กระบวนการยุติธรรมทางอาญา

1. องค์กรและบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา
  1.1) พนักงานสอบสวนหรือตำรวจ  พนักงานสอบสวนหรือตำรวจ เป็นองค์กรที่สำคัญที่สุดองค์กรหนึ่งในกระบวนการยุติธรรมทางอาญา เพราะเป็นหน่วยงานแรกที่รับผิดชอบต่อกระบวนการยุติธรรมก่อนที่คดีหรือข้อพิพาทที่เกิดขึ้น จะผ่านไปยังพนักงานอัยการ และเข้าสู่การพิจารณาของศาล
  ตำรวจเป็นผู้จับกุมผู้กระทำความผิด และทำการรวบรวมพยานหลักฐานที่ได้จากการสอบสวนแล้วส่งเรื่องหรือสำนวนสอบสวนให้พนักงานอัยการ ซึ่งเป็นทนายของ แผ่นดิน ฟ้องผู้ต้องหาต่อศาล เมื่อศาลพิพากษาลงโทษแล้ว เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์จะควบคุมตัวผู้นั้นไว้ในเรือนจำเพื่ออบรม ดัดนิสัย และฝึกอาชีพต่อไป
  1.2) ทนายความ
  ทนายความเข้ามาเกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรม คือ เข้ามาว่าความแก้ต่างให้แก่คู่ความไม่ว่าจะเป็นโจทก์หรือจำเลย ทนายความเป็นผู้ประกอบอาชีพกฎหมายโดยอิสระ ทนายความจะให้คำปรึกษาหรือดำเนินคดีแทน โดยคิดค่าบริการจากลูกความ ทนายความจึงเป็นบุคคลสำคัญคนหนึ่งในกระบวนการยุติธรรม เพราะเป็นผู้รู้กฎหมาย และทำหน้าที่เป็นตัวแทนของคู่ความในการดำเนินคดีในศาล การกระทำของทนายในศาลมีผลเท่ากับคู่ความทำเอง
  1.3) พนักงานอัยการ
  พนักงานอัยการ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งดำเนินคดีต่อจากพนักงาน สอบสวน เมื่อพนักงานสอบสวนได้สอบสวนคดีเสร็จแล้ว ก็จะส่งสำนวนการสอบสวนให้พนักงานอัยการ เพื่อฟ้องผู้ต้องหาต่อศาลต่อไป พนักงานอัยการจึงเปรียบเสมือนทนายของ แผ่นดิน มีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินคดีในนามของรัฐ
  1.4) ศาลยุติธรรม
  ศาลเป็นผู้ทำหน้าที่พิจารณาชี้ขาดคดีหรหือตัดสินคดี
  ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ศาลแบ่งออกเป็น 3 ชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา
  ก. ศาลชั้นต้น คือ ศาลที่จะเริ่มพิจารณาอรรถคดีเป็นเบื้องแรก ศาลชั้นต้นที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญา สำหรับในกรุงเทพมหานคร ได้แก่ ศาลแขวงพระนครเหนือ ศาลแขวงพระนครใต้ ศาลแขวงธนบุรี ศาลจังหวัดมีนบุรี ศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง ศาลอาญาธนบุรี และศาลอาญา ส่วนในจังหวัดอื่นได้แก่ ศาลแขวง ศาลจังหวัด และศาลคดีเด็กและเยาวชน
  ข. ศาลอุทธรณ์ คือ ศาลซึ่งวินิจฉัยข้อผิดพลาด หรือข้อขาดตกบกพร่องของศาลชั้นต้น เพื่อให้เกิดความยุติธรรมในกระบวนวิธีพิจารณาอรรถคดี ศาลอุทธรณ์นั้นเดิมมีอยู่ศาลเดียว ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร แต่ปัจจุบันได้ขยายออกไปอีก 9 ศาล คือ ศาลอุทธรณ์ ภาค 1 – 9
  ค. ศาลฎีกา เป็นศาลสูงสุดของศาลในระบบศาลยุติธรรม มีศาลเดียว ตั้งอยู่ในกรุงเทพมหานคร มีอำนาจหน้าที่ในการวินิจฉัยความบกพร่อง หรือข้อผิดพลาดในการพิจารณาคดีของศาลอุทธรณ์อีกขั้นหนึ่ง
 1.5) กรมราชทัณฑ์
