กฎหมายเกี่ยวกับบุคคล

      บุคคล คือสิ่งที่สามารถมีสิทธิและหน้าที่ได้ตามกฎหมาย เฉพาะมนุษย์เท่านั้นที่สามารถมีสิทธิและหน้าที่ สัตว์ไม่มีสิทธิและหน้าที่ จึงไม่ใช่บุคคล
ยังมีสิ่งอื่นซึ่งมีสภาพบุคคลด้วย ได้แก่ หมู่คน กองทรัพย์สิน หรือกิจการอันใดอันหนึ่ง เช่น สมาคม มูลนิธิ หรือกระทรวง ทบวงกรม ซึ่งสามารถมีสิทธิและหน้าที่ เช่น สามารถทำการซื้อขายได้ เราเรียกบุคคลประเภทนี้ว่า นิติบุคคล
ดังนั้นบุคคลจึงแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
   1. บุคคลธรรมดา
   2. นิติบุคคล
บุคคลธรรมดา
   บุคคลธรรมดา ได้แก่มนุษย์ทั้งปวงไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้หญิง หรือผู้ชาย ไม่ว่าจะเป็นคนโง่หรือคนฉลาด คนดีหรือคนบ้า ก็เป็นบุคคลธรรมดา
การเริ่มสภาพบุคคล
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 15 วรรค 1 บัญญัติว่า "สภาพบุคคลย่อมเริ่มแต่เมื่อคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก..." จากมาตรานี้จะเห็นได้ว่าการเริ่มสภาพบุคคลต้องประกอบไปด้วยหลักเกณฑ์ 2 ประการคือ
   1. การคลอด และ
   2. การอยู่รอดเป็นทารก
   ดังนั้นเด็กที่ยังไม่ได้คลอดจึงไม่มีสภาพบุคคล การคลอดนั้นต้องเป็นการคลอดที่สำเร็จเรียบร้อยบริบูรณ์แล้ว เมื่อคลอดแล้วจะต้องอยู่รอดเป็นทารก โดยร่างกายต้องแยกต่างหากออกจากมารดา และมีการหายใจของทารก แม้จะเพียงเล็กน้อยก็ตามก็ถือว่ามีสภาพบุคคล ดังนั้นทารกที่ตายก่อนคลอดหรือแม้ขณะคลอด เมื่อไม่มีสภาพบุคคลแล้วก็ไม่มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายกฎหมายได้ยอมรับสิทธิของทารกซึ่งอยู่ในครรภ์มารดา ยังมิได้คลอด โดยมาตรา 15 วรรค 2 ได้บัญญัติไว้ว่า "ทารกในครรภ์มารดาก็สามารถมีสิทธิต่าง ๆ ได้ หากว่าภายหลังคลอดแล้วอยู่รอดเป็นทารก" เช่น บิดาของทารกได้ตายลงในระหว่างที่ทารกอยู่ในครรภ์มารดา ทารกย่อมมีสิทธิได้รับมรดกของบิดา ถ้าหากว่าภายหลังได้เกิดมาและมีชีวิตรอดอยู่เป็นทารก สิทธิในการรับมรดกนี้ ย่อมย้อนหลังไปถึงเวลาที่ทารกยังอยู่ในครรภ์มารดา แต่มีเงื่อนไขว่าทารกที่เกิดมานั้นจะต้องมีชีวิตรอดอยู่
     ทารกในครรภ์มารดาที่สามารถมีสิทธิต่าง ๆ ได้ คือทารกที่เกิดภายใน 310 วัน นับแต่วันที่เจ้ามรดกคือบิดาตาย หรือภายใน 310 วันนับแต่วันที่ขาดจากการสมรส (มาตรา 1604 และ 1536)
มาตรา 15 วรรค 2 นี้ บัญญัติขึ้นเพื่อมิให้ทารกที่อยู่ในครรภ์มารดาเสียเปรียบผู้ที่เกิดมาแล้ว ในกรณีที่ทารกจะได้สิทธิต่าง ๆ เช่นสิทธิในการได้รับมรดก
การสิ้นสภาพบุคคล
มาตรา 15 วรรค 1 บัญญัติว่า "สภาพบุคคล...สิ้นสุดลงเมื่อตาย" เมื่อบุคคลถึงแก่ความตาย สิทธิและหน้าที่ของผู้ตายย่อมตกทอดไปยังทายาทของผู้ตาย
การสิ้นสภาพของบุคคลธรรมดาแบ่งออกเป็น 2 กรณีคือ
