การบังคับใช้กฎหมายอาญา

1) หลักดินแดน (Territorial principle) 
          หลักดินแดนนี้มีมาจากรัฐแต่ละรัฐย่อมมีอำนาจอธิปไตยและใช้กฎหมายเหนือดินแดนของรัฐนั้น[2] ซึ่งพิจารณาจากสถานที่ความผิดได้เกิดขึ้น โดยถือเอาเอาอาณาเขตของรัฐเป็นจุดเกาะเกี่ยว[3] หากเกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทยแล้วย่อมลงโทษผู้กระทำความผิดตามกฎหมายอาญาไทยได้ ซึ่งราชอาณาจักรไทย หมายถึง พื้นดิน พื้นน้ำ รวมถึงอากาศเหนือพื้นดินพื้นน้ำนั้นด้วย หลักดินแดนนี้ยังขยายอำนาจของศาลไทยออกไปอีก ความผิดทั้งหมดไม่ต้องเกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทย เพียงแค่ส่วนใดส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับประเทศไทย เช่น เป็นส่วนหนึ่งส่วนใดของการกระทำความผิดได้กระทำในราชอาณาจักรไทย หรือสถานที่ผลของการกระทำความผิดได้เกิดขึ้น กฎหมายอาญาไทยก็มีอำนาจเหนือคดีนั้น ตาม "ทฤษฎีรวมสถานที่เกิดเหตุ"
          ความผิดที่กระทำในราชอาณาจักร มาตรา “ผู้ใดกระทำความผิดในราชอาณาจักร ต้องรับโทษตามกฎหมาย”
ราชอาณาจักร หมายถึงดินแดนของประเทศไทย ซึ่งดินแดนของประเทศไทยพิจารณาตามหลักดินแดนดังนี้
1. พื้นดิน พื้นน้ำ ลำคลอง ที่อยู่ภายในเส้นเขตแดนของไทย รวมถึงเกาะด้วย
2. ทะเลอาณาเขต หมายถึง ท้องทะเลที่ติดกับเส้นเขตแดนของรัฐ วัดห่างออกไปจากฝั่ง12 ไมล์ทะเล
3. พื้นอากาศ (Air Space) ที่อยู่เหนือข้อที่ 1 และ ก็ถือว่าเป็นดินแดนของประเทศไทยด้วย
ซึ่งความผิดที่กระทำในราชอาณาจักรตามมาตรา 4 วรรคแรก หมายถึงการกระทำความผิดทั้งหมดเกิดขึ้นในราชอาณาจักร[4] แต่ไม่รวมถึงกรณีที่ผลของการกระทำเกิดขึ้นในราชอาณาจักร แต่ได้กระทำนอกราชอาณาจักร เช่น แดงยิงดำในประเทศไทย แต่ไม่ตาย ไปรักษาตัวอยู่ที่ประเทศมาเลเซียแล้วตายที่มาเลเซีย กรณีเช่นนี้ย่อมใช้กฎหมายอาญาของไทยบังคับได้ เพราะเป็นการกระทำความผิดในราชอาณาจักรทั้งหมด เพียงแต่ผลไปเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรเท่านั้น หรือกรณีที่แดงยืนอยู่ฝั่งไทย ยกปืนเล็งจะยิงดำซึ่งยื่นอยู่ฝั่งพม่า แต่ถูกตำรวจจับเสียก่อนไม่ทันได้ยิง ดังนี้แดงก็มีควาผิดฐานพยายามฆ่าและต้องรับโทษในราชอาณาจักรแล้ว เพราะการกระทำความผิดทั้งหมดเกิดขึ้นในราชอาณาจักร[5]
แต่หากปรากฏว่านายหม่องคนพม่าวางยาพิษนายแมะคนพม่าเช่นเดียวกัน ที่สถานีขนส่งในประเทศพม่า นายแมะเมื่อกินยาพิษเข้าไปและเข้ามาเสียชีวิตในประเทศไทย กรณีเช่นนี้ไม่ใช่กรณีความผิดได้กระทำวามผิดในราชอาณาจักร เพราะมีแต่ผลเท่านั้นที่เกิดขึ้นใยประเทศไทย
การกระทำความผิดในราชอาณาจักรตาม ม.4 วรรค 1 ไม่คำนึงถึงสัญชาติของผู้เสียหาย ไม่ว่าจะมีสัญชาติใดก็ตาม แม้การกระทำความผิดบนเรือหรืออากาศยานของต่างประเทศ หากเข้าแล่นผ่านน่านน้ำไทยหรือบินผ่าน หรือจอดในประเทศไทยก็ถือว่าเป็นการกระทำความผิดในราชอาณาจักร ตามมตรา 4 วรรคแรก เช่น นายหม่องคนพม่าลักทรัพย์นางซิงค์คนอินเดีย บนสายการบินบริทิตแอร์ไลน์ขณะจอดเติมน้ำมันที่สุวรรณภูมิ
