็นกฎหมายได้เลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น