ความสามารถของบุคคล

ความสามารถแบ่งออกเป็น 2 ประการคือ
         1. ความสามารถในการมีสิทธิ ทุกคนที่เกิดมาไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ ผู้หญิงหรือผู้ชาย ยากจนหรือร่ำรวย ย่อมมีสิทธิและหน้าที่เท่าเทียมกัน แต่สิทธิบางอย่างบุคคลจะมีได้ต่อเมื่อมีอายุถึงเกณฑ์ที่กำหนด เช่น ผู้เยาว์มีสิทธิที่จะทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์แล้ว
         2. ความสามารถในการใช้สิทธิ ในการใช้สิทธิกระทำการต่าง ๆ บุคคลจะต้องมีความสามารถ มีความรู้สึกผิดชอบ เด็กแรกเกิดย่อมสามารถมีสิทธิต่าง ๆ ได้ แต่ไม่สามารถใช้สิทธินั้นได้โดยลำพังตนเอง เนื่องจากยังไร้เดียงสา ไม่อาจใช้ความนึกคิด ไม่มีความรู้ความชำนาญแต่เดิมมานั้น หญิงมีสามีถูกกฎหมายตัดทอนความสามารถหลายประการ เช่น หญิงมีสามีจะทำนิติกรรมผูกพันสินบริคณห์ต้องได้รับอนุญาตจากสามีเสียก่อน แต่ปัจจุบันนี้ กฎหมายที่ตัดทอนความสามารถของหญิงมีสามีได้ถูกยกเลิกไปแล้ว หญิงมีสามีจึงไม่เป็นบุคคลที่หย่อนความสามารถต่อไป รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 มาตรา 30 วรรคสอง บัญญัติว่า "ชายและหญิงมีสิทธิเท่าเทียมกัน"
       บุคคลที่หย่อนความสามารถ หรือถูกกฎหมายจำกัดความสามารถในการใช้สิทธิมี 3 ประเภทคือ
        1. ผู้เยาว์
        2. คนไร้ความสามารถ
        3. คนเสมือนไร้ความสามารถ


       ผู้เยาว์
       ผู้เยาว์ คือผู้ที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ เป็นผู้ที่ยังอ่อนในด้านสติปัญญา ความคิด และร่างกาย ผู้เยาว์ไม่สามารถทำนิติกรรมได้ตามลำพังตนเอง เพราะขาดความรู้ ความชำนาญ ถ้าปล่อยให้ผู้เยาว์ทำนิติกรรมได้ตามลำพังตนเองแล้ว อาจจะทำให้ผู้อื่นซึ่งมีความรู้ ความสามารถดีกว่าทำการเอาเปรียบได้ ทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้เยาว์
        การบรรลุนิติภาวะของผู้เยาว์
         ผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะได้ด้วยเหตุ 2 ประการคือ
         1. บรรลุนิติภาวะโดยอายุ บุคคลย่อมพ้นจากภาวะผู้เยาว์และบรรลุนิติภาวะเมื่อมีอายุ 20 บริบูรณ์ (มาตรา 19)
          2. บรรลุนิติภาวะโดยการสมรส ผู้เยาว์ย่อมบรรลุนิติภาวะเมื่อทำการสมรส หากการสมรสนั้นได้ทำเมื่อชายและหญิงมีอายุ 17 ปีบริบูรณ์แล้ว (มาตรา 20 และ 1448)
ผู้เยาว์ทำนิติกรรม
            มาตรา 21 บัญญัติว่า "ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมใด ๆ ต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน การใด ๆ ที่ผู้เยาว์ได้ทำลงปราศจากความยินยอมเช่นว่านั้นเป็นโมฆียะ เว้นแต่จะบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น" จะเห็นได้ว่าผู้เยาว์จะทำนิติกรรม จะต้องได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน เช่น ผู้เยาว์ต้องการเช่าบ้าน 1 หลัง ต้องการกู้เงินจากบุคคลอื่น หรือต้องการซื้อรถยนต์ 1 คัน ผู้เยาว์จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน
   


       ผู้แทนโดยชอบธรรม
       ผู้แทนโดยชอบธรรม ได้แก่
        1. ผู้ใช้อำนาจปกครอง ผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นผู้แทนโดยชอบธรรมของบุตร (มาตรา 1569) ผู้ใช้อำนาจปกครอง ได้แก่บิดามารดาของบุตร (มาตรา 1566)
