กฎหมายเกี่ยวกับครอบครัวและมรดก

กฎหมายเกี่ยวกับครอบครัวและมรดก
               กฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในครอบครัว ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕0 ได้บัญญัติเป็นแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐไว้ เพื่อให้รัฐต้องส่งเสริมและพัฒนาความเป็นปึกแผ่นของครอบครัว รับรองสิทธิของบุคคลในครอบครัว และกำหนดให้เด็ก เยาวชน และบุคคลในครอบครัวมีสิทธิได้รับความคุ้มครองโดยรัฐจากการใช้ความรุนแรงและการปฏิบัติอันไม่เป็นธรรม เด็กและเยาวชนที่ไม่มีผู้ดูแลมีสิทธิได้รับการเลี้ยงดูและการศึกษาอบรมจากรัฐ
               ๑) กฎหมายครอบครัว บัญญัติข้อกำหนดเกี่ยวกับความสัมพันธ์ทางครอบครัว ตั้งแต่การหมั้นไปจนถึงการสมรส ความสัมพันธ์ในครอบครัวและการขาดจากความสัมพันธ์ในครอบครัว ได้แก่
            ๑.๑) การหมั้น เป็นการทำสัญญาระหว่างชายกับหญิงว่าต่อไปจะสมรสกัน ซึ่งจะทำได้ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุ ๑๗ ปีบริบูรณ์แต่ถ้าชายหรือหญิงยังเป็นผู้เยาว์จะต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองเสียก่อน
             ในการหมั้นฝ่ายชายจะให้ของหมั้นแก่ฝ่ายหญิง เพื่อเป็นหลักฐานและประกันว่าจะสมรสกับหญิงด้วยของหมั้นนี้ เมื่อสมรสแล้วจะตกเป็นของฝ่ายหญิง แต่ถ้าไม่มีการสมรสอันเนื่องมาจากความผิดของฝ่ายหญิง ฝ่ายหญิงต้องคืนของหมั้นให้แก่ฝ่ายชาย