    1. การตาย เป็นการสิ้นสภาพบุคคลโดยธรรมชาติ บุคคลจะถึงแก่ความตายตามธรรมชาติ เมื่อหยุดหายใจ และหัวใจหยุดเต้น ได้มีการประชุมทางการแพทย์และกฎหมาย ณ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2531 ที่ประชุมประกอบไปด้วยแพทย์ นักกฎหมาย และบุคคลทั่วไป ได้เห็นพ้องต้องกันว่า การตายเป็นปัญหาข้อเท็จจริงทางการแพทย์ มิใช่ปัญหาข้อกฎหมาย
ความหมายของการตายในกฎหมายไทย สามารถตีความได้เหมาะแก่ยุคสมัยได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงหรือเพิ่มเติมอีก
     2. การสาบสูญ เป็นการสิ้นสภาพบุคคลโดยผลของกฎหมาย ผู้ใดถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ก็เท่ากับว่าถึงแก่ความตาย
         หลักเกณฑ์ของการเป็นคนสาบสูญ

     การที่บุคคลได้จากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ ไม่มีใครทราบข่าวคราว ไม่รู้ว่ามีชีวิตอยู่หรือไม่ เป็นระยะเวลานานหลาย ๆ ปีนั้น ย่อมก่อให้เกิดความยุ่งยากแก่บุคคลบางจำพวก เช่น บิดา มารดา สามี ภรรยา หรือบุตรของผู้ที่ไม่อยู่ เกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของผู้ที่ไม่อยู่ กฎหมายจึงได้บัญญัติเรื่องการสาบสูญขึ้น หลักเกณฑ์ของการเป็นคนสาบสูญมีดังนี้ (มาตรา 61)
1. กรณีธรรมดา ถ้าบุคคลใดได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่ และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ตลอดระยะเวลา 5 ปี
2. กรณีพิเศษ ระยะเวลาตาม 1. ให้ลดเหลือ 2 ปี
1.      นับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงครามและหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว
2.      นับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทาง อับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป เช่น เรืออับปาง หรือเครื่องบินตก เป็นต้น
3.      นับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตนอกจากที่ระบุไว้ใน 2.1 หรือ 2.2 ได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น เช่น ไปสำรวจในป่าทึบแล้วไม่กลับมา หรือถูกโจรก่อการร้ายจับตัวไป เป็นต้น
3. ผู้มีสิทธิร้องขอต่อศาลให้ศาลมีคำสั่งแสดงการสาบสูญ ได้แก่
1.      ผู้มีส่วนได้เสีย หรือ
2.      พนักงานอัยการ
4. ต้องมีคำสั่งของศาลแสดงการสาบสูญ เมื่อเข้าหลักเกณฑ์ตาม 1. หรือ 2. แล้วผู้มีส่วนได้เสีย หรือพนักงานอัยการร้องขอ ศาลจะสั่งให้บุคคลนั้นเป็นคนสาบสูญก็ได้ ผู้มีส่วนได้เสียในที่นี้ คือผู้มีส่วนได้หรือส่วนเสียในความเป็นความตายของผู้นั้น เช่น บิดา มารดา สามี ภรรยา หรือบุตรเป็นต้น เมื่อศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญแล้วให้โฆษณาคำสั่งแสดงสาบสูญของศาลในราชกิจจานุเบกษา การสั่งให้เป็นคนสาบสูญนั้นเป็นดุลยพินิจของศาล
      ผลทางกฎหมายของการเป็นคนสาบสูญ
