ความรับผิดทางอาญา

บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาต่อเมื่อ
             
     1. กระทำโดยเจตนา คือ การกระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น
เจตนานั้น แบ่งออกเป็นสองกรณี

     1. เจตนาโดยตรง ได้แก่เจตนาตามมาตรา 59 แบ่งออกเป็นสองประเภท คือ ประสงค์ต่อผล และ ย่อมเล็งเห็นผล

     2. เจตนาโดยผลของกฎหมาย ได้แก่ เจตนาโดยพลาด และกรณีที่กฎหมายกำหนดว่า จะถือว่าไม่มีเจตนาหาได้ไม่ เช่น พลาดตามมาตรา 60 สำคัญผิดในตัวบุคคล 61

จะกล่าวเฉพาะเจตนาโดยตรง สองประเภทเท่านั้น คือ

       ประสงค์ต่อผล หมายถึง ประสงค์ให้ผลร้ายนั้นเกิดขึ้น ผลที่เกิดตรงตามเจตนาที่ต้องการ เช่น ดำยกปืนเล็งยิงแดง โดยมีเจตนาฆ่า เพราะโกรธที่แดงโกงเงินดำ ดำประสงค์ต่อผลคือความตายของแด ดังนั้นความตายจึงเป็นผลของเจตนาโดยตรงประเภทนี้ หรือ สมศรีขับรถชนสมศักดิ์ ด้วยประสงค์ให้ตายเพราะเกลียดชังกันเป็นการส่วนตัว ความตายจากการขับรถชนเป็นผลของเจตนาโดยตรงประเภทนี้ อุปมาให้เข้าใจง่ายๆ เรียนหนังสืออยากได้อะไร อยากได้ความรู้ เป็นประสงค์ต่อผลของการเรียน ตรงไปตรงมา ได้ปริญญาคือประสงค์ต่อผลของการเรียนตรงไปตรงมา แต่ถ้าอยากได้แฟน ไม่ใช่แล้ว ไม่ใช่ผลของการเรียนหนังสือที่ผู้เรียนมีความประสงค์โดยตรง

       เล็งเห็นผล หมายถึง เจตนาที่ไม่ได้ประสงค์ต่อผลที่จะให้เกิดแก่บุคคลนั้นโดยตรงแต่เล็งไดว่าผลจะเกิดขึ้นอย่างนั้นอย่างแน่นอน เช่น ดำอยากยิงแดง เจอแดงอยู่บนรถเมล์ ดำจึงใช้ปืนลูกปราย ยิงใส่แดง กระสุนไปถูกแดงและผู้โดยสารบนรถอีกหลายคน
กรณีนี้จะเห็นได้ว่าคนทีดำประสงค์ต่อความตายคือแดงเท่านั้น ผู้โดยสารคนอื่นดำไม่ประสงค์ต่อความตายของเขาเลย แต่การที่ดำใช้ปืนที่มีลักษณะเป็นกระสุนลูกปราย ทำให้ผู้อื่นต้องมาตายด้วยนั้น เป็นการกระทำโดยเจตนา กล่าวคือ มีการเคลื่อนไหวร่างกายโดยรู้สำนึกของการกระทำนั้น และสามารถเล็งผลได้ว่า หากยิงออกไปแล้ว คนที่จะโดนกระสุนไม่ใช่เฉพาะแต่คนที่ดำประสงค์ให้ตายเท่านั้น แต่เป็นบุคคลอื่นด้วย อันนี้เป็นลักษณะการกระทำโดยเล็งเห็นผล
      กรณีตัวอย่างที่ 1 นายฟักรู้ว่านายแฟง ซึ่งเป็นศัตรูจะต้องเดินผ่านสะพานข้ามคลองหลังวัดสันติธรรมทุกเช้าเวลาประมาณ 08.00 น. เขาจึงไปดักซุ่มอยู่ใกล้บริเวณนั้น เมื่อนายแฟงเดินมาใกล้นายฟักจึงใช้ปืนยิงไปที่นายแฟง 1 นัด กระสุนปืนถูกบริเวณหน้าอกของนายแฟง เป็นเหตุให้นายแฟงถึงแก่ความตาย นายฟักมีความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา
      กรณีตัวอย่างที่ 2 ดาวเรืองทะเลาะกับบานชื่น ดาวเรืองพูดเถียงสู้บานชื่นไม่ได้ ดาวเรืองจึงตบปากบานชื่น 1 ที่ ดาวเรืองมีความผิดฐานทำร้ายร่างกายโดยเจตนา
               