  เจ้าหน้าที่ฝ่ายราชทัณฑ์ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เข้ามาเกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมทางอาญาเกือบทุกขั้นตอน โดยทำหน้าที่ควบคุมผู้ต้องหาหรือจำเลยไว้ในระหว่างการดำเนินคดีอาญาไม่ว่าจะเป็นชั้นก่อนศาลพิจารณา ระหว่างการพิจารณา ตลอดจนภายหลังการพิจารณาพิพากษา ทั้งนี้ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา เจ้าหน้าที่ฝ่ายราชทัณฑ์มีหน้าที่ที่จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาล เช่น ควบคุมตัว ปล่อยตัว หรือแม้แต่คำพิพากษาประหารชีวิต ก็เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายราชทัณฑ์ ที่จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาล เป็นต้น
  อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ฝ่ายราชทัณฑ์ยังมีความรับผิดชอบสำคัญอื่นอีก คือ การฝึกอบรม และแก้ไขฟื้นฟูผู้ถูกคุมขังให้กลับตนเป็นคนดี ด้วยการให้การอบรมทั้งในด้านศีลธรรม และอาชีพ เพื่อให้ผู้ต้องขังสามารถปรับตัวเข้ากับสังคมภายนอกได้ภายหลังได้รับการปล่อยตัวไป
2. การดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางอาญา มีหลักการดังนี้  2.1) บุคคลที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ ผู้กระทำความผิด ผู้เสียหาย ตำรวจ อัยการ ศาล และพนักงานราชทัณฑ์
  2.2) เมื่อมีความผิดอาญาเกิดขึ้น ก็จะต้องมีการสืบสวน และสอบสวนเกี่ยวกับความผิดโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจก่อน จากนั้นพนักงานอัยการจึงจะฟ้องคดีอาญาต่อศาล หรือในบางกรณีผู้เสียหายจะฟ้องต่อศาลโดยตรงก็ได้
  2.3) ในคดีอาญานั้น การพิจารณาสืบพยานของศาลจะต้องกระทำโดยเปิดเผยต่อหน้าสาธารณชน และต่อหน้าจำเลย
  2.4) คดีอาญาเมื่อมีคำพิพากษาแล้ว จะต้องบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาโดยไม่ชักช้า
3. สาระสำคัญของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
  กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความอาญา คือ กฎหมายที่ว่าด้วยวิธีปฏิบัติของเจ้าพนักงานของรัฐเพื่อเอาตัวผู้กระทำผิดตามกฎหมายอาญามา ลงโทษ กฎหมายนี้ ได้แก่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา 
  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แบ่งออกเป็น 7 ภาค ดังนี้
  ภาค 1 ข้อความเบื้องต้นมี 5 ลักษณะ  
ลักษณะที่ 1 หลักทั่วไป
ลักษณะที่ 2 อำนาจพนักงานสอบสวนและศาล
ลักษณะที่ 3 การฟ้องคดีอาญา และคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา
ลักษณะที่ 4 หมายเรียกและหมายอาญา
ลักษณะที่ 5 จับ ขัง จำคุก ค้น ปล่อยชั่วคราว
  ภาค 2 สอบสวนมี 2 ลักษณะ
ลักษณะที่ 1 หลักทั่วไป
ลักษณะที่ 2 การ สอบสวน
  ภาค 3 วิธีพิจารณาในศาลชั้นต้น มี 3 ลักษณะ
ลักษณะที่ 1 ฟ้องคดีอาญาและไต่สวนมูลฟ้อง
ลักษณะที่ 2 การพิจารณา
ลักษณะที่ 3 คำพิพากษาและคำสั่ง
  ภาค อุทธรณ์ และฎีกา มี 2 ลักษณะ
ลักษณะที่ 1 อุทธรณ์
ลักษณะที่ 2 ฎีกา
  ภาค 5 พยานหลักฐาน
  ภาค 6 การบังคับตามคำพิพากษา และค่าธรรมเนียม
  ภาค 7 อภัยโทษ เปลี่ยนโทษหนักเป็นเบา และลดโทษ
สาระสำคัญของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาที่จะศึกษาในบทนี้ มีดังนี้