        2. ผู้ปกครอง ถ้าผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดา หรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง ก็อาจมีการตั้งผู้อื่นเป็นผู้ปกครองได้ (มาตรา 1585) ผู้ปกครองนั้นให้ตั้งโดยคำสั่งศาลเมื่อมีการร้องขอของญาติของผู้เยาว์ อัยการ หรือผู้ซึ่งบิดาหรือมารดาที่ตายทีหลังได้ระบุชื่อไว้ในพินัยกรรมให้เป็นผู้ปกครอง (มาตรา 1586)

      ผลของการที่ผู้เยาว์ทำนิติกรรมโดยไม่ได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม
         เมื่อผู้เยาว์ทำนิติกรรมโดยได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมแล้ว นิติกรรมนั้นย่อมสมบูรณ์มีผลบังคับได้ตามกฎหมาย แต่ถ้าผู้เยาว์ทำนิติกรรมโดยไม่ได้รับความยินยอมของผู้แทนโดยชอบธรรม นิติกรรมนั้นย่อมเป็นโมฆียะ (มาตรา 21) นิติกรรมที่เป็นโมฆียะนั้น มิใช่ว่าเป็นนิติกรรมที่สูญเปล่าไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย นิติกรรมที่เป็นโมฆียะนั้นยังใช้ได้อยู่จนกว่าจะถูกบอกล้าง เมื่อบอกล้างแล้วจะทำให้นิติกรรมนั้นเป็นโมฆะมาตั้งแต่เริ่มแรก และคู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ผู้มีสิทธิบอกล้างนิติกรรมที่เป็นโมฆียะคือ ตัวผู้เยาว์เอง และผู้แทนโดยชอบธรรม ถ้าผู้เยาว์ต้องการบอกล้างนิติกรรมที่เป็นโมฆียะ ผู้เยาว์จะต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมเสียก่อน หรือเมื่อตัวผู้เยาว์บรรลุนิติภาวะ ก็สามารถบอกล้างนิติกรรมนั้นได้โดยลำพังตนเองเช่น ผู้เยาว์ไปซื้อรถยนต์ 1 คันโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม นิติกรรมซื้อขายรถยนต์ที่ผู้เยาว์ทำกับผู้ขายนั้นย่อมเป็นโมฆียะ เพราะกฎหมายบัญญัติไว้ว่า ผู้เยาว์จะทำนิติกรรมต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมเสียก่อน เมื่อเป็นโมฆียะแล้วผู้มีสิทธิบอกล้าง คือ ผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ เมื่อบอกล้างแล้วทำให้โมฆียะกรรมนั้นกลายเป็นโมฆะ คู่กรณีต้องกลับคืนสู่ฐานะเดิม ผู้เยาว์ต้องคืน รถยนต์ให้กับผู้ขาย และผู้ขายต้องคืนเงินให้แก่ผู้เยาว์
การให้สัตยาบันแก่โมฆียะกรรม
นิติกรรมที่เป็นโมฆียะนี้อาจสมบูรณ์ได้ด้วยการให้สัตยาบัน การให้สัตยาบันคือการรับรองว่านิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์ เช่น ผู้เยาว์ซื้อรถยนต์ 1 คันโดยไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม นิติกรรมเป็นโมฆียะ ต่อมาผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ให้สัตยาบัน ทำให้นิติกรรมที่เป็นโมฆียะนั้นกลายเป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์

    นิติกรรมที่เป็นโมฆียะ อาจจะสมบูรณ์ได้อีกทางหนึ่งคือโดยอายุความ ในกรณีดังนี้ (มาตรา 181)
    1. ไม่มีการบอกล้างโมฆียะกรรมนี้ภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้
     2. ไม่มีการบอกล้างโมฆียะกรรมนี้ภายในกำหนด 10 ปี นับแต่เวลาที่ได้ทำนิติกรรมอันเป็นโมฆียะ

นิติกรรมที่ผู้เยาว์สามารถทำได้ตามลำพังตนเอง
ตามปกติแล้วผู้เยาว์จะทำนิติกรรมต้องได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรม ถ้าไม่ได้รับความยินยอมจากผู้แทนโดยชอบธรรมแล้ว จะทำให้นิติกรรมนั้นเป็นโมฆียะ แต่มีนิติกรรมบางประเภทที่ผู้เยาว์สามารถทำได้ตามลำพังตนเอง และมีผลสมบูรณ์ตามกฎหมาย โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรม นิติกรรมเหล่านี้มีดังนี้คือ