สถานทูตไทย ที่อยู่ในต่างประเทศเป็นไม่ถือว่าเป็นดินแดนอันเป็นราชอาณาจักรไทย เพียงแต่ได้รับความคุ้มกันทางกาทูตจากเจ้าของประเทศเท่านั้น เช่น นายจอห์นคนอังกฤษลักทรัพย์นายเจมส์คนอังกฤษเช่นกันในสถานทูตไทย ณ กรุงลอนดอน ดังนี้ไม่ใช่กรณีของการกระทำความผิดในราชอาณาจักร
สถานทูตของต่างประเทศที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยก็ไม่ถือว่าเป็นราชอาณาจักรของประเทศนั้นเช่นเดียวกัน ดังนั้นผู้ที่กระทำความผิดในสถานทูตต่างประเทศซึ่งตั้งอยู่ในประเทศไทย ก็ต้องใช้กฎหมายอาญาของไทยบังคับ เช่น นายจอห์น คนอังกฤษลักทรัพย์นายเจมส์คนอังกฤษเช่นกันในสถานทูตอังกฤษที่ประจำประเทศไทย
ถ้าการกระทำความผิดได้กระทำในรัฐหนึ่ง แต่ผลของการกระทำเกิดขึ่นในอีกรัฐหนึ่ง ต้องใช้กฎหมายอาญาของรัฐใดบังคับ
พิจารณาตัวอย่าง แดงยืนอยู่ฝั่งไทย ยกปืนเล็งยิงดำซึ่งยื่นอยู่ฝั่งพม่า ดำถูกยิงตายในฝั่งพม่า ดังนี้จะใช้กฎหมายอาญาของรัฐใดบังคับกับคดีที่เกิดขึ้น ระหว่างรัฐที่เป็นสถานที่กระทำความผิด หรือรัฐที่เป็นสถานที่ผลของการกระทำผิดเกิด หรือทั้งรัฐที่สถานที่กระทำความผิดและรัฐที่เป็นสถานที่ผลของการกระทำผิดเกิด
จากปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นที่มาของ “ทฤษฎีรวมสถานที่เกิดเหตุ” ซึ่งมาตรา 5 บัญญัติไว้ว่า “ความผิดใดที่การกระทำแม้แต่ส่วนหนึ่งส่วนใดได้ กระทำในราชอาณาจักรก็ดี ผลแห่งการกระทำเกิดในราชอาณาจักร โดยผู้กระทำประสงค์ให้ผลนั้นเกิดในราชอาณาจักร หรือโดยลักษณะแห่งการกระทำผลที่เกิดขึ้นควรเกิดในราชอาณาจักร หรือย่อมจะเล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดในราชอาณาจักรก็ดี ให้ถือว่าความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร” จะเห็นได้ว่าตามมาตรา นั้นได้ขยายหลักดินแดนของไทยออกไปให้มีอำนาจเหนือคดีอาญาที่เกิดขึ้น โดยไม่จำเป็นที่จะต้องกระทำความผิดทั้งหมดในราชอาณาจักรไทย เพียงแต่มีส่วนหนึ่งส่วนใดหรือผลของการกระทำเกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทยก็สามารถใช้กฎหมายอาญาของไทยบังคับเหนือคีดที่เกิดขึ้นได้[6]กรณีตามมาตรา 6 นั้นการกระทำความผิดคาบเกี่ยวกับราชอาณาจักรไทย โดยแยกพิจาณาดังต่อไปนี้
1) การกระทำความผิดบางส่วนนอกราชอาณาจักรและบางส่วนในราชอาณาจักร ม.5วรรคแรก เช่น แดงคนลาวยืนอยู่ฝั่งลาวใช้ปืนยิงมาที่ดำคนฟิลิปปินส์ซึ่งอยู่ฝั่งไทย กระสุนถูกดำตาย กรณีเช่นนี้กระทำในฝั่งลาวและเมื่อกระสุนปืนถูกดำตายในฝั่งไทย ถือว่าการกระทำคือการยิงอยู่นอกราชอาณาจักรและบางส่วนได้กระทำในราชอาณาจักร เป็นกรณีตามมาตรา 5 
2) ผลแห่งการกระทำเกิดขึ้นในราชอาณาจักร