              การผิดสัญญาหมั้น ฝ่ายที่เสียหายสามารถเรียกค่าทดแทนได้ แต่จะให้ศาลบังคับให้มีการสมรสไม่ได้ เพราะว่าการสมรสนั้นขึ้นกับความสมัครใจของผู้จะสมรสเท่านั้น
           ๑.๒) การสมรส เป็นการทำสัญญาตกลงเป็นสามีภริยากันระหว่างชายกับหญิงกฎหมายกำหนดเงื่อนไขของการสมรสไว้ ดังนี้
          ๑. การสมรสจะทำได้ ต่อเมื่อชายและหญิงมีอายุ ๑๗ ปีบริบูรณืแล้ว หากมีอายุต่ำกว่านี้ต้องให้ศาลอนุญาต ซึ่งจะต้องมีเหตุผลอันสมควร
          ๒. ชายหรือหญิงที่เป็นบุคคลวิตกจริตหรือศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถจะทำการสมรสไม่ได้
          ๓. ชายหรือหญิงที่เป็นญาติสืบสายโลหิตกัน เช่น พ่อหรือแม่กับลูก พี่น้องร่วมบิดามารดากัน หรือเป็นพี่น้องร่วมแต่เพียงบิดาหรือมารดากันจะสมรสกันไม่ได้
          ๔. ผู้รับบุตรบุญธรรมและบุตรบุญธรรมจะสมรสกันไม่ได้
          ๕. ชายหรือหญิงจะทำการสมรสในขณะที่ตนมีคู่สมรสอยู่แล้วไม่ได้
           ๖. หญิงที่เคยสมรสแล้วแต่สามีตาย หรือการสมรสครั้งก่อนสิ้นสุดลงโดยเหตุอื่น เช่น การหย่า จะสมรสใหม่ได้ก็ต่อเมื่อการสมรสครั้งก่อนสิ้นสุดไปแล้ว ไม่น้อยกว่า ๓๑0 วันเว้นแต่จะสมรสกับคู่สมรสเดิม คลอดบุตรระหว่างนั้น มีใบรับรองแพทย์ว่ามิได้ตั้งครรภ์หรือมีคำสั่งของศาลให้สมรสได้
            ๗. ถ้าชายหรือหญิงฝ่ายใดมีอยุยังไม่ครบ ๒0 ปีบริบูรณ์ ฝ่ายนั้นต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาหรือผู้ปกครองเสียก่อน
           ๘.การสมรสจะต้องจดทะเบียน โดยมีนายอำเภอหรือปลัดอำเภอผู้เป็นหัวหน้ากิ่งอำเภอและเป็นนายทะเบียน
          ๙. ชายหญิงจะต้องแสดงความยินยอมเป็นสามีภริยากัน โดยเปิดเผยต่อหน้านายทะเบียนและนายทะเบียนต้องบันทึกความยินยอมนั้นไว้ด้วย
            การสมรสที่ถูกต้องตามเงื่อนไขของกฎหมายก่อให้เกิดความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยา ๒ ประการ ดังนี้
             (๑) ความสัมพันธ์ทางครอบครัว กฎหมายกำหนดให้สามีภริยาต้องอยู่กินร่วมกันฉันสามีภริยา ต้องช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดู กันตามความสามารถและฐานะของตน  และในกรณีที่ศาลสั่งให้สามีหรือภริยาเป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ สามีหรือภริยาย่อมได้เป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ และต้องเป็นการอุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร
            (๒) ความสัมพันธ์ทางทรัพย์สิน กฎหมายแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาเป็นสินส่วนตัวและสินสมรส
             ๑. สินส่วนตัว ได้แก่ ทรัพย์สินที่สามีหรือภริยามีอยู่ก่อนสมรส เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว หรือเป็นทรัพย์สินที่ได้มาระหว่างสมรส โดยการยกให้หรือรับมรดก สำหรับภริยาของหมั้นจะถือเป็นสินส่วนตัวของภริยาทั้งนี้สินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใด ฝ่ายนั้นย่อมเป็นผู้มีอำนาจจัดการ
             ๒. สินสมรส ได้แก่ ทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรสหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาโดยการยกให้หรือโดยพินัยกรรม ซึ่งระบุให้เป็นสินสมรสรวมทั้งดอกผลที่เกิดจากสินส่วนตัวด้วย สามีภริยาเป็นผู้จัดการสินสมรสร่วมกันโดยการจัดการจะต้องได้รับความยินยอมร่วมกัน เว้นแต่จะตกลงไว้เป็นอย่างอื่นโดยสัญญาก่อนสมรสหรือศาลสั่งให้สามีหรือภริยาเป็นผู้จัดการแต่ฝ่ายเดียว
              เมื่อการสมรสสิ้นสุดลงจะต้องมีการแบ่งสินสมรสระหว่างชายกับหญิงโดยนำสินสมรสมาแบ่งเท่าๆกันแต่ถ้าฝ่ายใดจำหน่ายสินสมรสไปโดยไม่ได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ต้องนำสินส่วนตัวของตนเองมาชดใช้สินสมรสที่ตนจำหน่ายไป
                   ในทางกฎหมายการสมรสจะสิ้นสุดลงด้วยปัจจัยที่สำคัญ ดังนี้
              ๑. ศาลพิพากษาว่าการสมรสเป็นโมษะ หรือโมฆียะ หรือให้เพิกถอนการสมรสเพราะทำการสมรสโดยผิดเงื่อนไข
              ๒.คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตาย
              ๓. การหย่า ได้แก่ การอย่าโดยความยินยอมของทั้ง ๒ ฝ่าย ซึ่งต้องทำเป็นหนังสือและมีพยานลงลายมือชื่อรับรองอย่างน้อย ๒ คน โดยต้องมีการจดทะเบียนการอย่าและการอย่าโดยคำพิพากษาของศาล ได้แก่ คู่สมรสไม่อาจตกลงอย่ากันโดยความยินยอมได้ ฝ่ายที่ต้องการอย่าจึงฟ้องต่อศาลให้ศาลพิพากษาให้อย่าโดยต้องอ้างเหตุอย่า ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้หลายประการด้วยกัน เช่น สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่ เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้ โดยปกติสุขตลอดมาเกิน ๓ ปีหรือแยกกันอยู่ตามคำ
สั่งศาลเป็นเวลาเกิน ๓ ปีเป็นต้น