  1. การจับกุมผู้กระทำความผิด
  ก. หลักการจับกุมผู้กระทำความผิด
  หลักของการจับกุมผู้สงสัยว่ากระทำความผิด มีอยู่ว่าพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจจะจับผู้ใดโดยไม่มีหมายจับไม่ได้ เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้
  (1) เมื่อบุคคลนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า
  (2) เมื่อพบบุคคลนั้นกำลังพยายามกระทำความผิด หรือพบโดยมีพฤติการณ์อันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะกระทำผิดโดยมีเครื่องมือ อาวุธ หรือวัตถุอย่างอื่นอันสามารถใช้ในการกระทำความผิด
  (3) เมื่อมีเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นได้กระทำความผิดมาแล้ว และจะหลบหนี
  (4) เมื่อมีผู้ขอให้จับโดยแจ้งว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิด และอ้างด้วยว่าได้ร้องทุกข์ไว้ตามระเบียบแล้ว
  ข. การจับกุมผู้กระทำความผิดของราษฎร
  โดยปกติ ราษฎรนั้นจะจับผู้อื่นไม่ได้ เว้นแต่
  (1) เจ้าพนักงานผู้จัดการตามหมายจับจะขอความช่วยเหลือเพื่อจัดการตามหมายหรือ
  (2) ผู้นั้นกระทำความผิดซึ่งหน้าและความผิดนั้นได้ระบุไว้ในบัญชีท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ที่เรียกว่าความผิดซึ่งหน้า ได้แก่ ความผิดซึ่งเห็นกำลังกระทำหรือพบในอาการใดซึ่งแทบจะไม่มีความสงสัยเลยว่าเขาได้กระทำผิดมาแล้วสด ๆ  
  อย่างไรก็ดี ความผิดอาญาดั่งระบุไว้ในบัญชีท้ายประมวลกฎหมายนี้ ให้ถือว่าเป็นความผิดซึ่งหน้าในกรณีต่อไปนี้
  - เมื่อบุคคลหนึ่งถูกไล่จับดังผู้กระทำโดยมีเสียงร้อยเอะอะ
  - เมื่อพบบุคคลหนึ่งแทบจะทันทีทันใดหลังจากการกระทำผิด ในถิ่นแถวใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุนั้น และมีสิ่งของที่ได้มาจากการกระทำผิด หรือมีเครื่องมือ อาวุธหรือวัตถุอย่างอื่นอันสันนิษฐานว่าได้ใช้ในการกระทำผิดหรือมีร่องรอยพิรุธเห็นประจักษ์ที่เสื้อผ้าหรือเนื้อตัวของผู้นั้น
  ค. ข้อยกเว้นเรื่องการจับกุมผู้กระทำความผิด
  ข้อยกเว้นเรื่องการจับกุมผู้กระทำความผิด คือ จะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม ห้ามมิให้จับ
  (1) ในที่รโหฐาน เว้นแต่จะได้ทำตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้อันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน
  (2) ในพระราชวังหรือในที่ซึ่งพระมหากษัตริย์ พระมเหสี หรือผู้สำเร็จราช-การแทนพระองค์ประทับหรืออยู่ นอกจากจะได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยก่อน
  ง. กรณีที่จะออกหมายจับได้ มีดังนี้
  (1) เมื่อผู้ต้องหาซึ่งถูกสงสัยโดยมีเหตุอันควร หรือจำเลยเป็นผู้ไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง
  (2) เมื่อความผิดที่ผู้ต้องหาถูกสงสัยโดยมีเหตุอันควรหรือที่จำเลยถูกฟ้องนั้นมีอัตราโทษอย่างสูงตั้งแต่สามปีขึ้นไป
  (3) เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งไม่ได้ถูกควบคุมหรือขังอยู่ไม่มาตามหมายเรียก หรือตามนัดโดยไม่มีข้อแก้ตัวอันควรก็ดี ได้หนีไปก็ดี มีเหตุอันควรสงสัยว่าจะหลบหนี หรือจะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานโดยตรงหรือโดยทางอ้อมก็ดี