มาตรา 5 วรรคแรก ความผิดใดที่...ผลแห่งการกระทำเกิดในราชอาณาจักร โดยผู้กระทำประสงค์ให้ผลนั้นเกิดในราชอาณาจักร หรือโดยลักษณะแห่งการกระทำผลที่เกิดขึ้นควรเกิดในราชอาณาจักร หรือย่อมจะเล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดในราชอาณาจักรก็ดี ให้ถือว่าความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร
ผลแห่งการกระทำเกิดในราชอาณาจักร
ผู้กระทำประสงค์ให้ผลนั้นเกิดในราชอาณาจักร หรือโดยลักษณะแห่งการกระทำผลที่เกิดขึ้นควรเกิดในราชอาณาจักร หรือย่อมจะเล็งเห็นได้ว่าผลนั้นจะเกิดในราชอาณาจักร
หม่องคนพม่าต้องการฆ่าเหงียนคนเวียดนาม โดยประสงค์ให้เหงียนมาตายในประเทศไทย ขณะที่พบเหงียนไปซื้อของที่ท่าขี้เหล็กฝั่งพม่าและจะเข้ามาในไทย นายหม่องจังเอายาพิษให้นายเหงียนกิน ซึ่งหม่องรู้ดีว่ายาจะออกฤทธิ์ภายใน 1 ชม. เมื่อนายเหงียนคนพม่าเดินทางเข้ามาในประเทศไทยแล้วก็ตาย
หากเหงียนเข้ามาในไทย แต่ยาพิษไม่ออกฤทธิ์
หม่องคนพม่าต้องการฆ่าเหงียนคนเวียดนาม โดยประสงค์ให้เหงียนมาตายบนเครื่องบินไทย ขณะที่พบเหงียนที่ย่างกุ้ง นายหม่องเอายาพิษให้นายเหงียนกิน ซึ่งหม่องรู้ดีว่ายาจะออกฤทธิ์ภายใน 1 ชม. เมื่อนายเหงียนคนพม่าอยู่บนเครื่องบินเพื่อไปกรุงเทพ นายเหงียนตายขณะเครื่องบินจอดอยู่บนเครื่องบินไทย ขณะบินอยู่ในน่านฟ้าของพม่า
3) ผลของการกระทำจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร แต่การตระเตรียม หรือพยายามกระทำการนั้นเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร ม.5 วรรคสอง
มาตรา 5 วรรคสอง “ในกรณีการตระเตรียมการหรือพยายามกระทำการใด ซึ่งกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แม้การกระทำนั้นจะได้กระทำนอกราชอาณาจักร ถ้าหากการกระทำนั้นจะได้กระทำตลอดไปจนถึงขั้นความผิดสำเร็จ ผลจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่าการตระเตรียมการหรือพยายามกระทำความผิดนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร”
ในกรณีการตระเตรียมการหรือพยายามกระทำการใด...ได้กระทำนอกราชอาณาจักร ถ้าหากการกระทำนั้นจะได้กระทำตลอดไปจนถึงขั้นความผิดสำเร็จ ผลจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักร[7](ผลยังไม่เกิด) เช่น อารีย์คนมาเลเซียต้องการเผาบ้านของนายดำคนไทยและบ้านนั้นอยู่ในประเทศไทย ขณะที่อารีย์อยู่มาเลเซีย ได้ตระเตรียมวางเพลิงเผาทรัพย์ของนายดำ การกระทำของนายอารีย์เป็นความผิด ตาม ป.อ.มาตรา 219 “ฐานตระเตรียมวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น”
หม่องคนพม่าต้องการฆ่านายแดงที่ยืนอยู่ฝั่งไทย จึงเอาปืนเล็งกำลังจะยิงนายแดง แต่ถูกตำรวจพม่าจับเสียก่อน ดังนี้ลงโทษนายหม่องได้ ตาม ม.5 วรรคสอง
กรณีตาม ม.5 วรรคแรกและวรรคสอง สรุปได้ดังนี้
