ศาลในประเทศไทย

ศาลในประเทศไทย
 

          ในประเทศไทย ศาลเป็นองค์กรซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาอรรถคดี โดยดำเนินการตามรัฐธรรมนูญ ตามกฎหมาย และในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ บรรดาศาลทั้งหลายจะตั้งขึ้นได้ก็แต่โดยพระราชบัญญัติ
          การตั้งศาลขึ้นใหม่เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งหรือคดีที่มีข้อหาฐานใดฐานหนึ่งโดยเฉพาะแทนศาลที่มีอยู่ตามกฎหมายสำหรับพิจารณาพิพากษาคดีนั้น จะกระทำมิได้ โดยตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ศาลมี 4 ประเภท คือ
  1. ศาลรัฐธรรมนูญ
  2. ศาลยุติธรรม
  3. ศาลปกครอง
  4. ศาลทหาร

ศาลรัฐธรรมนูญ (Constitution Court)
          เป็นศาลสูงและเป็นองค์กรอิสระ ซึ่งวินิจฉัยข้อกฎหมายในกฎหมายรัฐธรรมนูญ มีอำนาจหน้าที่หลักคือพิจารณาวินิจฉัยว่ามีกฎหมายใดขัดแย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตัวอย่างเช่น วินิจฉัยว่ากฎหมายนั้นๆ ขัดแย้งกับหลักพื้นฐานแห่งสิทธิและเสรีภาพหรือไม่ เป็นต้น
          โดยศาลรัฐธรรมนูญนี้ มีอำนาจหน้าที่ที่สำคัญ คือ การพิจารณาวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติหรือร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญหรือร่างข้อบังคับการประชุมของสภาผู้แทนราษฎร ของวุฒิสภา หรือของรัฐสภา ที่สภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา หรือรัฐสภา แล้วแต่กรณี ให้ความเห็นชอบแล้ว แต่ยังมิได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือตราขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือไม่ หรือพิจารณาวินิจฉัยว่า บทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ศาลจะใช้บังคับแก่คดีใดขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญโดยที่ศาลเห็นเอง หรือคู่ความโต้แย้ง และยังไม่มีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในส่วนที่เกี่ยวกับบทบัญญัตินั้น ตลอดจนพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ขององค์กรต่าง ๆ ตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญถือเป็นเด็ดขาดและมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ
          การพิจารณาคดีของศาลรัฐธรรมนูญเป็นระบบไต่สวน ศาลมีอำนาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ ซึ่งแตกต่างจากวิธีพิจารณาที่ใช้ในคดีทั่วไปของศาลยุติธรรม