    2. กระทำโดยไม่เจตนา แต่ต้องเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้ โดยแจ้งชัดให้รับผิดแม้กระทำโดยไม่เจตนากระทำโดยไม่เจตนา คือ ผู้กระทำไม่ได้ประสงค์ต่อผล หรือไม่อาจเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นได้ เช่น เราผลักเพื่อนเพียงจะหยอกล้อเท่านั้น แต่บังเอิญเพื่อนล้มลงไป ศีรษะฟาดขอบถนนถึงแก่ความตาย เป็นต้น
    3. กระทำโดยประมาท แต่ต้องเป็นกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาทการกระทำโดยประมาท คือ การกระทำความผิดมิใช่โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวัง ซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจะต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านี้ได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
    กรณีตัวอย่าง นายเหิรฟ้าใช้อาวุธปืนขู่นายเหิรลม เพื่อไม่ให้เอาแป้งมาป้ายหน้านายเหิรฟ้า โดยที่นายเหิรฟ้าไม่รู้ว่าอาวุธปืนกระบอกนั้น มีลูกกระสุนปืนบรรจุอยู่ เป็นเหตุให้กระสุนปืนลั่นไปถูกนายเหิรลมตาม นายเหิรฟ้ามีความผิดฐานกระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย
    อนึ่ง “การกระทำ” ไม่ได้หมายความเฉพาะถึงการลงมือกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งเท่านั้น แต่หมายความรวมถึงการงดเว้นการกระทำโดยประสงค์ให้เกิดผลและเล็งเห็นผลที่จะเกิดเช่น แม่จงใจทิ้งลูกไม่ให้กินข้าว จนทำให้ลูกตาย ตามกฎหมายแม่มีหน้าที่จะต้องเลี้ยงดูลูก เมื่อแม่ละเลยไม่ทำหน้าที่ดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้ลูกตาย ย่อมเป็นการกระทำความผิดโดยงดเว้น ถ้าการงดเว้นนั้นมีเจตนางดเว้นก็ต้องรับผิดในฐานะกระทำโดยเจตนา ถือว่าเป็นความผิดฐานฆ่าคนตายโดยเจตนา
บุคคลจะต้องได้รับโทษทางอาญาต่อเมื่อ
   

    1. การกระทำอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้น บัญญัติเป็นความผิดซึ่งเป็นไปตามหลักที่ว่า “ไม่มีความผิดโดยปราศจากกฎหมาย”
      2. กฎหมายที่ใช้ในขณะนั้นต้องกำหนดโทษไว้ด้วย เป็นไปตามหลักที่ว่า “ไม่มีโทษโดยไม่มีกฎหมาย” การลงโทษต้องเป็นโทษที่กำหนดไว้ในกฎหมาย เช่น กฎหมายกำหนดโทษปรับศาลจะลงโทษจำคุกไม่ได้ แม้ศาลจะลงโทษปรับศาลก็ลงโทษปรับเกินอัตราขั้นสูงที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ได้
    กรณีตัวอย่าง ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 372 บัญญัติว่า ผู้ใดทะเลาะกันอย่างอื้ออึงในทางสาธารณะ หรือสาธารณสถานหรือกระทำโดยประการอื่นใด ให้เสียความสงบเรียบร้อยในทางสาธารณะหรือสาธารณะสถานต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท  ดังนั้น ถ้าผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรานี้ศาลจะลงโทษจำคุกไม่ได้  เพราะความผิดตามมาตราดังกล่าวกำหนดเฉพาะโทษปรับเท่านั้น ถ้าศาลจะลงโทษปรับก็จะปรับได้ไม่เกิน 500 บาท

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น