หากมีการกระทำส่วนใดส่วนหนึ่งในราชอาณาจักรแล้ว กรณีปรับได้กับมาตรา 5 วรรคแรกส่วนแรก โดยไม่ต้องคำนึงเลยว่าผลแห่งการกระทำจะเกิดขึ้นในราชอาณาจักรหรือไม่
หากไม่มีการกระทำส่วนหนี่งส่วนใดเลย เพียงแต่ผลเท่านั้นที่เกิดในราชอาณาจักร หากเป็นผลที่ผู้กระทำประสงค์ให้เกิด หรือควรเกิด หรือเล็งเห็นได้ว่าจะเกิด ก็ให้ใช้มาตรา 5 วรรคแรกส่วนที่สอง
หากไม่มีการกระทำส่วนใดส่วนหนึ่งในราชอาณาจักรเลย และผลไม่ได้เกิดในราชอาณาจักร แต่ผลจะเกิดในราชอาณาจักร หากการกระทำนั้นได้กระทำไปตลอดจนถึงขั้นความผิดสำเร็จ เช่นนี้เป็นกรณีของ ม.5 วรรคสอง
ตัวการ ผู้ใช้ ผู้สนับสนุน ได้กระทำความผิดนอกราชอาณาจักร แต่ความผิดได้กระทำในราชอาณาจักร หรือกระทำนอกราชอาณาจักรแต่ถือว่ากระทำผิดในราชอาณาจักร ตามม.6
กรณีตาม มาตรา 6 ความผิดใดที่ได้กระทำในราชอาณาจักร หรือที่ประมวล กฎหมายนี้ถือว่าได้กระทำในราชอาณาจักร แม้การกระทำของผู้เป็น ตัวการด้วยกันของผู้สนับสนุนหรือของผู้ใช้ให้กระทำความผิดนั้นจะ ได้กระทำนอกราชอาณาจักร ก็ให้ถือว่าตัวการ ผู้สนับสนุนหรือผู้ใช้ให้กระทำได้กระทำในราชอาณาจักร
ตัวการด้วยกัน ผู้สนับสนุนหรือของผู้ใช้ให้กระทำความผิดได้กระทำนอกราชอาณาจักร ก็ให้ถือว่าตัวการ ผู้สนับสนุนหรือผู้ใช้ให้กระทำได้กระทำในราชอาณาจักร เช่น ซาโตะคนญี่ปุ่นอยู่ในประเทศมาเลเซีย จ้างนายลีคนเกาหลีให้มาฆ่านายซิงค์คนอินเดียที่อยู่ในประเทศไทยจนนายซิงค์ตาย
ซาโตะคนญี่ปุ่นอยู่ในประเทศมาเลเซีย จ้างนายลีคนเกาหลีให้มาฆ่านายซิงค์คนอินเดียที่อยู่ในประเทศไทย แต่นายลีเมื่อเห็นนายซิงค์แล้วเกิดสงสารจึงไม่ฆ่านายซิงค์ จะลงโทษนายซาโตะได้หรือไม่
          2) หลักธงชาติ (Flag Principle)
          หลักการนี้ก็เป็นหลักที่ขยายหลักดินแดนที่แต่เดิมนั้นพิจารณาว่าการกระทำความผิดได้เกิดขึ้นในราชอาณาจักรไทยหรือไม่ ซึ่งหลักธงชาตินั้นพิจารณาจากธงที่เรือชักหรือสัญชาติของอากาศยานที่จดทะเบียน[8] ซึ่งมาจากหลักการของกฎหมายระหว่างประเทศ (International Law) ที่แต่ละรัฐต้องการคุ้มครองเรือหรืออากาศยานที่มีสัญชาติของตนเอง ไม่ว่าเรือหรืออากาศยานนั้นจะไปจอดอยู่ที่ใดก็ตาม ก็ถือว่าความผิดที่เกิดขึ้นในเรือหรืออากาศยานนั้นได้กระทำในราชอาณาจักร
มาตรา 4 วรรคสอง “การกระทำความผิดในเรือไทยหรืออากาศยานไทย ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดให้ถือว่ากระทำความผิดในราชอาณาจักร”
การกระทำความผิดในเรือไทยหรืออากาศยานไทย ตาม ม.4 วรรคสองนั้นจะนำมาพิจารณาก็ต่อเมื่อไม่ใช่ความผิดที่กระทำในราชอาณาจักรตามมาตรา วรรคแรก เช่น นายซาโตะคนญี่ปุ่นลักทรัพย์นายลีคนเกาหลี บนเครื่องบินสายการบินไทย ขณะบินอยู่เหนือจังหวัดเชียงใหม่ กรณีเช่นนี้เป็นการกระทำความผิดในราชอาณาจ้กร มาตรา 4 วรรคแรก แต่หากนายซาโตะคนญี่ปุ่นลักทรัพย์นายลีคนเกาหลี บนเครื่องบินสายการบินไทย ขณะบินอยู่เหนือประเทศลาว กรณีเช่นนี้ไม่ใช่การกระทำความผิดในราชอาณาจักร เพราะไม่ได้ทำบนดินแดนของไทย แต่เมื่อได้กระทำควาผิดในอากาศยานไทยก็ลงโทษผู้กระทำความผิดตามกฎหมายอาญาของไทยได้ ตามมาตรา 4 วรรค 2
