เหตุยกเว้นความผิด

เหตุยกเว้นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา

1) การกระทำโดยการป้องกัน ม.68 (Lawful Defense)

            เหตุผลที่กฎหมายอาญายอมให้บุคคลที่กระทำอันเป็นความผิดอาญาสามารถอ้างป้องกันตัวได้ เพราะว่ารัฐไม่สามารถให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนของรัฐได้อย่างทันท่วงทีและตลอดเวลา รัฐจึงให้สิทธิป้องกันตัวแก่ประชาชน โดยการกระทำของประชาชนนั้นแม้จะครบองค์ประกอบความผิดหรือผ่านโครงสร้างทางอาญาโครงสร้างที่ 1 มาแล้วก็ตาม ประชาชนก็มีความชอบธรรมในการป้องกันตนเองหรือผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายอันจะเกิดขึ้นกับตัวเองหรือผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายนั้นโดยไม่ต้องรับผิดทางอาญา ซึ่งการป้องกันตามกฎหมายไทยอยู่ใน มาตรา 68 “ผู้ใดจำต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่น ให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด”

หลักเกณฑ์ของการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย[1]

            การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ม. 68 ของประมวลกฎหมายอาญานั้นจะต้องครบหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ หากไม่ครบแต่เพียงข้อใดข้อหนึ่งก็ไม่ใช่การป้องกันโดยชอบที่เป็นเหตุยกเว้นความผิดที่อยู่ในโครงสร้างความรับผิดทางอาญาโครงสร้างที่ 2

            1) มีภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย คำว่ามีภยันตราย (Danger) หมายถึง ภัยที่เป็นความเสียหายต่อชีวิต ร่างกาย ชื่อเสียง เสรีภาพ ทรัพย์สิน[2] ซึ่งเป็นสิทธิของบุคคล ภัยที่เป็นอันตรายต่อสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่กฎหมายคุ้มครองอยู่ เมื่อมีผู้ใดมาประทุษร้ายย่อมสามารถป้องกันได้ ซึ่งถือเป็นสถานการณ์ที่ทำให้ผู้กระทำมีอำนาจกระทำได้[3] แต่หากยังไม่มีภยันตราย ก็ไม่อาจอ้างป้องกันได้ เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 5664/2540 จำเลยเพียงแต่เกรงว่าผู้ตายจะชักปืนออกมายิง ทั้งที่ยังไม่มีพฤติการณ์ที่ส่อว่าผู้ตายจะชักปืนออกมายิงทำร้ายจำเลย และไม่ปรากฏว่าผู้ตายมีอาวุธปืน จึงถือว่ายังไม่มีภยันตรายที่จำเลยจำต้องป้องกันแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการป้องกันตามกฎหมาย

            คำพิพากษาฎีกา 33/2510 จำเลยรู้ตัวว่าผู้ตายจะเข้ามาหาจำเลย จำเลยห้ามและเตรียมปืนไว้เพื่อยิงผู้ตาย ผู้ตายมาเคาะประตูห้องนอนเรียกให้เปิดประตู  ผู้ตายจะก้าวเข้ามา จำเลยพูดว่าไม่ต้องเข้ามาและยิงปืนไปทันที ดังนี้เห็นว่าผู้ตายไปหาจำเลยจำเลยตามที่เคยกระทำมา แม้จำเลยจะห้ามก็ไม่ทำให้ผู้ตายเข้าใจว่าเป็นการจริงจัง เมื่อผู้ตายไปหาจำเลยก็เคาะประตูเรียก หาใช่ใช้กำลังดึงดันจะเข้าไปให้ได้ไม่ จะว่าเป็นการประทุษร้ายอันผิดกฎหมายหาได้ไม่ หากจำเลยไม่คิดฆ่านายเหรียญผู้ตาย เพียงแต่ไม่เปิดประตูและแสดงความไม่ยินยอมให้เห็นอย่างจริงจัง ผู้ตายก็คงยังเข้าไปทำอันตรายแก่จำเลยไม่ได้ แต่จำเลยกลับเปิดประตูห้องซึ่งเป็นธรรมดาที่ผู้ตายจะต้องเข้าไป พอผู้ตายเข้าไปจำเลยก็ยิงทันที การกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกันสิทธิตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68

            ภัยอันเป็นการละเมิดต่อกฎหมาย หมายถึง ผู้ก่อภัยนั้นไม่มีอำนาจตามกฎหมายที่จะทำได้ หากมีอำนาจทำได้ ไม่สามารถอ้างป้องกันได้[4] เช่น กรณีผู้กระทำไม่มีอำนาจ ตามคำพิพากษาฎีกาที่ 2353/2530 กรณีที่มิใช่เป็นการกระทำผิดซึ่งหน้าที่ ราษฎรย่อมไม่มีอำนาจตามกฎหมายหมายที่จะจับกุมผู้กระทำผิด ดังนั้น การที่ ช.กับผู้ตายซึ่งเป็นเพียงราษฎร จะเข้าจับกุมจำเลยภายหลังเกิดเหตุจำเลยทำร้ายผู้อื่นแล้ว จำเลยย่อมมีสิทธิป้องกัน เพื่อให้พ้นจากการที่จะต้องถูกจับได้ แต่การที่จำเลยใช้เหล็กขูดชาฟท์แทงผู้ตายที่หน้าอกส่วนล่างใต้นมเหนือชายโครงซ้าย และผู้ตายถึงแก่ความตายในคืนเกิดเหตุนั้นเอง แสดงว่าจำเลยแทงโดยแรง และเป็นที่เห็นได้ว่าจำเลยเลือกแทงที่อวัยวะสำคัญโดยไม่ปรากฏว่า ช. กับผู้ตายมีอาวุธ หรือแสดงอาการในลักษณะที่จะทำร้ายจำเลย นอกเหนือจากการกระทำเพื่อจับกุมเลย การกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ

            แต่หากเป็นกรณีผู้กระทำมีอำนาจกระทำได้ตามกฎหมาย เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 668/2489 พลตำรวจเข้าไปห้ามปรามผู้ด่าว่าอาละวาด แต่ผู้นั้นไม่ยอมฟัง พลตำรวจเชิญไปสถานีตำรวจก็ไม่ยอมไป ดังนี้พลตำรวจมีอำนาจจับกุมผู้นั้นได้ ถ้าผู้นั้นฆ่าเจ้าพนักงานก็เป็นผิดฐานฆ่าเจ้าพนักงานผู้กระทำการตามหน้าที่ตาม ม.250 (2) (ผู้ฆ่าเจ้าพนักงานไม่อาจอ้างป้องกันได้ เพราะพลตำรวจมีอำนาจรักษาความสงบเรียบร้อยได้ตามกฎหมาย)

            คำพิพากษาฎีกาที่ 1830/2493 สามีภรรยาทะเลาะกัน แล้วสามีใช้มีดฟันภรรยา ๆ ร้องให้ชู้ช่วย ชู้จึงเข้ามาเอามีดฟันสามีที่ศีรษะ 3 ทีติดกันโดยไม่ยั้งมือ ซึ่งแต่ละแผลแตกแยกถึงมันสมองไหล อาจถึงตายในทันทีได้ทุกแผล และโดยไม่ปรากฏว่า ระหว่างการฟันครั้งที่ 2-3 นั้น สามียังทำร้ายภรรยาอยู่ต่อไปหรือไม่ เช่นนี้ ถือว่าการกระทำของชู้ เป็นการป้องกันภรรยา แต่เป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ

            คำพิพากษาฎีกาที่ 378/2479 “การทำชู้ของภริยานั้น จะเป็นการสำเร็จรูป ต้องมีชายชู้มาร่วมด้วย การที่ภริยามีชู้นั้น ถือว่าเป็นการเสื่อมเสียเกียรติยศของสามีอย่างร้ายแรง ฉะนั้นเมื่อผู้เป็นสามี ฆ่าภริยาและชายชู้ตาย ขณะร่วมประเวณีกัน จึงถือว่าเป็นการป้องกันเกียรติยศพอสมควรแก่เหตุ” ในคดีนี้มีข้อน่าพิจารณาในส่วนของการป้องกันที่ศาลเหตุผลว่า เป็นการกระทำป้องกันเกียรติยศพอสมควรแก่เหตุนั้น เป็นเหตุผลที่สมควรยกเว้นความผิดฐานฆ่าคนตายได้หรือไม่ เพราะเป็นการชั่งน้ำหนักระหว่างชื่อเสียงกับชีวิตคน

            คำพิพากษาฎีกาที่ 249/2515 จำเลยเห็นผู้ตายกำลังชำเราภริยาจำเลยในห้องนอน แม้ภริยาจำเลยจะมิใช่ภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ก็อยู่กินกันมา 13 ปี และเกิดบุตรด้วยกัน 6 คน จำเลยย่อมมีความรักและหวงแหน การที่จำเลยใช้มีดพับเล็กที่หามาได้ในทันทีทันใด แทงผู้ตาย 2 ที และแทงภริยา 1 ที ถือว่าจำเลยกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ ในคดีนี้ข้อเท็จจริงต่างจากคำพิพากษาฎีกาที่ 378/2479 เพราะเป็นมาฆ่าภริยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงไม่มีความชอบธรรมในการจะป้องกันชื่อเสียงเกียรติยศของตนเอง แต่กฎหมายก็เห็นใจว่าการกระทำดังกล่าวย่อมเป็นการข่มเหงอันเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะ

            ผู้ที่จะอ้างป้องกันได้ต้องไม่มีส่วนในการก่อภยันตรายนั้นขึ้นมาด้วย เพราะการป้องกันเป็นการกระทำที่กฎหมายมองว่า มีความชอบธรรมที่จะกระทำได้ แต่หากผู้กระทำเข้าไปมีส่วนในการก่อภัยนั้นขึ้นมา ความชอบธรรมที่มีก็หมดไปทันที[5] เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 1665/2543 จำเลยโกรธโจทก์ร่วมที่ไม่ยอมลงชื่อรับหนังสือจากจำเลย และด่าโจทก์ร่วมว่า "ไอ้ลูกหมา" พร้อมกับผลักโต๊ะใส่ แล้วเข้ากอดปล้ำต่อสู้กัน ถือว่าจำเลยเป็นผู้ก่อเหตุกับสมัครใจทะเลาะวิวาท จึงไม่อาจอ้างว่ากระทำไป เพื่อป้องกัน เพราะการป้องกันโดยชอบตาม มาตรา 68 ต้องเป็นกรณีที่ผู้ถูกกระทำฝ่ายเดียวก่อน จึงได้กระทำไปเพื่อป้องกันสิทธิของตนเอง

            ดังนั้นผู้ที่จะอ้างป้องกันไม่ได้จึงหมายถึง ผู้ที่ก่อภัยขึ้นในตอนแรก ผู้ที่สมัครใจเข้าวิวาท ผู้ที่ยินยอมให้ผู้อื่นกระทำต่อตนเองโดยสมัครใจ หรือผู้ที่ยั่วให้คนอื่นโกรธ