      1. นิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์ได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่ง หรือนิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง (มาตรา 22) ซึ่งแยกพิจารณาได้ดังนี้
        1.1 นิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์ได้ไปซึ่งสิทธิอันใดอันหนึ่ง เช่น นาย ก. มอบเงินให้เด็กชาย ข. ผู้เยาว์ 20,000 บาท โดยไม่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน เด็กชาย ข. สามารถทำสัญญารับเงินจำนวนนี้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรม เพราะสัญญาให้เงินนี้ผู้เยาว์เป็นผู้ได้รับประโยชน์ฝ่ายเดียว ผู้เยาว์ไม่เสียประโยชน์เลย แต่ถ้าสัญญานี้มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพันแล้ว ผู้เยาว์ต้องขออนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรมก่อน เช่น นาย ก. ให้เงินเด็กชาย ข. โดยมีเงื่อนไขว่า เมื่อนาย ก. แก่ชรา เด็กชาย ข. ต้องมาเลี้ยงดูนาย ก. เช่นนี้ถ้าเด็กชาย ข. ต้องการรับเงินนั้น จะต้องขออนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรมเสียก่อน
          1.2 นิติกรรมที่ทำให้ผู้เยาว์หลุดพ้นจากหน้าที่อันใดอันหนึ่ง เช่น เด็กชาย  ข. ผู้เยาว์เป็นหนี้นาย ก. อยู่ 10,000 บาท ต่อมานาย ก. ต้องการจะปลดหนี้รายนี้ให้เด็กชายข. ซึ่งจะทำให้หนี้รายนี้ระงับสิ้นไป สัญญาปลดหนี้รายนี้เด็กชาย ข.ไม่ต้องขออนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรม เพราะเป็นสัญญาที่ทำให้เด็กชาย ข. หลุดพ้นจากการที่จะต้องชำระหนี้ให้กับนาย ก.
       2. นิติกรรมที่ผู้เยาว์ต้องทำเองเฉพาะตัว ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการต้องทำเองเฉพาะตัว (มาตรา 23) นิติกรรมเช่นนี้ผู้เยาว์ทำได้เองโดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรม เช่น การรับรองบุตร
ตัวอย่าง ผู้เยาว์อายุ 19 ปีมีบุตรที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย 1 คน ผู้เยาว์จดทะเบียนรับรองบุตรคนนี้ได้โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรม
       3. นิติกรรมซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูป และจำเป็นในการดำรงชีพตามสมควรของผู้เยาว์
ผู้เยาว์อาจทำการใด ๆ ได้ทั้งสิ้น ซึ่งเป็นการสมแก่ฐานานุรูปแห่งตน และเป็นการอันจำเป็นในการดำรงชีพตามสมควร (มาตรา 24) เช่น ผู้เยาว์เป็นนักเรียนต้องซื้อเครื่องเขียนแบบเรียน ต้องซื้อเสื้อผ้า รองเท้าเพื่อใส่ไปโรงเรียน การซื้อเช่นนี้เป็นการสมแก่ฐานานุรูปของผู้เยาว์ และเป็นการจำเป็นในการดำรงชีพตามสมควร แต่ถ้าผู้เยาว์ต้องการซื้อรถยนต์เพื่อขับไปโรงเรียน ถ้าเป็นสิ่งที่เกินฐานะและเกินความ จำเป็นแล้ว ผู้เยาว์จะต้องขออนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรมเสียก่อน
       4. ผู้เยาว์ทำพินัยกรรม ผู้เยาว์อาจทำพินัยกรรมได้เมื่อมีอายุ 15 ปีบริบูรณ์ โดยไม่ต้องขออนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรม (มาตรา 25) ถ้าผู้เยาว์ทำพินัยกรรมโดยมีอายุไม่ถึง 15 ปีบริบูรณ์ พินัยกรรมนั้นย่อมตกเป็นโมฆะ (มาตรา 1703)
       5. ผู้เยาว์ประกอบธุรกิจการค้าหรือทำสัญญาเป็นลูกจ้าง ในกรณีผู้เยาว์ประกอบธุรกิจทางการค้าหรือธุรกิจอื่น หรือในการทำสัญญาเป็นลูกจ้างในสัญญาจ้างแรงงานนั้นต้องเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดไว้ (มาตรา 27)

คนไร้ความสามารถ
   หลักเกณฑ์ของการเป็นคนไร้ความสามารถ