การกระทำความผิดในเรือไทยหรืออากาศยานไทย ตาม ม.4 วรรคสอง นั้นต้องปรากฏว่าการกระทำความผิดทั้งหมดได้กระทำในเรือไทยหรืออากาศยาน เช่น นายซาโตะคนญี่ปุ่นต้องการฆ่านายลีคนเกาหลี ขณะกำลังรอจะขึ้นเครื่องบินอยู่สนามบินกรุงโตเกียว นายซาโตะจึงเอายาพิษใส่ในขนมให้นายลีกิน โดยทราบดีว่ายาพิษจะออกฤทธ์เมื่อนายลีขึ้นไปบนเครื่องบินไทย เมื่อเครื่องบินออกจากสนามบินโตเกียวได้ไม่นาน นายลีก็ถึงแก่ความตาย กรณีเช่นเมื่อความผิดไม่ได้กระทำในอากาศยานไทย ก็ไม่สามารถใช้กฎหมายอาญาของไทยมาบังคับได้
          3) หลักบุคคล (Nationality Principle) 
          พิจารณาจากสัญชาติของผู้ที่เกี่ยวข้องกับความผิด ไม่ว่าจะเป็นสัญชาติของผู้กระทำความผิด หรือของผู้เสียหายว่ามีสัญชาติไทยหรือไม่ โดยถือเอาสัญชาติเป็นจุดเกาะเกี่ยวที่ทำให้กฎหมายอาญาไทยมีอำนาจเหนือคดีที่ได้เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรนั้นได้[9] แต่ทั้งนี้หลักบุคคลนี้จำเป็นต้องมีการร้องขอให้มีการลงโทษการกระทำความผิดนั้น และยังจำกัดประเภทของคดีที่สามารถร้องขอให้ลงโทษอีกด้วย
          มาตรา 8 ผู้ใดกระทำความผิดนอกราชอาณาจักรและ
          (ก) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนไทย และรัฐบาลแห่งประเทศที่ความผิด ได้เกิดขึ้น หรือผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ หรือ    
          (ข) ผู้กระทำความผิดนั้นเป็นคนต่างด้าว และรัฐบาลไทยหรือคนไทยเป็นผู้เสียหาย และผู้เสียหายได้ร้องขอให้ลงโทษ
          ถ้าความผิดนั้นเป็นความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้ จะต้องรับโทษภายในราชอาณาจักร คือ
(1) ความผิดเกี่ยวกับการก่อให้เกิดภยันตรายต่อประชาชนตามที่ บัญญัติไว้ใน มาตรา 217 มาตรา 218 มาตรา 221 ถึง มาตรา 223 ทั้งนี้เว้นแต่กรณีเกี่ยวกับ มาตรา 220 วรรคแรก และ มาตรา 224 มาตรา 226 มาตรา 228 ถึง มาตรา 232 มาตรา 237 และ มาตรา 233 ถึง มาตรา 236 ทั้งนี้เฉพาะเมื่อเป็นกรณีต้องระวางโทษตาม มาตรา 238
(2) ความผิดเกี่ยวกับเอกสาร ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 264 มาตรา 265 มาตรา 266 (1) และ (2) มาตรา 268 ทั้งนี้เว้นแต่กรณีเกี่ยวกับ มาตรา 267 และ มาตรา 269
(2/1) ความผิดเกี่ยวกับบัตรอิเล็กทรอนิกส์ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 269/1 ถึง มาตรา 269/7
(2/2) ความผิดเกี่ยวกับหนังสือเดินทางตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 269/8 ถึง มาตรา 269/15