  (4) เมื่อผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งถูกปล่อยชั่วคราวไม่สามารถทำสัญญาประกันให้จำนวนเงินสูงกว่าเดิม หรือหาหลักประกันมาเพิ่มหรือให้ดีกว่าเดิมตามมาตรา 115 ได้
จะออกหมายจับบุคคลที่ยังไม่รู้จักชื่อก็ได้ แต่ต้องบอกรูปพรรณของผู้นั้นให้ละเอียดเท่าที่ทำได้
  2. การสืบสวนคดีอาญา
  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ให้นิยามของการสืบสวนว่า "การสืบสวน หมายความถึง การแสวงหาข้อเท็จจริงและหลักฐาน ซึ่งพนักงานฝ่าย ปกครอง หรือตำรวจได้ปฏิบัติไปตามอำนาจและหน้าที่ เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของ ประชาชนและเพื่อที่จะทราบรายละเอียดแห่งความผิด
  จากนิยามนี้จะเห็นได้ว่าการดำเนินการสืบสวนคดีอาญากระทำไปโดยมีความ มุ่งหมาย 2 ประการคือ
  1. เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของประชาชน
  2. เพื่อจะทราบรายละเอียดแห่งความผิด
  3. การสอบสวนคดีอาญา
  ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา บัญญัติว่า "การสอบสวน หมายความถึง การรวบรวมพยานหลักฐาน และการดำเนินการทั้งหลายอื่นตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ ซึ่งพนักงานสอบสวนได้ทำไปเกี่ยวกับความผิดที่กล่าวหา เพื่อที่จะทราบข้อเท็จจริงหรือพิสูจน์ความผิด และเพื่อจะเอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษ"
  การที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กำหนดเรื่องการสอบสวนคดี อาญาไว้ก็เพื่อประโยชน์ ดังนี้
  1. กำหนดวิธีการที่จะให้ปรากฏพยานหลักฐานเกี่ยวกับความผิดอาญาสองประการคือ แสดงว่าได้มีความผิดอาญาเกิดขึ้นจริง และมีพยานหลักฐานพอฟังว่าผู้ต้องหาในคดีเป็นผู้กระทำผิด
  2. เป็นหลักประกันผู้ต้องหาโดยพนักงานอัยการจะฟ้อง โดยไม่มีการสอบสวน หรือการสอบสวนยังไม่เสร็จไม่ได้ 
  4. การฟ้องคดีอาญา
  การฟ้องคดีอาญาเป็นการขอให้ศาลลงโทษจำเลยว่ากระทำผิด ถ้าพนักงานอัยการเป็นผู้ฟ้องคดี โดยปกติศาลไม่ต้องไต่สวนมูลฟ้อง เพราะพนักงานอัยการจะฟ้องคดีได้ก็ต่อเมื่อมีการสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาแล้ว แต่ถ้าศาลเห็นสมควรจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อนก็ได้ ส่วนในกรณีที่ผู้เสียหายเป็นโจทก์ฟ้องคดีอาญาโดยลำพังตนเอง ศาลต้องไต่สวนมูลฟ้องก่อนเสมอ เพราะเป็นการฟ้องคดีโดยไม่มีการสอบสวนของพนักงานสอบสวน หรือเป็นการฟ้องในกรณีที่พนักงานสอบสวนสอบสวนแล้วและมีคำสั่งไม่ฟ้อง ในกรณีที่ผู้ เสียหายฟ้องเองนี้ ศาลต้องไต่สวนมูลฟ้อง และเห็นว่าคดีมีมูลเสียก่อนจึงจะสั่งประทับฟ้องในชั้นไต่สวนมูลฟ้องนี้ จำเลยจะมาศาลหรือไม่ก็ได้ และจะแต่งทนายมาซักถามพยานโจทก์หรือไม่ก็ได้ การที่กำหนดให้ไต่สวนมูลฟ้องเสียตอนนี้ ก็เพราะการฟ้องคดีอาญาทำให้จำเลยต้องมาศาลตลอดเวลาที่มีการพิจารณาคดี และศาลอาจขังจำเลยไว้ซึ่งเป็นการตัดทอนเสรีภาพของจำเลย ดังนั้นจึงควรบังคับให้จำเลยมาศาลหรือถูกขัง ต่อเมื่อศาลได้ไต่สวนเห็นว่าคดีพอมีมูลแล้ว
  5. การพิจารณาคดีอาญา มีสาระสำคัญ ดังนี้