         มาตรา 28 วรรค 1 บัญญัติว่า "บุคคลวิกลจริตผู้ใดถ้าคู่สมรสก็ดี ผู้บุพการีกล่าวคือ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทวดก็ดี ผู้สืบสันดานกล่าวคือ ลูก หลาน เหลน ลื่อก็ดี ผู้ปกครอง หรือผู้พิทักษ์ก็ดี ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่ก็ดี หรือพนักงานอัยการก็ดี ร้องขอต่อศาลให้สั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถ ศาลจะสั่งให้บุคคลวิกลจริตผู้นั้นเป็นคนไร้ความสามารถก็ได้" จากมาตรานี้จะเห็นได้ว่าบุคคลที่จะถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถนั้น จะต้องเป็นบุคคลวิกลจริต และการวิกลจริตนั้นจะต้องมีลักษณะดังนี้
     1. ต้องเป็นอย่างมาก คือวิกลจริตชนิดที่พูดจาไม่รู้เรื่อง ไม่มีความรู้สึกผิดชอบใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่รู้สึกตัวว่าทำอะไรลงไปบ้าง
      2. เป็นอยู่ประจำ คือวิกลจริตอยู่สม่ำเสมอ แต่ไม่จำเป็นต้องเป็นอยู่ตลอดเวลา อาจมีเวลาที่มีสติอย่างคนธรรมดาบางเวลา ในเวลาต่อมาก็เกิดวิกลจริตอีก เช่นนี้เรื่อยไป บุคคลวิกลจริตที่เป็นอย่างมากและเป็นอยู่ประจำเช่นนี้ กฎหมายต้องการให้ความคุ้มครอง เพราะมิฉะนั้นจะถูกบุคคลอื่นเอารัด เอาเปรียบ ทำให้เป็นที่เสียหายแก่ทรัพย์สินของบุคคลวิกลจริตได้
      บุคคลที่มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคลวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถ
บุคคลวิกลจริตที่มีลักษณะเป็นอย่างมากและเป็นอยู่ประจำ อาจถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้ บุคคลที่มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคลวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถได้แก่
     1. คู่สมรส
     2. ผู้บุพการี กล่าวคือ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด
     3. ผู้สืบสันดาน กล่าวคือ ลูก หลาน เหลน ลื่อ 4. ผู้ปกครอง หรือผู้พิทักษ์
     5. ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่
    6. พนักงานอัยการ
       บุคคล 6 ประเภทนี้เท่านั้นที่มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคลวิกลจริตเป็นคนไร้ความสามารถ ลุง ป้า น้า อา พี่ น้อง ของบุคคลวิกลจริตไม่มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่ง เมื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งใน 6 ประเภทนี้ร้องขอต่อศาล ศาลจะใช้ดุลยพินิจไต่สวน ถ้ามีหลักฐานเพียงพอและมีเหตุผล
สมควรแล้ว ศาลก็จะสั่งให้บุคคลวิกลจริตนั้นเป็นคนไร้ความสามารถ และให้โฆษณาคำสั่งของศาลที่สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถนี้ลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้บุคคลทั้งหลายได้ทราบทั่วกัน การเป็นคนไร้ความสามารถเริ่มตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง
ตัวอย่าง น้าไม่ใช่บุพการี และไม่เคยให้ความอุปการะเลี้ยงดูที่จะฟังได้ว่าเป็นผู้พิทักษ์ตามพฤตินัยจึงไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะร้องต่อศาลเพื่อสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถได้ (ฎีกาที่ 1044/2522)
    ผลของการเป็นคนไร้ความสามารถ
      ผลของการเป็นคนไร้ความสามารถมีดังนี้คือ
      1. ต้องอยู่ในความอนุบาล บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถนั้น ต้องจัดให้อยู่ในความอนุบาล (มาตรา 28 วรรค 2) ผู้อนุบาลของคนไร้ความสามารถได้แก่