            คำพิพากษาฎีกาที่ 2154/2519 จำเลยกับพวกก่อเหตุชกต่อยผู้เสียหาย แล้ววิ่งหนี ผู้เสียหายไล่ตามต่อเนื่องไป ไม่ขาดตอน จำเลยยิงผู้เสียหาย ดังนี้ ไม่เป็นการป้องกัน

            คำพิพากษาฎีกาที่ 8347/2554 ก่อนเกิดเหตุผู้เสียหายมีเรื่องทะเลาะโต้เถียงกับจำเลยซึ่งนั่งดื่มสุราอยู่ที่ร้านใกล้ที่เกิดเหตุ จึงเชื่อว่าเป็นสาเหตุให้จำเลยไม่พอใจผู้เสียหายเป็นอย่างมาก ในวันเกิดเหตุเมื่อผู้เสียหายออกจากร้านไปแล้ว ผู้เสียหายร้องตะโกนท้าทายจำเลยให้ออกไป จะฟันให้คอขาด จำเลยจึงรีบวิ่งไปหาผู้เสียหาย ถือได้ว่าจำเลยสมัครใจเข้าวิวาทและต่อสู้กับผู้เสียหาย และเป็นการกระทำที่จำเลยเข้าสู้ภัยทั้งที่ยังไม่มีภยันตรายมาถึงตน จึงเป็นการกระทำโดยที่ไม่มีกฎหมายให้อำนาจไว้ แม้ผู้เสียหายจะทำร้ายจำเลยก่อน ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นขณะที่จำเลยกับผู้เสียหายสมัครใจวิวาทกัน  ดังนั้น จำเลยจึงไม่อาจที่จะอ้างสิทธิป้องกันได้ตามกฎหมาย และแม้จำเลยมีความไม่พอใจผู้เสียหายเป็นอย่างมาก แต่เมื่อจำเลยสมัครใจที่จะไปต่อสู้กับผู้เสียหายเองก็ไม่อาจถือได้ว่าจำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จำเลยจึงไม่อาจอ้างเหตุบันดาลโทสะได้เช่นเดียวกัน การกระทำของจำเลยไม่เป็นการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย และไม่เป็นการกระทำโดยเหตุบันดาลโทสะ

2) ภยันตรายนั้นใกล้จะถึง

            ภัยที่จะอ้างป้องกันเพื่อให้พ้นจากความรับผิดต้องเป็นภียที่ใกล้จะถึง ซึ่งหมายถึง ภยันตรายที่ปรากฏอยู่เฉพาะหน้า หรือเป็นภยันตรายที่ได้เริ่มเกิดขึ้นแล้ว รวมคลอดถึงภยันตรายที่ยังปรากฏที่ปรากฏอยู่ต่อไปอีก[6] คำพิพากษาฎีกาที่ 2285/2528 (ผู้ตายกำลังชักปืน แม้ยังไม่ถึงเป็นความผิด (ยังไม่ถึงขั้นลงมือ คือเล็ง หรือพร้อมจะยิงได้) โดยไม่ต้องรอให้ถูกยิง หรือมือถึงไกปืน ก็ยิงป้องกันได้) ผู้ตายมาพูดขอแบ่งวัวจากจำเลย จำเลยไม่ยอมแบ่ง และชวนให้ไปตกลงกันที่บ้านผู้ใหญ่บ้านหรือที่บ้านกำนัน แต่ผู้ตายไม่ยอมไป กลับชักปืนออกมาจากเอว จำเลยย่อมเข้าใจว่าผู้ตายจะใช้ปืนยิงจำเลย อันเป็นภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงการที่จำเลยใช้ปืนยิงผู้ตายไป 1 นัด และผู้ตายถึงแก่ความตาย จึงเป็นการป้องกันสิทธิของตนพอสมควรแก่เหตุ การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยไม่มีความผิด

            คำพิพากษาฎีกาที่ 2176/2540 การที่ผู้เสียหายเมาสุราไม่เชื่อฟังมารดา พูดจาท้าทายจำเลย และถือมีดปลายแหลมซึ่งใบมีดยาวถึง 17 เซนติเมตร เดินไปตบหน้าภริยาจำเลยที่หน้าประตูห้องน้ำ ในขณะที่จำเลยอยู่ในห้องน้ำและอยู่ห่างกันเพียง 1 วา ไม่มีทางที่จำเลยจะหลบหนีไปทางใดได้ บุคคลที่อยู่ในภาวะเช่นจำเลย ต้องเห็นว่าผู้เสียหายมีเจตนาจะทำร้ายจำเลย โดยใช้มีดที่ถือมาแทงจำเลยอย่างแน่นอน และอาจถึงแก่ความตายได้ จึงเป็นภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง การที่จำเลยเปิดประตูห้องน้ำออกมาแล้วใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายเพียง 1 นัด แล้วหลบหนี จึงเป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ

            ภยันตรายที่ใกล้จะถึงนั้นจะเริ่มและสิ้นสุดลงคือช่วงเวลาในการป้องกันได้ การอ้างป้องกันจึงเริ่มตั้งแต่ภยันตรายนั้นใกล้จะถึง รวมถึงตลอดระยะเวลาที่ภัยนั้นได้มาถึงตัวผู้รับภัยแล้ว ก่อนที่ภยันตรายนั้นได้สิ้นสุดลง เช่น คำพิพากษาฎีกาที่8345/2544 ก่อนเกิดเหตุขณะอยู่ในงานเลี้ยงที่บ้าน ป. ผู้ตายกับจำเลยมีเหตุทะเลาะจะทำร้ายกันเรื่องเล่นการพนันไฮโลว์ แต่มีคนห้ามไว้และให้จำเลยกลับบ้าน จำเลยจึงขับรถจักรยานยนต์ออกจากบ้าน ป. เพื่อกลับบ้านต่อมาผู้ตายได้ออกตามไป ซึ่งแสดงว่าผู้ตายตามไปหาเรื่องจำเลยจนเกิดเหตุเป็นคดีนี้ การที่ผู้ตายตามไปทันจำเลยระหว่างทางพร้อมกับพูดทำนองว่าตายไปข้างหนึ่งและเข้าไปชกต่อยแล้วชักมีดออกมาจากข้างหลังจะแทงทำร้ายจำเลยก่อนเช่นนี้ จำเลยย่อมมีสิทธิป้องกันตนเองได้ ถึงแม้จำเลยจะแย่งมีดจากมือผู้ตายได้แล้วก็มิใช่ว่าภยันตรายที่จะเกิดแก่จำเลยจากผู้ตายได้ผ่านพ้นหรือสิ้นสุดไปแล้ว เพราะผู้ตายมีรูปร่างสูงใหญ่และกำยำกว่าจำเลยซึ่งขาข้างซ้ายพิการใส่ขาเทียม โอกาสที่ผู้ตายจะแย่งมีดคืนจากจำเลยก็ยังมีอยู่ ซึ่งหากผู้ตายแย่งมีดคืนจากจำเลยมาได้ก็น่าเชื่อได้ว่าผู้ตายจะต้องแทงทำร้ายจำเลยได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ มิฉะนั้นผู้ตายคงไม่ตามไปหาเรื่องจำเลยอีก ส่วนเหตุการณ์ในขณะที่แทงนั้นนับได้ว่าเป็นช่วงฉุกละหุก ประกอบกับขณะเกิดเหตุเป็นเวลากลางคืนจำเลยไม่น่าจะมีโอกาสเลือกแทงผู้ตายตรงบริเวณอวัยวะที่สำคัญได้ถนัดชัดเจน ดังนี้ แม้จำเลยจะแทงผู้ตายถูกที่บริเวณราวนมด้านซ้ายทะลุถึงหัวใจอันเป็นอวัยวะที่สำคัญเป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตายที่โรงพยาบาลในเวลาต่อมา ก็เป็นพฤติการณ์ที่ฟังได้ว่าเป็นการกระทำที่พอสมควรแก่เหตุที่จำต้องกระทำเพื่อป้องกันในสถานการณ์เช่นนั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68

            ผู้รับภัยไม่จำเป็นต้องหลบหนีภัยที่ใกล้จะถึงนั้น แม้ว่าหากหลบหนีเสียก็จะพ้นภัยก็ตาม เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 94/2492 ผู้ตายอายุ 30 ปี ร่างใหญ่กว่าจำเลย จำเลยอายุ 19 ปี ผู้ตายมีไฟฉายและมีดพกอยู่ที่ตัวก่อเหตุผลักจำเลยแล้วชกจำเลย จำเลยใช้มีแทงสวนไปถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ “โจทก์ฎีการับในข้อนายเล้ง เป็นผู้ก่อเหตุ แต่เถียงว่าวิสัยคนดีต้องหนี เมื่อจำเลยไม่หนีกลับแทงนายเล้ง จำเลยชอบที่จะต้องรับโทษ หาใช่เป็นการป้องกันตัวไม่ โจทก์ฎีกาดั่งนี้ แต่ถ้าคิดกลับไปอีกทางหนึ่ง จำเลยถูกนายเล้งเหยียดหยาม และข่มเหงถึงขนาดนี้แล้วเอาแต่หนี ก็แสดงความขลาด การใช้สิทธิป้องกันตัวสมควรแก่เหตุจึงไม่มีโทษ”

            คำพิพากษาฎีกาที่ 169/2504 ผู้ตายบุกรุกเข้าไปจะทำร้ายจำเลย จนถึงบ้านจำเลย จึงใช้ปืนยิงเอา เพราะถ้าไม่ยิง ผู้ตายก็จะฟันจำเลย ดังนี้ ถือว่าเป็นการป้องกันชีวิตพอสมควรแก่เหตุ แม้จำเลยจะเห็นผู้ตายอยู่ก่อน และอาจหลบหนีไปได้ แต่ก็ไม่มีความจำเป็นที่ผู้มีสิทธิครอบครองเคหสถานโดยชอบ จะต้องหนีผู้กระทำผิดกฎหมาย

            แม้จะเป็นการป้องกันภยันตรายไว้ล่วงหน้าก็สามารถทำได้ เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 1923/2519 จำเลยเก็บของไว้ในโรงเก็บของในสวนของจำเลย ตำบลที่เกิดเหตุมีคนร้ายชุกชุม ผู้ตายกับพวกบุกรุกเข้าไปในเวลาวิกาล โดยเจตนาจะลักทรัพย์ ถูกเส้นลวดที่จำเลยขึง ปล่อยกระแสไฟฟ้าไว้ในโรงเก็บของ ถึงแก่ความตาย จำเลยมีสิทธิทำร้ายผู้ตายกับพวกเพื่อป้องกันทรัพย์สินได้ เป็นการป้องกันสิทธิพอสมควรแก่เหตุ ไม่มีความผิด