มาตรา 62 บัญญัติว่า "บุคคลซึ่งศาลได้มีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ ให้ถือว่าถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังที่ระบุไว้ในมาตรา 61" บุคคลที่เป็นคนสาบสูญนั้น กฎหมายให้ถือว่าถึงแก่ความตาย เป็นการสิ้นสภาพบุคคล ทรัพย์มรดกต่าง ๆ ย่อมตกทอดไปยังทายาท
การเป็นคนสาบสูญนั้น มิใช่ถือว่าถึงแก่ความตายตั้งแต่วันที่ศาลมีคำสั่งให้เป็นคนสาบสูญ แต่เป็นการถึงแก่ความตายเมื่อครบกำหนดระยะเวลา 5 ปีนับแต่บุคคลผู้นั้นได้ไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่และไม่มีใครรู้แน่ว่าบุคคลนั้นยังมีชีวิตอยู่หรือไม่ และ 2 ปีนับแต่วันที่การรบหรือสงครามสิ้นสุดลง ถ้าบุคคลนั้นอยู่ในการรบหรือสงครามและหายไปในการรบหรือสงครามดังกล่าว หรือนับแต่วันที่ยานพาหนะที่บุคคลนั้นเดินทางอับปาง ถูกทำลาย หรือสูญหายไป หรือนับแต่วันที่เหตุอันตรายแก่ชีวิตอย่างอื่นได้ผ่านพ้นไป ถ้าบุคคลนั้นตกอยู่ในอันตรายเช่นว่านั้น
กรณีไม่ทราบวันเกิดแน่นอนของบุคคล
เมื่อเด็กเกิดมา คนที่เป็นเจ้าบ้านหรือบิดามารดาของเด็กต้องไปแจ้งการเกิดต่อนายทะเบียน
ผู้รับแจ้ง ตามพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร์ พ.ศ. 2534 แต่มีบางกรณีที่เจ้าบ้านหรือบิดามารดาของเด็กไม่ได้แจ้งการเกิดของเด็กไว้ หรือไม่ได้จดวัน เดือน ปีเกิดของเด็กไว้ หรืออาจเป็นกรณีที่ข้อมูลทะเบียนประวัติราษฎรสูญหายไป ซึ่งทำให้ไม่ทราบ วัน เดือน ปีเกิดของเด็กการรู้วันเกิดเป็นสิ่งจำเป็นในทางกฎหมาย เช่นทำให้รู้ว่าบุคคลเป็นผู้บรรลุนิติภาวะหรือยัง ผู้เยาว์ทำพินัยกรรมสมบูรณ์หรือไม่ สำหรับเรื่องนี้มาตรา 16 บัญญัติไว้ว่า "การนับอายุของบุคคล ให้เริ่มนับแต่วันเกิด ในกรณีที่รู้ว่าเกิดในเดือนใดแต่ไม่รู้วันเกิด ให้นับวันที่หนึ่งแห่งเดือนนั้นเป็นวันเกิด แต่ถ้าพ้นวิสัยที่จะหยั่งรู้เดือนและวันเกิดของบุคคลใด ให้นับอายุบุคคลนั้นตั้งแต่วันต้นปีปฏิทินซึ่งเป็นปีที่บุคคลนั้นเกิด" จากมาตรา 16 นี้แยกพิจารณาได้ดังนี้
      1.การนับอายุของบุคคล ให้เริ่มนับแต่วันเกิด
      2.ในกรณีที่รู้ว่าเกิดในเดือนใดแต่ไม่รู้วันเกิด ให้นับวันที่หนึ่งแห่งเดือนนั้นเป็นวันเกิด เช่น นายแดงเกิดเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2500 แต่ไม่รู้ว่าเกิดวันไหน ให้ถือว่านายแดงเกิดวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2500
แต่ถ้าพ้นวิสัยที่จะหยั่งรู้เดือนและวันเกิดของบุคคลใด ให้นับอายุบุคคลนั้นตั้งแต่วันต้นปีปฏิทินซึ่งเป็นปีที่บุคคลนั้นเกิด ตามพระราชบัญญัติปีปฏิทินหลวง พ.ศ. 2483 ให้ถือเอาวันที่ 1 มกราคม เป็นวันต้นปี บุคคลใดที่เกิดก่อน พ.ศ. 2484 ให้ถือเอาวันที่ 1 เมษายน เป็นวันเกิด แต่ตั้งแต่ พ.ศ. 2484 เป็นต้นไป ให้ถือเอาวันที่ 1 มกราคม เป็นวันเกิด เช่น นายเขียวเกิด พ.ศ. 2484 แต่ไม่รู้ว่าเกิดวันไหน ให้ถือเอาวันที่ 1 มกราคม 2484 เป็นวันเกิดของนายเขียว