เหตุฟ้องหย่า
(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

       (2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง

             (ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง

             (ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ

             (ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ  อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

       (3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

       (4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

       (4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกและได้ถูกจำคุก เกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิด หรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามี ภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

            (4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกัน ฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของ ศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

     (5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปี โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่าง ไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

     (6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตาม สมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอา สภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่าย หนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

      (7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมี ลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกัน ฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

        (8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

        (9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่าย หนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรัง ไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้

 (10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกายทำให้สามีหรือภริยานั้น ไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
             ๑.๓) ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบบุตร สามารถแบ่งออกได้ ดังนี้
                     ๑. การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายและการรับรองบุตร เด็กที่เกิดจากบิดามารดาซึ่งจดทะเบียนสมรสกันแม้จะมีการเพิกถอนภายหลังก็ตาม หรือเกิดภายใน ๓๑0 วันนับแต่วันที่การสมรสสิ้นสุดลง กฎหมายสันนิษฐานว่าเป็นบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของชายผู้เคยเป็นสามี เว้นแต่จะมีการฟ้องคดีไม่รับเด็กนั้นเป็นบุตรภายในหนึ่งปีนับแต่วันรู้ถึงการเกิดของเด็กหรือฟ้องเสียภายในสิบปีนับแต่วันเกิดของเด็ก
                   เด็กซึ่งเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน ย่อมเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของมารดาฝ่ายเดียวเท่านั้น จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายของบิดาด้วยต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันภายหลัง โดยมีผลนับตั้งแต่วันสมรสหรือเมื่อบิดาจดทะเบียนรับเป็นบุตร โดยจะต้องได้รับความยินยอมจากเด็กและมารดาของเด็กและจะมีผลตั้งแต่วันจดทะเบียน