            แต่หากการป้องกันไว้ล่วงหน้านั้นไม่ใช่ผู้ที่เป็นผู้ก่อภยันตรายขึ้นก็ไม่สามารถอ้างป้องกันได้ เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 32/2510 ผู้ตายเรียนหนังสืออยู่ที่วัดละหาร ซึ่งจำเลยเป็นครูอยู่ ทั้งเป็นเด็กหญิงและเป็นหลานของจำเลย มีบ้านอยู่ติดกับบ้านของจำเลย เมื่อจำเลยขึงลวดเส้นเดียวและเล็กไว้ในบริเวณบ้าน และปล่อยกระแสไฟฟ้าให้แล่นไปตามลวดนั้น เมื่อเวลาจวนสว่างผู้ตายเข้าไปในเขตรั้วบ้านจำเลย และมาถูกสายไฟของจำเลยเข้าถึงแก่ความตาย ดังนี้ จึงถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการป้องกันสิทธิของตนโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยจึงมีความผิดฐานทำให้คนตายโดยไม่มีเจตนา (คดีนี้ผู้ตายคือคนที่เข้าไปปัสวะถูกกระแสไฟฟ้าดูด)

            คำพิพากษาฎีกาที่ 1999/2511 กรณีจำเลยใช้เส้นลวดที่ไม่มีวัตถุใด ๆ ห่อหุ้มขึงทางด้านบนของรั้วไม้โรงภาพยนตร์ของจำเลย แล้วปล่อยกระแสไฟฟ้า 220 โวลท์ ไปตามเส้นลวดนั้น เพื่อป้องกันมิให้คนข้ามรั้วเข้าไปลอบดูภาพยนตร์ทางรูฝาโรงภาพยนตร์ เป็นการกระทำที่จำเลยมิได้เจตนาฆ่า แต่เจตนาทำร้ายผู้อื่น จนเป็นเหตุให้ผู้นั้นถึงแก่ความตาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 290 มิใช่กระทำโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย

3) ผู้กระทำได้กระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่น ให้พ้นภยันตราย

            เพื่อป้องกันสิทธิ แสดงว่ามีเจตนาพิเศษหรือมูลเหตุชักจูงใจเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองหรือผู้อื่นหากขาดเจตนาพิเศษอ้างป้องกันไม่ได้ และการป้องกันต้องเป็นการกระทำโดยเจตนาเท่านั้น หากกระทำโดยประมาทจะอ้างป้องกันไม่ได้[7] การป่องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย อาจจะเป็นการป้องกันสิทธิของผู้อื่นได้ด้วย และยังไม่จำกัดว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคล[8]

            การกระทำโดยป้องกันต้องกระทำต่อผู้ก่อภัยขึ้น แม้จะพลาดไปถูกบุคคลที่ 3 ก็ยังเป็นป้องกันอยู่ เช่น คำพิพากษาฎีกา 205/2516 ผู้ตาย ผู้เสียหาย และจำเลย ร่วมดื่มสุราด้วยกันจนเมา แล้ว ผู้ตายกับจำเลยทะเลาะกัน  ผู้เสียหายจึงชวนจำเลยกลับบ้าน ผู้ตายตามมาต่อยและเตะจำเลยจนล้มลุกขึ้นก็ยังถูกเตะอีกเมื่อผู้ตายเตะ จำเลยก็ใช้มีดปลายแหลมที่ติดตัวไปแทงสวนไปสองสามครั้งถูกผู้ตาย ระหว่างนั้นผู้เสียหายเข้าขวางเพื่อห้าง จึงถูกมีดได้รับบาดเจ็บ ส่วนผู้ตายถึงแก่ความตาย การกระทำของจำเลยต่อผู้ตายเป็นการกระทำโดยป้องกันพอสมควรแก่เหตุ แม้จะพลาดไปถูกผู้เสียหายเข้าด้วย ซึ่งตามมาตรา 60 ประมวลกฎหมายอาญา จะถือว่าจำเลยมีเจตนาแทงผู้เสียหายก็ดี แต่การกระทำของจำเลยก็เป็นผลสืบเนื่องมาจากจำเลยแทงผู้ตาย เพื่อป้องกันสิทธิพอสมควรแก่เหตุ อันไม่เป็นความผิด จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้เสียหายด้วย

4) การกระทำโดยป้องกันนั้นไม่เกินขอบเขตหากเกินขอบเขต ถือว่าไม่ใช่เรื่องป้องกัน

            ตามมาตรา 69 “ในกรณีที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 67 และ มาตรา 68 นั้น ถ้าผู้กระทำได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็นหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้แต่ถ้าการกระทำนั้นเกิดขึ้นจากความตื่นเต้นความตกใจหรือความกลัว ศาลจะไม่ลงโทษผู้กระทำก็ได้”

            ประเภทของป้องกันเกินขอบเขต สามารถแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ การป้องกันเกินสมควรแก่เหตุหากผู้กระทำได้ป้องกันเกินสมควรแก่เหตุไม่ใช่การป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย (Lawful Defense) และการป้องกันเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็นที่จะต้องกระทำเพื่อป้องกัน