  (1) ต้องมีการฟ้องจึงจะมีการพิจารณาคดีอาญาได้ ศาลไม่มีอำนาจริเริ่มพิจารณาคดีอาญาได้เอง
  (2) การพิจารณาต้องกระทำโดยเปิดเผย ประชาชนที่สนใจมีสิทธิฟังการพิจารณาได้
  (3) การพิจารณาต้องกระทำต่อหน้าจำเลย เพื่อให้โอกาสแก่จำเลยในการที่จะ ต่อสู้คดีโดยมีโอกาสได้ซักฟอกพยาน และชี้แจงข้อเท็จจริงตามสมควร การพิจารณาลับหลังจำเลยมีได้เฉพาะในกรณียกเว้นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 172 ทวิ แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
  (4) ในคดีอุกฉกรรจ์หรือที่เด็กกระทำการอันกฎหมายที่ใช้อยู่ในขณะกระทำบัญญัติว่าเป็นความผิด ถ้าจำเลยไม่มีทนาย ให้ศาลตั้งทนายให้เมื่อจำเลยต้องการ
  (5) การพิจารณาคดีอาญากระทำได้ครั้งเดียวสำหรับความผิดอันเดียวกันนั้น ถ้าศาลพิจารณายกฟ้อง และคดีถึงที่สุดแล้ว จะรื้อฟื้นเอาการกระทำนั้นขึ้นมาพิจารณาใหม่อีกไม่ได้
  6. การพิพากษาคดีอาญา มีสาระสำคัญดังนี้
  (1) คำพิพากษาจะถือความจริงเป็นใหญ่ แม้ปรากฏว่าจำเลยรับสารภาพ แต่ถ้าศาลเห็นว่าจำเลยไม่มีความผิด ก็ต้องพิพากษาปล่อยตัวจำเลย
  (2) ศาลจะพิจารณาลงโทษจำเลยได้ ต่อเมื่อข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาตรงกับข้อเท็จจริงที่บรรยายในฟ้อง ถ้าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาต่างกับข้อเท็จจริงที่บรรยายในฟ้อง ศาลต้องยกฟ้อง
  (3) จะไม่มีการพิพากษาโดยไม่มีการพิจารณาพยานหลักฐานโดยศาล เว้นแต่จำเลยจะรับสารภาพในคดีที่ไม่สำคัญ
  (4) ต้องพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดหรือไม่ตามตัวบทกฎหมาย ถ้าจะพิพากษาลงโทษ จะต้องระบุบทมาตราแห่งความผิดลงไว้ในคำพิพากษาด้วย
  (5) ต้องพิจารณาลงโทษเฉพาะที่เป็นโทษที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น
  (6) ต้องพิจารณาลงโทษไม่เกินคำขอในฟ้อง
  7. การบังคับคดีอาญา มีสาระสำคัญดังนี้
  (1) ต้องมีคำพิพากษาจึงจะบังคับได้
  (2) ต้องบังคับให้เป็นไปตามคำพิพากษาเท่านั้น
  (3) การบังคับคดีต้องเป็นไปตามกฎหมาย
การฟ้องศาลในคดีอาญา
          คดีอาญาจะมี 2 ประเภทด้วยกัน คือ คดีอาญาแผ่นดินหรือคดีอาญาที่ยอมความไม่ได้ และคดีอาญาที่ยอมความได้ การฟ้องร้องต่อศาลในคดีอาญาทั้งสองมีลักษณะในการดำเนินการ แตกต่างกันในบางขั้นตอน ซึ่งจะแยกการฟ้องศาลของคดีอาญาทั้งสองลักษณะดังนี้
  คดีอาญาแผ่นดิน
           เมื่อเกิดอาญาแผ่นดินขึ้น เช่น มีการฆ่ากันตาย มีการปล้นทรัพย์เกิดขึ้นในท้องที่ใด หากมีผู้ไปแจ้งเจ้าหน้าที่ ซึ่งอาจจะเป็นผู้ใหญ่บ้าน กำนัน ทางผู้ใหญ่บ้าน กำนันก็จะรีบไปแจ้งความกับ เจ้าหน้าที่ตำรวจอีกทีหนึ่ง เนื่องจากเจ้าหน้าที่ตำรวจมีหน้าที่ในการสืบสวนสอบสวนคดีอาญาตามกฎหมาย ถ้าไม่สะดวกในการไปแจ้งความต่อกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน หรืออาจจะทำให้การดำเนินการจับกุมคนร้ายไม่ทันเหตุการณ์ จะต้องแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยตรงเป็นดีที่สุด การแจ้งความในคดีอาญาแผ่นดินกระทำไดหลายทาง คือ
  1. โทรศัพท์แจ้งความจะเป็นการสะดวกรวดเร็ว และทันต่อเหตุการณ์ได้ดีที่สุด