กรณีไม่ทราบลำดับแน่นอนแห่งการตายของบุคคล
       การที่บุคคลถึงแก่ความตายพร้อม ๆ กัน อาจพบเห็นได้เสมอ ๆ เช่น เกิดอุบัติเหตุรถยนต์ชนกัน เครื่องบินตก เรืออับปาง หรือเกิดไฟไหม้ ทำให้คนทั้งครอบครัวถึงแก่ความตายในคราวเดียวกัน จึงทำให้เกิดปัญหาว่าใครตายก่อนหลังใคร ซึ่งมีผลทางกฎหมายเกี่ยวกับการรับมรดก เพราะถ้าผู้มีสิทธิรับมรดกตายก่อนหรือพร้อมกับเจ้ามรดกก็จะไม่ได้รับมรดก แต่ถ้าตายหลังเจ้ามรดกก็จะมีสิทธิได้รับมรดก ซึ่งในเรื่องนี้มาตรา 17 บัญญัติไว้ว่า "ในกรณีบุคคลหลายคนตายในเหตุภยันตรายร่วมกัน ถ้าเป็นการพ้นวิสัยที่จะกำหนดได้ว่าคนไหนตายก่อนหลัง ให้ถือว่าตายพร้อมกัน" บางครั้งเราสามารถทราบได้ว่าคนไหนตายก่อน เช่น ในอุบัติเหตุรถยนต์ชนกันครั้งหนึ่งเราเห็นคนหนึ่งตายไปแล้ว แต่อีกคนหนึ่งยังหายใจอยู่ ถ้ากรณีไม่ทราบว่าใครตายก่อน กฎหมายให้ถือว่าตายพร้อมกัน

นิติบุคคล


นิติบุคคลตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มี 4 ประเภทดังนี้
1. ห้างหุ้นส่วนที่จดทะเบียนแล้ว ห้างหุ้นส่วนคือการที่บุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปตกลงเข้ากันเพื่อกระทำกิจการร่วมกัน ด้วยประสงค์จะแบ่งปันกำไรอันจะพึงได้จากกิจการที่ทำนั้น (มาตรา 1012) ห้างหุ้นส่วนแบ่งออกเป็น 2 ประเภทคือ
1.1 ห้างหุ้นส่วนสามัญ คือห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนต้องรับผิดร่วมกัน เพื่อหนี้ทั้งปวงของห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัด (มาตรา 1025) ห้างหุ้นส่วนสามัญนี้จะจดทะเบียนหรือไม่จดทะเบียนก็ได้ ถ้าจดทะเบียนก็เป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งรวมกันเข้าเป็นห้างหุ้นส่วนนั้น
1.2 ห้างหุ้นส่วนจำกัด คือห้างหุ้นส่วนประเภทหนึ่งซึ่งมีผู้เป็นหุ้นส่วนอยู่สองจำพวกดังจะกล่าวต่อไปนี้คือ (มาตรา 1077)
1.2.1 ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคน ซึ่งมีความรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนรับจะลงหุ้นในห้างหุ้นส่วนนั้นจำพวกหนึ่ง และ
1.2.2 ผู้เป็นหุ้นส่วนคนเดียวหรือหลายคน ซึ่งต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวนอีกพวกหนึ่งอันห้างหุ้นส่วนจำกัดนั้น กฎหมายบังคับว่าต้องจดทะเบียน (มาตรา1078) เมื่อจดทะเบียนแล้ว ก็เป็นนิติบุคคลต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งรวมกันเข้าเป็นห้างหุ้นส่วนนั้น
2. บริษัทจำกัด คือบริษัทประเภทซึ่งตั้งขึ้นด้วยแบ่งทุนเป็นหุ้นมีมูลค่าเท่า ๆ กัน โดยผู้ถือหุ้นต่างรับผิดจำกัดเพียงไม่เกินจำนวนเงินที่ตนยังส่งใช้ไม่ครบมูลค่าของหุ้นที่ตนถือ (มาตรา 1096) บริษัทจำกัดกฎหมายบังคับว่าต้องจดทะเบียน (มาตรา 1111) เมื่อจดทะเบียนแล้วก็เป็น นิติบุคคล