     1.1 ผู้เยาว์เป็นคนไร้ความสามารถ ผู้ใช้อำนาจปกครองย่อมเป็นผู้อนุบาล (มาตรา 1569) ผู้ใช้อำนาจปกครอง ได้แก่บิดามารดาของบุตร (มาตรา 1566) ถ้าผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดา หรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง ผู้ปกครองย่อมเป็นผู้อนุบาล หรือศาลจะมีคำสั่งตั้งผู้อื่นซึ่งมิใช่ผู้ใช้อำนาจ ปกครองหรือผู้ปกครองเป็นผู้อนุบาลก็ได้ (มาตรา 1569/1)
1.2 บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะและไม่มีคู่สมรสเป็นคนไร้ความสามารถ ให้บิดา มารดา หรือบิดาหรือมารดาเป็นผู้อนุบาลแล้วแต่กรณี เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น (มาตรา 1569/1)
1.3 สามีหรือภรรยาเป็นคนไร้ความสามารถ ภรรยาหรือสามีย่อมเป็นผู้อนุบาล แต่เมื่อ
ผู้มีส่วนได้เสียหรืออัยการร้องขอ และถ้ามีเหตุสำคัญ ศาลจะตั้งผู้อื่นเป็นผู้อนุบาลก็ได้ (มาตรา 1463)
2. ถูกกฎหมายจำกัดความสามารถในการทำนิติกรรม มาตรา 29 บัญญัติว่า "การใด ๆ อันบุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถ ได้กระทำลง การนั้นเป็นโมฆียะ" การใด ๆตามมาตรานี้คือนิติกรรมนั่นเอง คนไร้ความสามารถทำนิติกรรมใด ๆ ไม่ได้เลย ต้องให้ผู้อนุบาลทำแทนทั้งสิ้น ถ้าคนไร้ความสามารถทำนิติกรรม นิติกรรมนั้นย่อมตกเป็นโมฆียะ ผู้อนุบาลที่ศาลตั้งไม่อาจจะให้ความ ยินยอมหรือให้คำอนุญาตใด ๆ แก่คนไร้ความสามารถไว้ล่วงหน้าได้ นอกจากจะบอกล้างหรือให้สัตยาบันภายหลังที่คนไร้ความสามารถได้แสดงเจตนาทำนิติกรรมนั้นแล้ว เป็นการตัดอำนาจจัดการและจำหน่ายทรัพย์สินของคนไร้ความสามารถ แม้จะซื้อเครื่องอุปโภคบริโภคอันจำเป็นสำหรับประทังชีวิตก็ไม่มีความสามารถที่จะทำได้ ถ้าฝ่าฝืนทำไปการนั้นเป็นโมฆียะ เพราะไม่มีกฎหมายยกเว้นไว้เหมือนผู้เยาว์
แต่ถ้าเป็นกรณีที่คนไร้ความสามารถทำละเมิด คนไร้ความสามารถต้องรับผิดในผลที่ตนทำละเมิด โดยผู้อนุบาลต้องรับผิดร่วมด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแก่หน้าที่ดูแลซึ่งทำอยู่นั้น (มาตรา 429) เช่น คนไร้ความสามารถไปทำลายทรัพย์สินของผู้อื่น คน
ไร้ความสามารถนั้นต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้ที่ได้รับความเสียหาย การทำละเมิดนั้นไม่โมฆียะ
คนไร้ความสามารถทำพินัยกรรมไม่ได้ ถ้าคนไร้ความสามารถทำพินัยกรรมขึ้น พินัยกรรมนั้นย่อมตกเป็นโมฆะ (มาตรา 1704) และคนไร้ความสามารถทำการสมรสไม่ได้ถ้าฝ่าฝืนการสมรสย่อมตกเป็นโมฆะ (มาตรา 1449 และ 1495)



การสิ้นสุดของการเป็นคนไร้ความสามารถ
     มาตรา 31 บัญญัติว่า "ถ้าเหตุที่ทำให้เป็นคนไร้ความสามารถได้สิ้นสุดลงไปแล้ว และบุคคล
ผู้นั้นเองหรือบุคคลใด ๆ ดังกล่าวมาในมาตรา 28 ร้องขอต่อศาล ก็ให้ศาลสั่งเพิกถอนคำสั่งที่ให้เป็นคนไร้ความสามารถนั้นคำสั่งของศาลตามมาตรานี้ ให้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา"
จากมาตรา 31 จะเห็นได้ว่าการเป็นคนไร้ความสามารถสิ้นสุดลงเมื่อเหตุที่ทำให้เป็นคนไร้ความสามารถได้สิ้นสุดลงไปแล้ว เช่น คนไร้ความสามารถกลับมีสติดังเดิม หายจากการเป็นคนวิกลจริต ผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลถอนคำสั่งการเป็นคนไร้ความสามารถมีดังนี้
      1. คนไร้ความสามารถนั้นเอง เมื่อหายจากวิกลจริต
      2. คู่สมรส
      3. ผู้บุพการี กล่าวคือ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด
      4. ผู้สืบสันดาน กล่าวคือ ลูก หลาน เหลน ลื่อ