(3) ความผิดเกี่ยวกับเพศ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 276 มาตรา 280 และ มาตรา 285 ทั้งนี้เฉพาะที่เกี่ยวกับ มาตรา 276
(4) ความผิดต่อชีวิต ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 288 ถึง มาตรา 290
(5) ความผิดต่อร่างกายตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 295 ถึง มาตรา 298
(6) ความผิดฐานทอดทิ้งเด็ก คนป่วยเจ็บหรือคนชรา ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 306 ถึง มาตรา 308
(7) ความผิดต่อเสรีภาพ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 309 มาตรา 310 มาตรา 312 ถึง มาตรา 315 และ มาตรา 317 ถึง มาตรา 320
(8) ความผิดฐานลักทรัพย์ และวิ่งราวทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 334 ถึง มาตรา 336
(9) ความผิดฐานกรรโชก รีดเอาทรัพย์ ชิงทรัพย์ และปล้นทรัพย์ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 337 ถึง มาตรา 340
(10) ความผิดฐานฉ้อโกง ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 341 ถึง มาตรา 344 มาตรา 346 และ มาตรา 347
(11) ความผิดฐานยักยอก ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 352 ถึง มาตรา 354
(12) ความผิดฐานรับของโจร ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 357
(13) ความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 358 ถึง มาตรา 360
          กรณีตาม (ก) ผู้กระทำผิดเป็นคนไทย ส่วนผู้เสียหายอาจเป็นคนไทยด้วยกันหรือเป็นรัฐบาลไทย หรือเป็นคนต่างด้าวก็ได้
กรณีตาม (ข) เนื่องจากผู้กระทำผิดเป็นคนต่างด้าว ผู้เสียหายต้องเป็นคนไทยหรือรัฐบาลไทยเท่านั้น หากผู้เสียหายเป็นต่างด้าวด้วยกันก็ไม่อาจลงโทษในราชอาณาจักรได้
หลักสัญชาติตามมาตรา 8 นี้ ต้องมีการร้องขอให้ลงโทษเสมอแม้ความผิดนั้นเป็นความผิดอาญาแผ่นดินก็ตาม เช่น นายอารีย์คนมาเลเซียทำร้ายร่างกายนายแดงคนไทยในประเทศมาเลเซีย หากนายอารีย์และนายแดงเดินทางเข้ามาในประเทศไทย จะลงโทษนายอารีย์โดยกฎหมายอาญาได้หรือไม่
นายอารีย์หมิ่นประมาทนายแดงคนไทยในประเทศมาเลเซีย หากนายอารีย์และนายแดงเดินทางเข้ามาในประเทศไทย จะลงโทษนายอารีย์โดยกฎหมายอาญาได้หรือไม่
กรณีตาม มาตรา เจ้าพนักงานของรัฐบาลไทยกระทำความผิดตามที่บัญญัติ ไว้ใน มาตรา 147 ถึง มาตรา 166 และ มาตรา 200 ถึง มาตรา 205 นอกราชอาณาจักร จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร
เจ้าพนักงานของรัฐบาลไทย ต้องเป็นผู้ที่ได้แต่งตั้งจากทางราชการไทยให้มีหน้าที่ในการปฏิบัติหน้าที่ ไม่จำเป็นต้องมีสัญชาติไทยก็ได้ แต่ความผิดที่กระทำต้องเป็นการกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ ตาม มาตรา 147 ถึง มาตรา 166 และ มาตรา 200 ถึง มาตรา 205 ด้วย
          4) หลักคุ้มครองตน (Protective principle) 