           ซึ่งการแจ้งความทางโทรศัพท์ต้องแจ้งรายละเอียดในลักษณะของคดีอาญาที่เกิดขึ้น และบอกถึงสถานที่เกิดเหตุให้
ชัดเจน เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้มาตรวจสถานที่เกิดเหตุได้ทันท่วงทีในสถานที่เกิดเหตุ สิ่งที่กระทำได้ทันทีของผู้แจ้ง หรือผู้เห็นเหตุการณ์ ได้แก่ การนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาล ช่วยกันทำการดับไฟ ส่วนเหตุการณ์อื่น ๆ ที่เกิดจากคดีอาญาไม่ควรเข้าไปจับต้อง เช่น อาวุธปืนในที่เกิดเหตุ ข้าวของที่ล้มกระจัดกระจายอยู่ การเคลื่อนย้ายศพ เพราะสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ถ้าให้เจ้าหน้าที่ตำรวจไปตรวจสอบสถาน
ที่เกิดเหตุก่อนจะเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีเป็นอย่างยิ่ง และการแจ้งความคดีอาญาจะต้องแจ้งความต่อ สถานีตำรวจในเขตท้องที่ที่เกิดเหตุ เราอยู่ท้องที่ใดควรจะได้ทราบเบอร์โทรศัพท์ของสถานีตำรวจใน ท้องที่เอาไว้ เพื่อความสะดวกต่อการแจ้งเหตุ
  2. แจ้งความด้วยตนเอง 
             คือ ผู้ที่ได้รับความเสียหายจากคดีอาญาอาจจะเป็นผู้ประสบเหตุการณ์เอง หรือญาติไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจโดยตรง ซึ่งการไปแจ้งความด้วยตนเองควรจะไปแจ้งความต่อหน่วยบริการตำรวจ ซึ่งอาจจะเป็นป้อมยาม สายตรวจก็ได้ ถ้าเห็นว่าเป็นการสะดวกกว่าที่จะไปแจ้งความที่สถานีตำรวจในท้องที่เกิดเหตุโดยตรง
  3. ข่าวจากสื่อสารมวลชน 
             ในคดีอาญาแผ่นดินถือได้ว่าเป็นการแจ้งความ อย่างหนึ่ง เพราะคดีอาญา บางอย่างทางผู้เสียหายต้องการจะปิดไว้เพื่อการต่อรองกับคนร้าย เช่น การจับตัวไปเรียกค่าไถ่ ความผิดอาญาในลักษณะเช่นนี้ แม้จะไม่มีผู้ใดแจ้งความทั้งทางโทรศัพท์และแจ้งความด้วยตนเอง แต่เมื่อข่าวเกิดแพร่ไปสู่สื่อมวลชน เจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่เกิดเหตุก็จะต้องดำเนินการสืบสวนเพื่อหาข้อเท็จจริง
             คดีอาญาแผ่นดิน เมื่อมีผู้แจ้งความไม่ว่าจะทางใดก็ตาม เจ้าหน้าที่ตำรวจจะมีหน้าที่ดำเนินการสืบสวนสอบสวน เพื่อหาพยานหลักฐานในการจับกุมคนร้าย และเมื่อทำการจับกุมคนร้ายที่ก่อเหตุได้แล้ว จะทำการสอบสวนและหาพยานหลักฐาน เพื่อส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมตัวผู้ถูก กล่าวหาไปยังอัยการ เพื่อพิจารณาสั่งฟ้องศาลหรือสั่งไม่ฟ้องศาลอาญาต่อไป แม้เพียงแต่ทราบข่าวโดยไม่มีผู้แจ้ง ในความผิดอาญาแผ่นดินทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็จะดำเนินการสืบข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการ ต่อไป
คดีอาญาที่ยอมความได้
           คดีอาญาที่ยอมความได้ หรืออาจจะเรียกว่าเป็นคดีความผิดส่วนตัว คดีเหล่านี้คงจะทราบกันมาแล้ว เช่น ยักยอกทรัพย์ ข่มขืนหญิงอายุเกิน 15 ปี คดีเหล่านี้จะเห็นว่าเป็นเรื่องส่วนตัวกัน อย่างคดียักยอกทรัพย์ เจ้าของทรัพย์และผู้ยักยอกอาจจะตกลงกันได้ ให้ผู้ยักยอกนำเอาทรัพย์ที่ยักยอกมาคืนและอาจจะเรียกค่าเสียหายจากการกระทำนั้น เมื่อตกลงกันได้ก็ไม่ต้องเกิดคดี