ศาลยุติธรรม (The Court of Justice)
          เป็นศาลที่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีทั้งปวง เว้นแต่คดีที่รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลอื่น
          ศาลยุติธรรมมี 3 ชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา เว้นแต่ที่มีบัญญัติเป็นอย่างอื่นในรัฐธรรมนูญหรือตามกฎหมายอื่น
  • ศาลชั้นต้น ได้แก่ ศาลแพ่ง ศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลอาญา ศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี ศาลจังหวัด ศาลแขวง และศาลยุติธรรมอื่นที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดให้เป็นศาลชั้นต้น เช่น ศาลเยาวชนและครอบครัว ศาลแรงงาน ศาลภาษีอากร ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ ศาลล้มละลาย
  • ศาลอุทธรณ์ ได้แก่ ศาลอุทธรณ์ และศาลอุทธรณ์ภาค
  • ศาลฎีกาซึ่งเป็นศาลยุติธรรมสูงสุด ที่มีอยู่เพียงศาลเดียว
ศาลชั้นต้น
ศาลแพ่ง
เป็นศาลยุติธรรมชั้นต้นซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งทั้งปวงและคดีอื่นใดที่มิได้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมอื่น ศาลแพ่งมีเขตตลอดท้องที่กรุงเทพมหานคร นอกจากท้องที่ที่อยู่ในเขตของศาลแพ่งกรุงเทพใต้ ศาลแพ่งธนบุรี ศาลจังหวัดมีนบุรี และศาลยุติธรรมอื่นตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลนั้นกำหนดไว้ ในกรณีที่มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง และคดีนั้นเกิดขึ้นนอกเขตของศาลแพ่ง ศาลแพ่งอาจใช้ดุลพินิจยอมรับไว้พิจารณาพิพากษาหรือมีคำสั่งโอนคดีไปยังศาลยุติธรรมอื่นที่มีเขตอำนาจ
ศาลอาญา
เป็นศาลชั้นต้นซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาทั้งปวงในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร นอกจากท้องที่ที่อยู่ในเขตของศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลอาญาธนบุรี และศาลจังหวัดมีนบุรี แต่บรรดาคดีที่เกิดขึ้นนอกเขตอำนาจศาลอาญานั้นจะยื่นฟ้องต่อศาลอาญาก็ได้ ทั้งนี้อยู่ในดุลพินิจของศาลอาญาที่จะไม่ยอมรับพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งที่ยื่นฟ้องเช่นนั้นก็ได้ เว้นแต่คดีนั้นจะโอนมาตามบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความ
ศาลจังหวัด
เป็นศาลยุติธรรมชั้นต้นที่ตั้งประจำในแต่ละจังหวัดหรือในบางอำเภอ มีเขตตามที่พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลจังหวัดนั้นได้กำหนดไว้ มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งและคดีอาญาทั้งปวงที่มิได้อยู่ในอำนาจของศาลยุติธรรมอื่น ในกรณีที่มีการยื่นฟ้องคดีต่อศาลจังหวัด และคดีนั้นเกิดขึ้นในเขตของศาลแขวงและอยู่ในอำนาจของศาลแขวง ศาลจังหวัดนั้นต้องมีคำสั่งโอนคดีไปยังศาลแขวงที่มีเขตอำนาจ
ศาลภาษีอากรกลาง
เป็นศาลที่ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2530 มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีภาษีอากร ซึ่งมีลักษณะพิเศษแตกต่างจากคดีแพ่งทั่วไป เพราะเป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับรัฐอันเนื่องมาจากการเก็บภาษีอากร การอุทธรณ์ในคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลภาษีอากรให้อุทธรณ์ไปยังศาลฎีกา ไม่ต้องผ่านศาลอุทธรณ์เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการดำเนินคดี
พจนานุกรม ไทย-ไทย ฉบับราชบัณฑิตยสถาน ศาลภาษีอากร ความหมาย (กฎ) น. ศาลยุติธรรมชั้นต้นซึ่งเป็นศาลชำนัญพิเศษมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งที่กฎหมายบัญญัติให้อยู่ในอำนาจของศาลภาษีอากร เช่น คดีอุทธรณ์คำวินิจฉัยของเจ้าพนักงานหรือคณะกรรมการตามกฎหมายเกี่ยวกับภาษีอากร.
ศาลแรงงานกลาง
จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงาน และวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 เ ปิดทำการเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2523 โดย มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เป็นศาลชำนัญพิเศษ พิจารณาพิพากษาคดีแรงงาน ซึ่งมีความแตกต่างจากอรรถคดีทั่วไป  การดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลแรงงาน จะใช้วิธีไกล่เกลี่ย และการระงับข้อพิพาทเป็นหลัก แต่หากคู่กรณี (นายจ้าง-ลูกจ้าง) ไม่สามารถตกลงกันได้ ศาลก็จะพิจารณาตัดสินชี้ขาดตามบัญญัติ แห่งกฎหมาย โดยคำนึงถึงความเป็นธรรม และความสงบเรียบร้อย ต่อไป
ศาลแรงงานมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีเกี่ยวกับการจ้างแรงงาน สิทธิหน้าที่ตามกฎหมายแรงงาน ซึ่งได้แก่กฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน กฎหมายว่าด้วยประกันสังคม เป็นต้น รวมทั้งกรณีละเมิดระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง
การพิจารณาคดีประกอบด้วยผู้พิพากษา 3 ฝ่าย คือ ผู้พิพากษาซึ่งเป็นข้าราชการฝ่ายตุลาการ ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้าง และผู้พิพากษาสมทบฝ่ายลูกจ้าง จำนวนฝ่ายละเท่าๆกัน ร่วมเป็นองค์คณะการพิจารณาพิพากษาคดี

ศาลอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ คือ ศาลสูงถัดจากศาลชั้นต้นซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อยู่ในเขตอำนาจ กับมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่ศาลอุทธรณ์มีอำนาจวินิจฉัยได้ตามกฎหมายอื่นในเขตท้องที่ที่มิได้อยู่ในเขตศาลอุทธรณ์ภาค เว้นแต่คดีที่อยู่นอกเขตศาลอุทธรณ์จะอุทธรณ์ต่อศาลอุทธรณ์ก็ได้ ทั้งนี้อยู่ในดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ที่จะไม่ยอมรับพิจารณาพิพากษาคดีใดคดีหนึ่งที่อุทธรณ์เช่นนั้นก็ได้ เว้นแต่คดีนั้นจะได้โอนมาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย
ทั้งนี้ โดยมีประวัติความเป็นมาคือ ก่อน ร.ศ. 110 ศาลอุทธรณ์มหาดไทยเป็นศาลหนึ่งในจำนวนศาลซึ่งตั้งอยู่ตามกระทรวงต่าง ๆ จนกระทั้ง ร.ศ. 110 ได้มีการประกาศตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้น จึงได้รวมศาลทั้งหมดให้สังกัดกระทรวงยุติธรรม โดยให้ยกศาลฎีกาไปเป็นศาลอุทธรณ์คดีหลวง และให้ศาลอุทธรณ์มหาดไทยเป็นศาลอุทธรณ์คดีราษฎร์ ต่อมามีพระราชบัญญัติจัดการในสนามสถิตยุติธรรม ร.ศ. 111 ให้ยกเลิกศาลอุทธรณ์คดีหลวง คงเหลือศาลอุทธรณ์คดีราษฎร์เพียงศาลเดียว ซึ่งนิยมเรียกว่า ศาลอุทธรณ์ ใน ร.ศ. 115 ได้มีการตราพระราชบัญญัติตั้งข้าหลวงพิเศษขึ้นและมีประกาศให้คู่ความอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลหัวเมืองต่อข้าหลวงพิเศษแทนศาลอุทธรณ์ในกรุงเทพ ทำให้ศาลอุทธรณ์กลับมามี 2 ศาลอีก จนถึงปี 2469 จึงมีประกาศให้รวมศาลทั้งสองศาลเป็นศาลเดียวกัน เรียกว่า ศาลอุทธรณ์กรุงเทพฯ และเมื่อตราพระราชบัญญัติให้ใช้พระธรรมนูญศาลยุติธรรมพุทธศักราช 2477 ซึ่งบัญญัติให้ศาลยุติธรรมมี 3 ชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกาจึงใช้ชื่อว่าศาลอุทธรณ์มาจนถึงปัจจุบัน

ศาลฎีกา
ศาลฎีกา คือ ศาลสูงสุดซึ่งมีอำนาจพิจารณาพิพากษาบรรดาคดีที่อุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์หรือศาลอุทธรณ์ภาค ตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการฎีกา นอกจากนี้ ยังมีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่ศาลฎีกามีอำนาจวินิจฉัยได้ตามกฎหมายอื่น
องค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีประกอบด้วยผู้พิพากษาอย่างน้อย 3 คน แต่หากคดีใดมีปัญหาสำคัญ ประธานศาลฎีกามีอำนาจสั่งให้นำปัญหาดังกล่าวเข้าสู่การวินิจฉัยโดยที่ประชุมใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาศาลฎีกาทุกคนซึ่งอยู่ปฏิบัติหน้าที่ในวันที่มีการจัดประชุมใหญ่ แต่ทั้งนี้ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้พิพากษาศาลฎีกาทั้งหมด
ศาลฎีกามีแผนกคดีพิเศษทั้งสิ้น 10 แผนก เพื่อวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่อาศัยความชำนาญพิเศษ มีผู้พิพากษาศาลฎีกาประจำแผนก ๆ ละ ประมาณ 10 คน ได้แก่
  • แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว
  • แผนกคดีแรงงาน
  • แผนกคดีภาษีอากร
  • แผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ
  • แผนกคดีล้มละลาย
  • แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
  • แผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจ
  • แผนกคดีสิ่งแวดล้อม
  • แผนกคดีปกครอง
  • แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา เป็นแผนกที่จัดตั้งขึ้นใหม่ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2540 เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ได้แก่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือข้าราชการการเมืองอื่นซึ่งถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ กระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ หรือทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมายอื่น รวมทั้งกรณีบุคคลอื่นที่เป็นตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุนด้วย
องค์คณะผู้พิพากษาในแผนกนี้ประกอบด้วย ผู้พิพากษาศาลฎีกาจำนวน 9 คน ที่คัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ขึ้นนั่งพิจารณาคดีเช่นเดียวกับศาลชั้นต้น แต่การพิจารณาคดีจะเป็นระบบไต่สวน ซึ่งแตกต่างจากวิธีพิจารณาที่ใช้ในคดีทั่วไป ศาลมีอำนาจไต่สวนหาข้อเท็จจริงและพยานหลักฐานเพิ่มเติมได้ตามที่เห็นสมควร ตามวิธีพิจารณาคดีที่บัญญัติไว้ใน พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. 2542