      5. ผู้ปกครอง หรือผู้พิทักษ์
      6. ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่
      7. พนักงานอัยการ
       เมื่อบุคคลดังกล่าวไปร้องขอต่อศาลแล้ว ถ้าศาลเห็นว่าคนไร้ความสามารถนั้นหายจากการเป็นบุคคลวิกลจริตแล้ว ศาลต้องมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมที่ให้เป็นคนไร้ความสามารถเสีย และคำสั่งของศาลเพิกถอนคำสั่งเดิมนี้ให้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษา การสิ้นสุดของการเป็นคนไร้ความสามารถเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิม

คนเสมือนไร้ความสามารถ
         หลักเกณฑ์ของการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ
         มาตรา 32 บัญญัติว่า "บุคคลใดมีกายพิการ หรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หรือประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ หรือติดสุรายาเมา หรือมีเหตุอื่นใดทำนองเดียวกันนั้น จนไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้ หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือ
ครอบครัว เมื่อบุคคลตามที่ระบุไว้ในมาตรา 28 ร้องขอต่อศาล ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้" จากมาตรานี้จะเห็นได้ว่าการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถมีหลักเกณฑ์ดังนี้คือ
      1. มีเหตุบกพร่องบางอย่าง เหตุบกพร่องที่ศาลอาจสั่งให้บุคคลเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้แก่
         1.1 กายพิการ ไม่ว่าส่วนไหนของร่างกายจะพิการก็ได้ เช่น หูหนวก ตาบอด เป็นใบ้ แขนขาด ขาขาด ซึ่งอาจเป็นมาโดยกำเนิด หรือเกิดขึ้นภายหลัง เช่น เกิดจากอุบัติเหตุ โรคภัยไข้เจ็บ หรือชราภาพ
         1.2 จิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ หมายถึงบุคคลที่จิตผิดปกติ สมองพิการ แต่ยังไม่ถึงขั้นวิกลจริต ยังมีความคิดคำนึงอยู่บ้าง และสามารถทำกิจกรรมหลายอย่างได้ด้วยตนเอง
         1.3 ประพฤติสุรุ่ยสุร่ายเสเพลเป็นอาจิณ ชอบใช้จ่ายฟุ่มเฟือย หรือใช้จ่ายเงินเกินกว่าฐานะอยู่เป็นประจำ ซึ่งทำให้ทรัพย์สมบัติร่อยหรอลงไปทุกวัน ในที่สุดก็จะหมดตัว และการใช้จ่าย ดังกล่าวไม่เกิดประโยชน์ในทางเศรษฐกิจ แต่ถ้านาน ๆ จ่ายสักครั้งหนึ่ง เช่น จัดงานเลี้ยงฉลองวันเกิด ซึ่งปีหนึ่งจัดครั้งหนึ่งไม่ถือว่าเป็นการประพฤติสุรุ่ยสุร่าย
          1.4 ติดสุรายาเมา เช่น ดื่มสุราจัด เมาตลอดเวลา ติดฝิ่น เฮโรอีน เป็นประจำจนละเว้นเสียไม่ได้ ทำให้ร่างกายอ่อนแอ ความรู้สึกผิดชอบลดน้อยลงไป
          1.5 มีเหตุอื่นทำนองเดียวกันกับที่กล่าวมาแล้วใน 1.1 - 1.4
        2. ไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัวเพราะเหตุบกพร่องดังกล่าวเมื่อมีเหตุบกพร่อง 5 ประการดังกล่าวแล้ว บุคคลนั้นยังต้องไม่สามารถจะจัดทำการงานโดยตนเองได้ หรือจัดกิจการไปในทางที่อาจจะเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว ถ้าบุคคลนั้นสามารถจัดทำการงานของตนเองได้ ก็ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ เช่น นาย ก. มีกายพิการหรือติดสุรายาเมา แต่นาย ก. สามารถทำการงานของตนเองได้เป็นปกติไม่เกิดความเสียหาย เช่นนี้นาย ก. ก็ไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ
บุคคลที่มีสิทธิร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้บุคคลเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ
       บุคคลที่มีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ศาลสั่งให้บุคคลที่มีเหตุบกพร่อง และไม่สามารถจะจัดทำการงาน            โดยตนเองได้ตามมาตรา 32 เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ คือบุคคลตามมาตรา 28 ซึ่งได้แก่
     1. คู่สมรส
     2. ผู้บุพการี กล่าวคือ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด
     3. ผู้สืบสันดาน กล่าวคือ ลูก หลาน เหลน ลื่อ
     4. ผู้ปกครอง หรือผู้พิทักษ์
     5. ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่
     6. พนักงานอัยการ
        เมื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งใน 6 ประเภทนี้ร้องขอต่อศาลแล้วศาลจะไต่สวนคำร้อง เมื่อปรากฏความจริงตามคำร้อง ศาลจะสั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ และคำสั่งของศาลนี้ให้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้บุคคลทั้งหลายได้ทราบ การเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถเริ่มตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่ง
ผลของการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ
    ผลของการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถมีดังนี้คือ
     1. ต้องอยู่ในความพิทักษ์ บุคคลซึ่งศาลได้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถนั้น ต้องจัดให้อยู่ในความพิทักษ์ (มาตรา 32 วรรค 2) ผู้พิทักษ์ของคนเสมือนไร้ความสามารถได้แก่
         1.      ผู้เยาว์เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ ผู้ใช้อำนาจปกครองย่อมเป็นผู้พิทักษ์ (มาตรา 1569) ผู้ใช้อำนาจปกครอง ได้แก่บิดามารดาของบุตร (มาตรา 1566) ถ้าผู้เยาว์ไม่มีบิดามารดา หรือบิดามารดาถูกถอนอำนาจปกครอง ผู้ปกครองย่อมเป็นผู้พิทักษ์ หรือศาลจะมีคำสั่งตั้งผู้อื่นซึ่งมิใช่ผู้ใช้อำนาจปกครองหรือผู้ปกครองเป็นผู้พิทักษ์ก็ได้
          2.      บุคคลซึ่งบรรลุนิติภาวะและไม่มีคู่สมรสเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถให้บิดามารดา หรือบิดาหรือมารดาเป็นผู้พิทักษ์แล้วแต่กรณี เว้นแต่ศาลจะสั่งเป็นอย่างอื่น (มาตรา 1569/1)
         3.      สามีหรือภรรยาเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถภรรยาหรือสามีย่อมเป็นผู้พิทักษ์ แต่เมื่อผู้มีส่วนได้เสียหรืออัยการร้องขอ และถ้ามีเหตุสำคัญ ศาลจะตั้งผู้อื่นเป็นผู้พิทักษ์ก็ได้ (มาตรา 1463)
     2. ไม่สามารถทำนิติกรรมบางชนิด ตามหลักทั่วไป ถือว่าคนเสมือนไร้ความสามารถมีความสามารถเป็นหลัก ความไม่สามารถหรือหย่อนความสามารถเป็นข้อยกเว้น คือคนเสมือนไร้ความสามารถทำนิติกรรมได้ทุกอย่าง ยกเว้นนิติกรรมบางประเภทที่กำหนดไว้ในมาตรา 34 ถ้าคนเสมือนไร้ความสามารถจะทำนิติกรรมดังกล่าว ต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์เสียก่อน มิฉะนั้นแล้ว
นิติกรรมนั้นจะเป็นโมฆียะ ส่วนตัวผู้พิทักษ์ก็คงมีอำนาจเพียงให้ความยินยอมเท่านั้น จะกระทำการแทนคนเสมือนไร้ความสามารถไม่ได้ นิติกรรมที่กำหนดไว้ในมาตรา 34 ได้แก่
1.      นำทรัพย์สินไปลงทุน
2.      รับคืนทรัพย์สินที่ไปลงทุน ต้นเงินหรือทุนอย่างอื่น
3.      กู้ยืมหรือให้กู้ยืมเงิน ยืมหรือให้ยืมสังหาริมทรัพย์อันมีค่า
4.      รับประกันโดยประการใด ๆ อันมีผลให้ตนต้องถูกบังคับชำระหนี้