                    ในกรณีที่เด็กหรือมารดาไม่ให้ความยินยอมหรือคัดค้านว่าผู้ที่ขอจดทะเบียนรับรองบุตรไม่ใช่บิดา หรือในกรณีที่ต้องมีการฟ้องชายเพื่อขอให้รับเด็กเป็นบุตร หากศาลพิพากษาว่าเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมาย การเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายย่อมมีผลนับแต่วันที่ศาลพิพากษาถึงที่สุด ซึ่งจะทำให้ผู้ที่เป็นบุตรนั้นมีสิทธิ เช่น ใช้ชื่อสกุลของบิดา รับมรดกในฐานะทายาทโดยธรรมได้ เป็นต้น ส่วนผู้รับรองบุตรก็สามารถใช้อำนาจปกครอง รวมทั้งต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้นต่อไป
                   ๒. การรับบุตรบุญธรรม หมายถึง การจดทะเบียนรับบุตรของผู้อื่นมาเลี้ยงดูเป็นบุตรของตนเอง โดยดำเนินการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ซึ่งกำหนดเงื่อนไขพื้นฐานรวมทั้งความสัมพันธ์ทางกฎหมายระหว่างผู้รับบุตรบุญธรรมกับบุตรบุญธรรมไว้ ประกอบกับพระราชบัญญัติการรับบุตรบุญธรรม พ.ศ. ๒๕๒๒ ซึ่งกำหนดรายละเอียดเพิ่มเติม เพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กที่จะเป็นบุตรบุญธรรมยิ่งขึ้น เช่น ในกรณีที่ขอรับบุตรบุญธรรมของผู้ที่ไม่ใช่เครือญาติกับเด็กจะมีการทดลองเลี้ยงดู มีการตรวจสอบคุณสมบัติและข้อเท็จจริงเกี่ยวกับสภาพความเป็นอยู่และความเหมาะสมของผู้ขอรับเด็กเป็นบุตรบุญธรรม เป็นต้น
                 เงื่อนไขพื้นฐานของการรับบุตรบุญธรรม ประกอยด้วย อายุและความยินยอม คือ บุคคลที่จะรับผู้อื่นเป็นบุตรบุญธรรมได้ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๕ ปีบริบูรณ์ และต้องแก่กว่าผู้ที่ตนจะรับเป็นบุตรบุญธรรมอย่างน้อย ๑๕ ปี และถ้าผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมเป็นผู้เยาว์ การรับบุตรบุญธรรมต้องได้รับความยินยอมจากบิดามารดาโดยกำเนิดของผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรม และต้องได้รับความยินยอมจากคู่สมรสก่อนด้วย
               การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมมีผลให้บุตรบุญธรรมมีฐานะเสมือนบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้รับบุตรบุญธรรม เช่น มีสิทธิใช้ชื่อสกุล มีสิทธิรับมรดกของผู้รับบุตรบุญธรรม
               ผู้รับบุตรบุญธรรมมีอำนาจปกครองและมีหน้าที่ในการอุปการะเลี้ยงดู แต่ไม่มีสิทธิรับมรดกในส่วนของบุตรบุญธรรม และจะสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้ ส่วนบิดามารดาโดยกำเนิดเป็นอันหมดอำนาจปกครอง
              อย่างไรก็ตาม บุตรบุญธรรมไม่สูญเสียสิทธิและหน้าที่ในครอบครัวที่กำเนิดมา เช่น มีสิทธิรับมรดกของบิดามารดาโดยกำเนิด การรับบุตรบุญธรรมมีทางเลิกได้โดยการจดทะเบียนเลิก ตามความยินยอมของบุตรบุญธรรมที่บรรลุนิติภาวะแล้วกับผู้รับบุตรบุญธรรม หรือเมื่อมีการสมรสระหว่างบุตรบุญธรรมกับผู้รับบุตรบุญธรรม
              ๑.๔) สิทธิและหน้าที่ของบิดามารดา
         บิดามารดามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดู และให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรระหว่างที่บุตรยังเป็นผู้เยาว์ หรือแม้บุตรจะบรรลุนิติภาวะแล้วแต่เป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองไม่ได้ บิดามารดาก็ยังมีหน้าที่ต้องอุปการะเลี้ยงดูต่อไประหว่างที่บุตรเป็นผู้เยาว์
          บิดามารดาเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร โดยมีสิทธิกำหนดที่อยู่ของบุตร ทำโทษบุตรตามสมควร หรือว่ากล่าวสั่งสอนให้บุตรทำการงานตามสมควรแก่ความสามารถและฐานานุรูปมีสิทธิเรียกบุตรคืนจากผู้อื่นซึ่งกักบุตรไว้โดยมิชอบด้วยกฎหมาย เป็นผู้แทนโดนชอบธรรมของบุตรในการฟ้องคดี และมีสิทธิจัดการทรัพย์สินของบุตรด้วย
          ถ้าบุตรมีเงินได้ บิดามารดามีสิทธินำมาใช้เป็นค่าอุปการะเลี้ยงดูและการศึกษาของบุตรส่วนที่เหลือต้องเก็บรักษาไว้เพื่อมอบแก่บุตรภายหลัง เว้นแต่บิดามารดาจะยากจนไม่มีเงินได้พอแก่การครองชีพ จึงอาจนำเงินนั้นมาใช้ได้
          กรณีที่บิดามารดาตายหรือถูกศาลสั่งถอนอำนาจปกครอง เพราะวิตกจริตหรือประพฤติไม่เหมาะสม ศาลมีอำนาจตั้งผู้ปกครองให้บุตรซึ่งเป็นผู้เยาว์ เพื่ออุปการะเลี้ยงดูและให้ความคุ้มครองแก่ผู้เยาว์นั้นแทนบิดามารดาได้
           ๑.๕) สิทธิและหน้าที่ของบุตร บุตรมีสิทธิใช้ชื่อสกุลของบิดา เว้นแต่ไม่ปรากฎบิดาให้ใช้ชื่อสกุลของมารดา บุตรมีสิทธิได้รับอุปการะเลี้ยงดูและได้รับการศึกษาตามสมควรจากบิดามารดา แต่บุตรมีหน้าที่ต้องดูแล บิดามารดาของตนเป็นการตอบแทนบุญคุณ
          โดยบุตรจะฟ้องบิดามารดา รวมทั้งบุพการีอื่นของตนเป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญาไม่ได้ ต้องขอให้พนักงานอัยการยกคดีขึ้นว่ากล่าวให้
           ๒) กฎหมายเรื่องมรดก มีเนื้อหาเกี่ยวกับลักษณะของมรดกและผู้ที่จะมีสิทธิรับมรดก หรือทายาท โดยมรดกหรือกองมรดก ได้แก่ ทรัพย์สิน สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบต่างๆของผู้ตายหรือเจ้าของมรดกซึ่งเมื่อผู้ใดถึงแก่ความตาย มรดกของเขาย่อมตกทอดแก่ทายาททันที เว้นแต่สิ่งที่กฎหมายหรือตามสภาพแล้วถือเป็นการเฉพาะตัวของผู้ตายโดยแท้ ย่อมไม่ตกทอดเป็นมรดก เช่น สิทธิรับราชการ เป็นต้น
            กรณีที่บุคคลใดหายไปจากที่อยู่โดยไม่ได้ข่าวคราวเป็นเวลานาน ศาลอาจสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญ ซึ่งกฎหมายถือเสมือนว่า ถึงแก่ความตาย และมรดกของผู้สาบสูญย่อมตกทอดแก่ทายาทเหมือนกรณีตายจริงๆ
              ทายาท คือ ผู้ทีสิทธิได้รับมรดกในทางกฎหมาย แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท ดังนี้
               ๑. ทายาทโดยธรรม เป็นทายาทที่ทีสิทธิตามกฎหมาย ได้แก่ ญาติ คู่สมรสและทายาทที่เป็นญาติ แบ่งออกเป็น ๖ ลำดับ คือ ผู้สืบสันดาน บิดามารดา พี่น้องร่วมมารดาเดียวกัน พี่น้องร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน ปู่ย่า ตายาย และลุง ป้า น้า อา ซึ่งสิทธิได้รับมรดกและส่วนแบ่งที่จะได้รับจะลดลงตามลำดับความห่างของญาตินั้นๆ เช่น ถ้าคู่สมรส บุตร และบิดามารดาของผู้ตายยังอยู่ ย่อมมีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายโดยเท่าเทียมกัน โดยคู่สมรสมีสิทธิได้รับหนึ่งส่วน บุตรแต่ละคนมีสิทธิได้รับคนละส่วน และบิดามารดาของผู้ตายมีสิทธิได้รับคนละหนึ่งส่วน กล่าวคือ บิดาหนึ่งส่วนและมารดาหนึ่งส่วน ในกรณีเช่นนี้ญาติอื่นไม่มีสิทธิได้รับมรดกของผู้ตายอีก เพราะได้ถูกตัดโดยญาติสนิทกว่าของเจ้าของมรดกแล้ว