ศาลปกครอง (Administrative Court)
          คือศาลที่มีหน้าที่พิจารณาคดีปกครองระหว่างรัฐกับราษฎร หรือระหว่างองค์กรของรัฐ ด้วยกันเอง ทั้งนี้ เป็นศาลที่จัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะ แยกต่างหากจากศาลยุติธรรม
          ศาลปกครองเป็นศาลที่ใช้ระบบไต่สวน โดยในแต่ละคดีจะมีการพิจารณาโดยองค์คณะของตุลาการ ต่างจากศาลยุติธรรมซึ่งใช้ระบบกล่าวหา ศาลปกครองแบ่งออกเป็น "ศาลปกครองชั้นต้น" และ "ศาลปกครองสูงสุด"

ศาลปกครองชั้นต้น

  • ศาลปกครองกลาง มีอำนาจตัดสินคดีในเขตกรุงเทพมหานคร และอีก 7 จังหวัดใกล้เคียง หรือคดีที่ยื่นฟ้องที่ศาลปกครองกลาง
  • ศาลปกครองในภูมิภาค ปัจจุบันมี 7 แห่ง ที่จังหวัดเชียงใหม่ สงขลา นครราชสีมา ขอนแก่น พิษณุโลก ระยอง และนครศรีธรรมราช
ศาลปกครองสูงสุด มีอำนาจตัดสินคดีที่ยื่นฟ้องต่อศาลปกครองสูงสุดโดยตรง หรือคดีอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลปกครองชั้นต้น

          การจัดตั้งศาลปกครอง พิจารณาคดีระหว่างรัฐกับราษฎร มีเหตุผลสำคัญอยู่ 2 ประการ คือ
          ประการแรก รัฐในปัจจุบันมีบทบาทและความรับผิดชอบในชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนมากขึ้น ซึ่งหมายความว่า อำนาจของรัฐมีมากขึ้นเป็นเงาตามตัวด้วย การกระทบกระทั่งระหว่างรัฐกับราษฎร ก็ต้องมากขึ้น ศาลยุติธรรมคงจะไม่สามารถรับพิจารณาคดีปกครองได้ทั้งหมด และอำนวยผลดี
          ประการที่สอง การพิพาทระหว่างรัฐกับราษฎร เป็นการพิพาทที่มีลักษณะพิเศษ แตกต่างไปจากการพิพาทระหว่างเอกชนกับเอกชน คือเป็นการพิพาทที่คู่กรณี ไม่อยู่ในฐานะเสมอภาคกัน เพราะฉะนั้น การใช้หลักกฎหมายธรรมดาในคดีปกครองนั้น คงจะไม่ถูกต้องนัก หรือศาลไม่สามารถให้ความเป็นธรรมแก่ราษฎรได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้ มองในแง่ความยุติธรรมที่ราษฎรจะพึงได้รับ เนื่องจากรัฐ มีอำนาจเหนือกว่าราษฎร โดยประการที่การพิพาทระหว่างรัฐกับราษฎรมีลักษณะพิเศษดังกล่าว หลักกฎหมายที่จะนำมาใช้ปรับคดี เพื่อความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย ก็ควรจะต้องเป็นหลักกฎหมายพิเศษ เช่นกัน และหลักกฎหมายดังกล่าวนี้ ศาลปกครองเท่านั้น จะสร้างขึ้นมาได้
         