5.      เช่าหรือให้เช่าสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่า 6 เดือนหรืออสังหาริมทรัพย์มีกำหนดระยะเวลาเกินกว่า 3 ปี
6.      ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอสมควรแก่ฐานานุรูป เพื่อการกุศล การสังคม หรือตามหน้าที่ธรรมจรรยา
7.      รับการให้โดยเสน่หาที่มีเงื่อนไขหรือค่าภาระติดพัน หรือไม่รับการให้ โดยเสน่หา
8.      ทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจะได้มา หรือปล่อยไปซึ่งสิทธิในอสังหาริมทรัพย์ หรือในสังหาริมทรัพย์อันมีค่า
9.      ก่อสร้างหรือดัดแปลงโรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่น หรือซ่อมแซมอย่างใหญ่
10.  เสนอคดีต่อศาลหรือดำเนินกระบวนพิจารณาใด ๆ เว้นแต่การร้องขอตามมาตรา 35 หรือการร้องขอถอนผู้พิทักษ์
11.  ประนีประนอมยอมความหรือมอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
3. ถ้ามีกรณีอื่นใดนอกจากที่กล่าวใน 2. ซึ่งคนเสมือนไร้ความสามารถอาจจัดการไปในทางเสื่อมเสียแก่ทรัพย์สินของตนเองหรือครอบครัว ในการสั่งให้บุคคลใดเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถหรือเมื่อผู้พิทักษ์ร้องขอในภายหลัง ศาลมีอำนาจสั่งให้คนเสมือนไร้ความสามารถนั้นต้องได้รับความยินยอมของผู้พิทักษ์ก่อนจึงจะทำการนั้นได้
4. ในกรณีที่คนเสมือนไร้ความสามารถ ไม่สามารถจะทำการอย่างหนึ่งอย่างใดที่กล่าวใน 2. หรือ 3. ได้ด้วยตนเอง เพราะเหตุมีกายพิการหรือมีจิตฟั่นเฟือนไม่สมประกอบ ศาลจะสั่งให้ผู้พิทักษ์เป็นผู้มีอำนาจกระทำการนั้นแทนคนเสมือนไร้ความสามารถก็ได้ ในกรณีเช่นนี้ให้นำบทบัญญัติที่เกี่ยวกับผู้อนุบาลมาใช้บังคับแก่ผู้พิทักษ์โดยอนุโลม
สิ้นสุดของการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ
          การเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถสิ้นสุดลง เมื่อเหตุที่ศาลได้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้สิ้นสุดลงไปแล้ว เช่น คนเสมือนไร้ความสามารถมีจิตเป็นปกติ หรือไม่ประพฤติสุรุ่ยสุร่าย หรือไม่ติดสุรายาเมาต่อไป และสามารถประกอบการงานโดยตนเองได้ ผู้มีสิทธิร้องขอให้ศาลถอนคำสั่งการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถมีดังนี้
      1.      คนเสมือนไร้ความสามารถนั้นเอง เมื่อเหตุที่ศาลได้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้สิ้นสุดลงไปแล้ว
      2.      คู่สมรส
      3.      ผู้บุพการี กล่าวคือ บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยาย ทวด
      4.      ผู้สืบสันดาน กล่าวคือ ลูก หลาน เหลน ลื่อ
      5.      ผู้ปกครอง หรือผู้พิทักษ์
      6.      ผู้ซึ่งปกครองดูแลบุคคลนั้นอยู่
      7.      พนักงานอัยการ
เมื่อบุคคลดังกล่าวไปร้องขอต่อศาลแล้ว ถ้าศาลเห็นว่าเหตุที่ศาลได้สั่งให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถได้สิ้นสุดลงไปแล้ว ศาลต้องมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมที่ให้เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถเสีย และคำสั่งของศาลเพิกถอนคำสั่งเดิมนี้ให้โฆษณาในราชกิจจานุเบกษา การสิ้นสุดของการเป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ เริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิม




ที่มา
https://sites.google.com/site/myfriendlaw/kdhmay-phaeng-laea-phanichy/kdhmay-wa-dwy-nitibukhkhl

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น