การป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ

หลักการสำคัญของการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย (lawful defense) คือผู้กระทำต้องกระทำไปพอสมควรแก่เหตุ โดยพิจารณาว่าผู้ป้องกันได้กระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนเองหรือของผู้อื่นให้พ้นจากภยันตรายนั้นด้วยวิธีทางที่น้อยที่สุดเท่าที่จำต้องกระทำตาม ทฤษฏี “วิถีทางน้อยที่สุด” ตามที่หลักของมาตรา 68 ที่บัญญัติไว้ว่า “ผู้ใดจำต้องกระทำ...” การกระทำโดยป้องกันนั้นต้องกระทำโดยใช้มาตรการขั้นต่ำที่สุดในการกระทำเพื่อให้พ้นภัย (Minimum standard)[9]

คำพิพากษาฎีกาที่ 943/2508 คนร้ายจูงกระบือไปจากใต้ถุนเรือนจำเลย เมื่อเวลาประมาณ 24 นาฬิกา จำเลยร้องถาม คนร้ายหันปืนมาทางจำเลย จำเลยจึงยิงปืนไปจากบนเรือน 2 นัด ถูกคนร้ายตาย จำเลยเคยถูกลักกระบือมาแล้วครั้งหนึ่ง และหมู่บ้านนั้นมีการลักกระบือกันเสมอดังนี้ การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันสิทธิของตนให้พ้นภยันตรายพอสมควรแก่เหตุ จำเลยจึงไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68

คำพิพากษาฎีกาที่ 555/2530 ผู้ตายบุกรุกเข้าไปฉุดคร่าบุตรสาวจำเลยถึงในบ้านของจำเลย เมื่อจำเลย ซึ่งเป็นมารดาเข้าขัดขวางห้ามปรามกลับถูกผู้ตายทำร้ายจนล้มลง แล้วผู้ตายจะพาบุตรสาวจำเลยออกจากบ้านไป การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายในเวลาฉุกละหุกกะทันหัน 4 นัด เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย โดยจำเลยกระทำไปเพื่อช่วยเหลือบุตรของตนให้พ้นภยันตรายที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าและภยันตรายนั้น ยังเกิดขึ้นต่อเนื่องกันอยู่ไม่มีทางเลือกที่จะป้องกันด้วยวิธีการอื่นการกระทำของจำเลยจึงเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 68

ผู้ป้องกันได้กระทำโดยป้องกันโดยได้สัดส่วนกับภยันตราย ตามทฤษฏี “สัดส่วน” เช่น คำ พิพากษาฎีกาที่ 873/2521  ส.ใช้ไม้เหลี่ยมยาว 1 ศอกตีจําเลย จำเลยใช้ปืนยิง 2 นัด  ส.ตายเป็นป้องกันเกินกว่าเหตุ แม้จำเลยให้การปฏิเสธว่าไมได้ยิง หน้าทีโจทก์นำสืบตามฟ้อง เมื่อได้ความว่าจำเลยยิงป้องกัน แต่เกินกว่าเหตุ ศาลลงโทษและลดโทษได้

คำพิพากษาฎีกาที่ 606/2510 คนตายเข้ามาชกจำเลย จำเลยล้มลง คนตายเงื้อมีดจะแทง จำเลยยิงสวนทันที เป็นป้องกันพอสมควรแก่เหตุ

การป้องกันเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็นที่จะต้องกระทำเพื่อป้องกัน เช่น กรณีที่ภัยที่ยังอยู่ไกล คำพิพากษาฎีกาที่ 872/2510 จำเลยใช้ปืนยิงเด็ก ซึ่งส่องไฟหากที่ริมรั้วบ้านจำเลยถึงแก่ความตายโดยจำเลยสำคัญผิดว่าเป็นคนร้ายจะมาฆ่าพี่จำเลย เป็นการป้องกันเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 288,69

กรณีภัยที่ผ่านพ้นไปแล้ว เช่น พิพากษาฎีกาที่ 1542/2509 จำเลยกับพวกเจ้าทรัพย์ติดตามเรือที่ถูกลักไป ไปพบผู้ตายกับพวกอยู่ใกล้ ๆ กับเรือที่ถูกลักนั้น ผู้ตายใช้ปืนลูกกรดยิงจำเลย แต่ไม่ถูก จำเลยยิงผู้ตายข้างหลัง 1 นัด การที่จำเลยยิงผู้ตาย เมื่อผู้ตายหนีจากเรือไป 12 วา ปืนที่ผู้ตายใช้ยิงเป็นปืนลูกกรด เป็นการกระทำเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน

คำพิพากษาฎีกาที่ 10584/2555 ผู้ตายจะใช้อาวุธปืนยิงจำเลย จำเลยเข้าไปแย่งอาวุธปืน กระสุนปืนถูกผู้ตายที่มือขวาและหน้าผาก แพทย์ผู้ตรวจศพผู้ตายให้การว่าไม่พบเขม่าดินปืนที่หน้าผากของผู้ตาย รายงานการตรวจพิสูจน์ก็ระบุตรงกันว่าไปพบเขม่าดินปืนที่มือขวา เมื่อผู้ตายใช้มือขวาข้างถนัดของตนกำด้ามปืนไว้ในขณะที่จำเลยเข้ามาแย่งอาวุธปืน หากกระสุนปืนจากอาวุธปืนดังกล่าวเกิดลั่นขึ้นดังที่จำเลยนำสืบจากการเข้ากอดปล้ำแย่งอาวุธในระยะประชิดตัวระหว่างจำเลยกับผู้ตาย ย่อมต้องมีเขม่าดินปืนติดอยู่ที่บริเวณมือขวาและหน้าผากของผู้ตาย เมื่อพิจารณารายงานการชันสูตรบาดแผลหรือสภาพศพระบุว่ากระสุนปืนเข้าฝ่ามือขวาระหว่างนิ้วกลางกับนิ้วนางแล้วทะลุด้านหลังมือของผู้ตาย หากมือขวาของผู้ตายยังกำด้ามปืนอยู่ขณะจำเลยเข้าแย่งอาวุธปืนกระสุนปืนที่ลั่นออกจะถูกมือขวาของผู้ตายได้อย่างไร แสดงว่าขณะผู้ตายถูกกระสุนปืนที่มือขวานั้น ผู้ตายไม่ได้ถืออาวุธปืนดังกล่าว ฉะนั้นกระสุนปืนจึงไม่ได้ลั่นออกไปขณะจำเลยเข้าไปแย่งอาวุธปืนจากมือของผู้ตาย หากแต่เมื่อจำเลยเข้าแย่งอาวุธปืนจากมือของผู้ตายไปได้แล้ว จึงใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายถูกที่มือขวาและหน้าผาก แม้จะได้ความว่าผู้ตายเป็นฝ่ายเอาอาวุธปืนของตนซึ่งพกพาติดตัวขึ้นมายังไม่ได้ลั่นกระสุนปืนใส่จำเลย แต่จำเลยเข้าแย่งอาวุธปืนดังกล่าวไปได้เสียก่อน ทั้งไม่ปรากฎว่าผู้ตายมีอาวุธอื่นใดติดตัวมาอีก และได้ทำร้ายร่างกายจำเลยอีกเช่นนี้ ภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายจากการกระทำของผู้ตายผ่านพ้นไปแล้วและไม่มีภยันตรายที่ใกล้จะถึงตัว พฤติการณ์ที่จำเลยใช้อาวุธปืนที่แย่งจากมือผู้ตายมาได้แล้วจึงยิงผู้ตายเช่นนี้ ถือไม่ได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมาย

3. เหตุยกเว้นความผิดตามกฎหมายอื่น

ความยินยอม

            ความยินยอมที่เป็นเหตุยกเว้นความผิดมาจากหลักที่ว่า “Volenti non fit injuria” ซึ่งมีความหมายว่า “ความยินยอมไม่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือไม่ทำให้เป็นละเมิด” ซึ่งหลักการนี้ถูกนำมาใช้ยกเว้นความรับผิดทางแพ่ง (กฎหมายละเมิด) และยังถูกนำมาใช้เพื่อยกเว้นความรับผิดทางอาญาด้วย โดยที่หลักความยินยอมนี้แม้ไม่ถูกบัญญัติไว้เป็นลายลักษณ์อักษร ในกฎหมายทั้งกฎหมายแพ่งและกฎหมายอาญา แต่ก็ถูกนำมาใช้ในฐานะที่เป็นหลักกฎหมายทั่วไป (General principle of law)ซึ่งในทางอาญาก็สามารถนำหลักดังกล่าวมาใช้ได้ เพราะเป็นคุณต่อผู้กระทำความผิด เพราะนำมาใช้เพื่อเป็นเหตุยกเว้นความผิด ไม่ได้นำมาใช้เพื่อเป็นโทษแก่ผู้กระทำความผิด ดังนั้นแม้หลักความยินยอมจะไม่ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาก็สามารถนำมาใช้ได้

            ความยินยอมที่เป็นเหตุยกเว้นความผิดซึ่งอยู่ในโครงสร้างความรับผิดทางอาญาโครงสร้างที่ 2 นี้หมายถึง การกระทำนั้นจะต้องครบองค์ประกอบความผิดตามโครงสร้างความรับผิดทางอาญาโครงสร้างที่ 1 มาแล้ว จึงค่อยมาพิจารณาว่าผู้กระทำได้กระทำความผิดโดยได้รับความยินยอมหรือไม่ สำหรัยความผิดอาญาบางฐานความผิดความยินยอมของผู้เสียหายถือว่าเป็นองค์ประกอบความผิด ถ้าผู้เสียหายยินยอมการกระทำก็ไม่ครบองค์ประกอบความผิดเลย ไม่ใช้เป็นเหตุยกเว้นความรับผิด เช่น หญิงอายุ 20 ปี ยินยอมให้ชายกระทำชำเรา ชายที่กระทำชำเราหญิงย่อมไม่มีความผิดฐานข่มขืนกระทำชำเรา เพราะไม่ได้มีการข่มขืน จะเห็นว่าความยินยอมในกรณีนี้เป็นการทำให้การกระทำไม่ครบองค์ประกอบความรับผิดตามโครงสร้างข้อที่ 1 เมื่อไม่ผ่านโครงสร้างข้อที่ 1 แล้วก็ไม่ต้องไปพิจารณาในโครงสร้างข้อที่ 2 อีก[10]

            แต่ความผิดอาญาในบางฐานความผิดไม่ว่าผู้เสียหายจะยินยอมหรือไม่ยินยอมก็ถือว่าเป็นความผิด เพราะกฎหมายประสงค์จะคุ้มครองผู้เสียหายที่ยังเป็นเด็กไม่รู้ผิดชอบในการกระทำของตนดีมากนัก เช่น ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กตาม ม.277 ที่ผู้เสียหายซึ่ป็นเด็กอายุมไม่เกิน 15 ปี จะยินยอมหรือไม่ยินยอมก็ตามผู้กระทำก็มีความผิดฐานดังกล่าว