          พิจารณาจากลักษณะของความผิด ความผิดบางประเภทเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศหรือต่อรัฐ เช่น การกระทำความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และความผิดความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลงเงินตรา ซึ่งเป็นภัยต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ การกระทำความผิดต่อรัฐธรรมนูญ[10] ซึ่งความผิดเหล่านี้สมควรที่แต่ละประเทศจะมีอำนาจเหนือคดีนั้นแม้ความผิดดังกล่าวจะได้กระทำนอกราชอาณาจักรก็ตาม
          หลักคุ้มครองรัฐ มาตรา 7 ผู้ใดกระทำความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้นอกราชอาณาจักร จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร คือ
(1) ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามที่ บัญญัติไว้ใน มาตรา 107 ถึง มาตรา 129
           5) หลักอำนาจลงโทษสากล (Universality principle) 
พิจารณาจากลักษณะความผิดที่เป็นภัยต่อนานาประเทศ สมควรจะต้องช่วยกันปราบปราม เพราะเกี่ยวข้องถึงผลประโยชน์ร่วมกันของรัฐได้ทุกรัฐ ดังนั้นเพื่อไม่ให้ความผิดดังกล่าวเกิดขึ้น[11] แม้ความผิดดังกล่าวจะเกิดขึ้นนอกราชอาณาจักรก็ตามหรือเกิดในสถานที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของ เช่น ทะเลหลวง เช่น ความผิดฐานก่อการร้าย ความผิดฐานชิงทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 339 และ ความผิดฐานปล้นทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 340 ซึ่งได้กระทำ ในทะเลหลวง (โจรสลัด)     
หลักอำนาจลงโทษสากล (Universality principle) มาตรา 7 ผู้ใดกระทำความผิดดังระบุไว้ต่อไปนี้นอกราชอาณาจักร จะต้องรับโทษในราชอาณาจักร คือ
          (1/1) ความผิดเกี่ยวกับการก่อการร้าย มาตรา 135/1 มาตรา 135/2 มาตรา 135/3 และ มาตรา 135/4
          (2) ความผิดเกี่ยวกับการปลอมและการแปลง ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 240 ถึง มาตรา 249 มาตรา 254 มาตรา 256 มาตรา 257 และ มาตรา 266 (3) และ (4)
          (2ทวิ) ความผิดเกี่ยวกับเพศตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 282 และ มาตรา 283
          (3) ความผิดฐานชิงทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 339 และ ความผิดฐานปล้นทรัพย์ ตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 340 ซึ่งได้กระทำ ในทะเลหลวง
          ต้องเป็นการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร และไม่เกิดในเรือหรืออากาศยานไทยและจะต้องไม่ใช่กรณีตาม ม.5 และม.6 โดยไม่คำนึงถึงสัญชาติของผู้กระทำผิด



ที่มา   http://criminallawup.blogspot.com/2016/05/blog-post_19.html

1 ความคิดเห็น:

  1. ขอบคุณมากครับ เป็นประโยชน์มาก ตอนนี้กำลังศึกษาเกี่ยวกับกฎหมายเรื่องนี้อยู่ครับ

    ตอบลบ