คดีแบ่งทรัพย์มรดก

ลำดับชั้นของทายาทโดยธรรม ทางสายเลือด

1 ผู้สืบสันดาน ลูก หลาน เหลน โหลน รวมทั้งบุตรนอกกฎหมายที่บิดาได้รับรอง และบุตรบุญธรรม

2 บิดามารดา

3 พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน

4 พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน

5 ปู่ ย่า ตา ยาย

6 ลุง ป้า น้า อา

 

หลักการแบ่งมรดก

1 หากเป็นสินสมรสต้องแบ่งให้คู่สมรสครึ่งหนึ่งก่อน ส่วนที่เหลือจึงเป็นทรัพย์มรดกที่จะนำมาแบ่งให้แก่ทายาท

2 ทายาทลำดับชั้นก่อน ตัดทายาทลำดับชั้นหลัง โดย ลำดับชั้นที่ 1 และ 2 ไม่ตัดกัน

3 หากไม่มีทายาทชั้นที่ 6 ทรัพย์นั้นให้ตกเป็นของแผ่นดิน

4 ทายาทที่มีลำดับชั้นเดียวกันมีสิทธิรับมรดกคนละเท่าๆ กัน

5 ถ้าทายาทลำดับชั้นที่ 1 3 4 หรือ 6 ตายก่อนเจ้ามรดก ทายาทผู้ที่ตายมีสิทธิรับมรดกแทนที่

 

วิธีการแบ่ง อย่างง่ายๆ

1 ถ้ามีทายาทลำดับชั้นที่ 1 ด้วย คู่สมรสมีสิทธิรับมรดกเหมือนหนึ่งว่าเป็นทายาทชั้นบุตร

2 ถ้าไม่มีทายาทลำดับชั้นที่ 1 มีเพียงทายาทลำดับชั้นที่ 2 คู่สมรสมีสิทธิรับมรดกครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งเป็นของบิดามารดา

3 ถ้าไม่มีทายาทลำดับชั้นที่ 1 และที่ 2 คู่สมรสมีสิทธิรับมรดกครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งหนึ่งเป็นของทายาทลำดับชั้นที่ 3

4 ถ้าไม่มีทายาทลำดับชั้นที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 คู่สมรสมีสิทธิรับมรดก 2 ใน 3 อีก 1 ใน 3 เป็นของทายาทลำดับชั้นที่ 4

5 ถ้าไม่มีทายาทลำดับชั้นที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 4 คู่สมรสมีสิทธิรับมรดก 2 ใน 3 อีก 1 ใน 3 เป็นของทายาทลำดับชั้นที่ 5

6 ถ้าไม่มีทายาทลำดับชั้นที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 และที่ 5 คู่สมรสมีสิทธิรับมรดก 2 ใน 3 อีก 1 ใน 3 เป็นของทายาทลำดับชั้นที่ 6

7 ถ้าไม่มีทายาทโดยธรรมเลย คู่สมรสได้ทั้งหมด

 

การแบ่งปันทรัพย์มรดกระหว่างทายาทอาจทำได้ โดยวิธีดังนี้

1 ทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือ

2 โดยขายทรัพย์มรดก แล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งกันระหว่างทายาท หรือ

3 โดยทำสัญญาที่มีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิด (โดยนำหลักการในเรื่องสัญญาประนีประนอมยอมความมาใช้บังคับ)

    ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ต้องรวบรวมทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปันให้แก่ทายาท (ไม่ใช่ไปแบ่งให้บุคคลอื่นหรือญาติของตัวเอง) ดังนั้นการที่ผู้จัดการมรดกครอบครองทรัพย์มรดก จึงต้องถือว่าครอบครองแทนทายาทอื่นด้วย จะอ้างเรื่องอายุความมายันทายาทไม่ได้
            ๒. ทายาทตาทพินัยกรรม ได้แก่ ผู้มีสิทธิได้รับมรดกตามที่พินัยกรรม ซึ่งเป็นหนังสือแสดงความประสงค์สั่งการเผื่อตายของผู้ตายระบุไว้ โดยทายาทพวกนี้อาจเป็นญาติของผู้ตายหรือไม่ก็ได้แล้วแต่ผู้ตายจะตั้งใจยกมรดกของตนให้แก่ผู้ใดบ้าง
             ในกรณีที่ผู้ตายทำพินัยกรรมยกมรดกของตนให้ทายาทตามพินัยกรรมทั้งหมด ทายาทโดยธรรมย่อมไม่มีสิทธิได้รับมรดกเลย แต่บุคคลจะทำพินัยกรรมยกมรดกได้เฉพาะทรัพย์สินของตนเท่านั้น ในกรณีที่ตนมีคู่สมรสก็จะต้องแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาก่อน ส่วนของตนจึงเป็นมรดกตกทอดต่อไปได้ แต่ถ้าในกรณีที่ผู้ตายไม่ได้ ทำพินัยกรรมไว้ และไม่มีทายาท มรดกผู้ตายก็จะตกได้แก่แผ่นดิน คือ ตกเป็นของรัฐบาลไป

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น