            ความยินยอมที่จะนำมาใช้เพื่อเป็นเหตุยกเว้นความผิดในโครงสร้างความรับผิดทางอาญา โครงสร้างที่ 2 นั้นจะต้องพิจารณาถึงหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

            1) ผู้ให้ความยินยอม จะต้องมีความสามารถที่จะให้ความยินยอมได้ หากเป็นบุคคลที่ไม่รู้ถึงการกระทำของตนเพราะขาดความสามารถ เช่น เด็ก หรือคนวิกลจริต ผู้กระทำความผิดก็อ้างความยินยอมของบุคคลดังกล่าวไม่ได้ เช่น หลอกเอาสร้อยทองที่เด็กใส่อยู่เพื่อแลกกับขนม แม้เด็กจะยินยอมให้ถอดเอาสร้อยไป ผู้กระทำก็ไม่อาจอ้างความยินยอมดังกล่าว เพื่อให้ตนเองพ้นจากความผิดฐานลักทรัพย์ได้

            2) ต้องเป็นความยินยอมที่เกิดขึ้นโดยสมัครใจ ความยินยอมดังกล่าวจะต้องปราศจากการบังคับ ขู้เข็ญหรือกระทำด้วยประการใด ๆ ก็ตามที่ทำให้ผู้เสียหายต้องยินยอมโดยไม่สมัครใจ แต่ความยินยอมนั้นในบางกรณีอาจเกิดขึ้นเพราะการหลอกลวง เช่น ชายหลอกหญิงว่าถ้ายินยอมให้มีอะไรด้วยจะให้พ่อแม่มาสู่ขอไปเป็นภริยา หญิงจึงยินยอมให้ชายกระทำชำเราโดยหวังว่าชายจะทำตามที่บอกไว้ได้ แต่หลังจากนั้นชายก็ไม่ได้ทำตามที่บอกไว้แก่หญิง ดังนี้ถือว่าหญิงยินยอมให้ผู้อื่นกระทำชำเราซึ่งความยินยอมเกิดขึ้นโดยสมัครใจ การกระทำของชายไม่เป็นความผิด

            3) เวลาที่ให้ความยินยอม โดยหลักแล้วความยินยอมที่เป็นเหตุยกเว้นความรับผิดทางอาญาจะต้องให้ก่อนการกระทำความผิด ไม่ว่าความยินยอมนั้นจะไว้ล่วงหน้านานเท่าใดก็ตาม แต่อย่างน้อยจะต้องมีอยู่เวลากระทำและมีอยู่ตลอดการกระทำนั้น จนกว่าจะมีการถอนหรือเลิกให้ความยินยอม ดังนั้นความยินยอมที่ผู้เสียหายให้หลังจากที่ได้กระทำความผิดอาญาจนสำเร็จไปแล้ว เช่น ผู้เสียหายที่ถูกข่มขืนกระทำชำเรายินยอมรับเงินค่าทำขวัญและไม่ติดใจจะดำเนินคดีอาญากับผู้กระทำความผิดอีกตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ม.39 ซึ่งทำให้คดีอาญาระงับไปนั้น ไม่ใช่ความยินยอมที่เป็นเหตุยกเว้นความผิดแต่อย่างใด

            4) ความยินยอมนั้นต้องไม่ขัดกับความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน  ความยินยอมอันเป็นเหตุยกเว้นความผิดตามโครงสร้างข้อที่ 2 นั้น หากเป็นความยินยอมที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย เช่น ยินยอมให้ผู้อื่นทำร้ายร่างกายเพื่อทดลองวิชาอาคม หรือความยินยอมที่ขัดต่อศีลธรรมอันดี เช่น ยินยอมให้ผู้อื่นทำให้ตนแท้งลูก คนที่ทำให้หญิงแท้งลูกแม้หญิงจะยอมให้ทำก็มีความผิด และไม่อาจอ้างความยินยอมให้พ้นจากความรับผิดไปได้ เพราะความยินยอมนั้นขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน[11]

            5) การให้ความยินยอมอาจกระทำได้หลายวิธี การให้ความยินยอมโดยชัดแจ้งหรืออาจให้ความยินยอมโดยปริยายก็ได้ เช่น ก่อนแพทย์ที่ทำการรักษาจะผ่าตัดจะให้ผู้ป่วยลงลายมือในหนังสือยินยอมให้ผ่าตัด ซึ่งทำให้การผ่าตัดของแพทย์นั้นไม่เป็นความผิดฐานทำร้ายร่างกาย เนื่องจากได้รับความยินยอมจากผู้ป่วย แต่ในกรณีที่ผู้ป่วยไม่สามารถให้ความยินยอมได้ เช่น สลบไม่ได้สติ แพทย์ไม่สามารถขอความยินยอมจากผู้ป่วยได้ ในกรณีเช่นนี้จะทำเช่นไร ในทางปฏิบัติถ้าขอความยินยอมจากผู้ป่วยไม่ได้หรือผู้ป่วยไม่มีความสามารถให้ความยินยอมได้ แพทย์จะขอความยินยอมจากญาติของผู้ป่วย เช่น สามีภริยา ลูก หลาน เป็นต้น หากไม่มีบุคคลที่ให้ความยินยอมได้เลย แต่มีความจำเป็นที่แพทย์ต้องทำการผ่าตัดเพื่อรักษาชีวิตของผู้ป่วยไว้ แพทย์ก็อ้างการกระทำด้วยความจำเป็นซึ่งเป็นเหตุยกเว้นโทษในโครงสร้างข้อที่ 3 ได้


ที่มา   http://criminallawup.blogspot.com/2016/05/8.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น