3. สมาคม คือการที่บุคคลหลายคนตกลงเข้ากัน เพื่อทำการอันใดอันหนึ่งร่วมกันอัน มิใช่เป็นการหาผลกำไรมาแบ่งปันกัน การก่อตั้งสมาคมเพื่อกระทำการใด ๆ อันมีลักษณะต่อเนื่อง
ร่วมกันและมิใช่เป็นการหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน ต้องมีข้อบังคับและจดทะเบียนตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ (มาตรา 78) สมาคมที่ได้จดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคล (มาตรา 83) เช่น สมาคมศิษย์เก่าวิทยาลัยพณิชยการบางนา เป็นต้น
4. มูลนิธิได้รับอำนาจแล้ว มูลนิธิได้แก่ทรัพย์สินที่จัดสรรไว้โดยเฉพาะสำหรับวัตถุประสงค์
เพื่อการกุศลสาธารณะ การศาสนา ศิลปะ วิทยาศาสตร์ วรรณคดี การศึกษา หรือเพื่อสาธารณประโยชน์อย่างอื่น โดยมิได้มุ่งหาประโยชน์มาแบ่งปันกัน และได้จดทะเบียนตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ การจัดการทรัพย์สินของมูลนิธิ ต้องมิใช่เป็นการหาผลประโยชน์เพื่อบุคคลใดนอกจากเพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธินั้นเอง (มาตรา 110) มูลนิธิที่ได้จดทะเบียนแล้วเป็นนิติบุคคล (มาตรา 122) เช่น มูลนิธิวิทยาลัยพณิชยการบางนา เป็นต้น
นิติบุคคลตามกฎหมายอื่น ๆ
นอกจากจะมีนิติบุคคล 4 ประเภทตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ยังมีนิติบุคคลตามกฎหมายอื่น ๆ อีก เช่น
สำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง ทบวง กรม จังหวัด เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534
วัด เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2535
บริษัทมหาชนจำกัด เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติบริษัทมหาชนจำกัด พ.ศ. 2535
เมืองพัทยา เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2521
สหกรณ์ที่จดทะเบียนแล้ว เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542
พรรคการเมืองที่จดทะเบียนแล้ว เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติพรรคการเมือง พ.ศ. 2524
องค์การมหาชน เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติองค์การมหาชน พ.ศ. 2542
องค์การบริหารส่วนจังหวัด เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด พ.ศ. 2540
เทศบาล เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พ.ศ. 2486
มหาวิทยาลัยรามคำแหง เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยรามคำแหง พ.ศ.2514
สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2547
สถาบันอุดมศึกษาเอกชน เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสถาบันอุดมศึกษาเอกชน พ.ศ.2546 เป็นต้น






ที่มา
https://sites.google.com/site/myfriendlaw/kdhmay-phaeng-laea-phanichy/kdhmay-wa-dwy-nitibukhkhl

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น