            คดีอาญาที่ยอมความได้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินคดีได้ เจ้าทุกข์หรือผู้เสียหายจะต้องแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือแจ้งเรื่องต่อกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ให้ช่วยดำเนินการแจ้งความต่อ เจ้าหน้าที่ตำรวจ
  ตัวอย่าง
            ถ้าเกิดคดีเช่นนี้ ตำรวจจะมีสิทธิจับกุมผู้กระทำผิดหรือไม่ เมื่อเจ้าทุกข์ไม่ดำเนินการแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ นายหล่อ อายุ 18 ปี ได้หลอกพานางสาวสวย อายุ16 ปี ไปดูหนังที่งานวัดแห่งหนึ่ง หลังจากหนังเลิกได้พานางสาวสวยไปบ้านตนเองและใช้กำลังปลุกปล้ำข่มขืนนางสาวสวยหลายครั้ง รุ่งเช้าจึงพานางสาวสวยไปส่งบ้าน พ่อแม่นางสาวสวยสอบถามถึงเหตุการณ์ นายหล่อได้สารภาพความผิดที่ตนเองได้ก่อขึ้นต่อนางสาวสวย แต่พ่อแม่ของนางสาวสวยมิได้แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ข่าวที่นายหล่อข่มขืนนางสาวสวย ได้ล่วงรู้ไปถึงเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการอย่างไร
            เรื่องนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจคงดำเนินการใด ๆ ไม่ได้ เนื่องจากนายหล่อข่มขืนนางสาวสวยซึ่งมีอายุเกิน 15 ปี แล้ว ไม่ได้ทำการข่มขืนต่อหน้าคนอื่น เป็นความผิดทางอาญาที่ยอมความกันได้ กฎหมายกำหนดไว้ความผิดทางอาญาที่ยอมความได้ เมื่อเจ้าทุกข์ไม่แจ้งความเจ้าหน้าที่ก็จะดำเนินการคดีไม่ได้
            ความผิดทางอาญาที่ยอมความกันได้ ผู้เสียหายจะต้องแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อให้จับกุมผู้กระทำผิด การที่เจ้าหน้าที่ทราบเรื่องการกระทำความผิดเองยังไม่สามารถดำเนินการ จับกุมได้ เช่น ทราบว่านาย ก. บุกรุกที่ของนาย ข. หรือนายไก่ ขอยืมสร้อยคอทองคำของนายนกไปใส่แล้วนำไปขาย ซึ่งเป็นการยักยอกทรัพย์ เจ้าหน้าที่ตำรวจจะดำเนินการจับกุมได้ต่อเมื่อนาย ข. ต้องไปแจ้งความก่อนว่านาย ก. บุกรุกที่ของตน หรือนายนกต้องไปแจ้งความก่อนว่านายไก่ยักยอกสร้อยคอของตนไปขาย
            การดำเนินคดีอาญาที่ยอมความได้ สามารถดำเนินคดีได้ดังนี้ 
  1. ผู้เสียหายแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งความผิดคดีอาญาที่ยอมความได้ หรือความผิดส่วนตัว ผู้เสียหายมักจะทราบผู้กระทำความผิด การไปแจ้งความซึ่งสามารถบอกตัวผู้กระทำความผิดได้ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตัวมาดำเนินคดีได้
  2. ในระหว่างการดำเนินคดีได้ ไม่ว่าจะเป็นขั้นสอบสวนของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือชั้นส่งฟ้องศาล ถ้าผู้เสียหายและผู้กระทำผิดสามารถตกลงยอมความกันได้ การดำเนินคดีเป็นอันสิ้นสุดในชั้นสอบสวน เจ้าหน้าที่ตำรวจก็ไม่ต้องดำเนินการสอบสวน ปิดสำนวนการสอบสวนได้เลย ในชั้นส่งฟ้องศาลก็ปิดคดีได้
  3. แต่ถ้าผู้เสียหายไม่ตกลงยอมความกับผู้กระทำผิด ยืนยันที่จะดำเนินคดีจนถึงที่สุด การดำเนินคดี ก็คงดำเนินไปเช่นเดียวกับความผิดในคดีอาญาแผ่นดิน



ที่มา   http://www.oknation.net/blog/korung/2009/12/12/entry-1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น