          ศาลปกครอง จะทำหน้าที่ประสานประโยชน์ระหว่างรัฐกับราษฎร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของราษฎร และพิทักษ์อำนาจรัฐ มิให้อำนาจรัฐทำลายเสรีภาพของราษฎร และเสรีภาพของราษฎรทำลายอำนาจรัฐ ศาลปกครองจะทำให้ทั้งสองอย่างเข้ากันได้ โดยรักษาประโยชน์ ของส่วนรวมไว้ได้ และขณะเดียวกัน ก็ให้ความยุติธรรมแก่ราษฎร
          แนวความคิดทางการเมืองและการปกครองปัจจุบันที่น่าสนใจคือ การที่ประชาชนมอบอำนาจ ให้รัฐบาลจัดการปกครองประเทศเพื่อความผาสุกของตนแล้ว ใครจะเป็นผู้คอยควบคุมดูแลหรือปกครองรัฐบาลอีกทีหนึ่ง จะมีวิธีการอย่างใด และมีขอบเขตแค่ไหนที่ข้าราชการผู้ใช้อำนาจจะถูกควบคุม เพื่อป้องกันมิให้ใช้อำนาจไปในทางผิด ในการปฏิบัติทั่วไป การควบคุมรัฐบาล ในระบอบประชาธิปไตย แม้จะมีสภาผู้แทนราษฎร และสื่อมวลชนต่างๆ ทำหน้าที่ ควบคุม รัฐบาลอยู่แล้ว แต่ก็กล่าวได้ว่า เป็นการควบคุมที่ห่างเหินเกินไป หลายประเทศได้คิดค้นกลไกควบคุมฝ่ายบริหาร ขึ้นเป็นพิเศษ ซึ่งแต่ละประเทศก็มีวิธีปฏิบัติแตกต่างกันไป อาจจะสรุปได้เป็นแบบใหญ่ๆ ได้ 4 วิธีคือ
1. แบบฝรั่งเศส ซึ่งมีกลไกควบคุมฝ่ายปกครองโดยศาลปกครอง
2. จัดให้มีศาลปกครองพิเศษเป็นแผนกหนึ่งของศาลยุติธรรม ดังที่ปฏิบัติอยู่ในสหพันธรัฐเยอรมัน
3. วิธีพิจารณาคดีพิเศษ เฉพาะข้าราชการบางประเภทที่ใช้อำนาจหน้าที่มิชอบ เช่น การฟ้องร้องประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี และข้าราชการพลเรือนอื่นๆ ต่อสภาสูง (Senate) ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเรียกว่า “Impeachment”
4. จัดให้มีผู้ตรวจการหรือออมบุดส์แมน (Ombudsman) ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ที่รัฐสภาแต่งตั้ง ให้มีอำนาจหน้าที่ รับเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชนผู้เห็นว่าสิทธิของตนถูกละเมิด โดยการกระทำของฝ่ายปกครอง อาจเป็นการกระทำนอกเหนือกฎหมาย หรือการใช้ดุลพินิจอันไม่สมควร ดังที่ปฏิบัติอยู่ในประเทศนิวซีแลนด์ ฟินแลนด์ สวีเดน เดนมาร์คและประเทศไทย เป็นต้น
          ประเทศในภาคพื้นยุโรปหลายประเทศ มีศาลปกครองทำหน้าที่พิจารณาคดีอันเป็นกรณีพิพาทระหว่างรัฐกับประชาชน องค์การของรัฐด้วยกันเองและข้าราชการกับประชาชน ซึ่งประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี ศาลปกครองดังกล่าวนี้ จะถือหลักว่าด้วยความถูกต้องในการใช้อำนาจของรัฐและหลักการว่าด้วยความรับผิดชอบของรัฐ
          หลักว่าด้วยความถูกต้องในการใช้อำนาจของรัฐ หมายความว่า อำนาจรัฐที่มีอยู่จะต้องใช้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย หรือศาลปกครอง เป็นผู้ควบคุมการใช้อำนาจของรัฐ ส่วน หลักการว่าด้วยความรับผิดชอบของรัฐ มีสาระสำคัญว่า อำนาจของรัฐต้องใช้อย่างมีความรับผิดชอบ ซึ่งหมายถึงการกระทำใด ๆ ของรัฐ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน รัฐจะต้องชดใช้ค่าเสียหายหรืองดเว้นปฏิบัติ เพื่อมิให้ความเสียหายเกิดขึ้น
          การจัดตั้งศาลปกครองที่ประเทศต่าง ๆ ปฏิบัติอยู่ สามารถจำแนกออกได้เป็น 2 ระบบ
ระบบแรก ให้ศาลปกครองขึ้นต่อศาลยุติธรรม แต่ระบบศาลปกครองที่ขึ้นกับศาลยุติธรรม มีจุดอ่อนอยู่ที่ว่า หลักกฎหมายที่ใช้ในศาลปกครอง และศาลยุติธรรมมีข้อแตกต่างกัน หรือจะทำให้เหมือนกันได้ยาก ในทางปฏิบัติ จึงมักจะเกิดความสับสน เมื่อมีการอุทธรณ์ ฎีกาจากศาลปกครองไปสู่ศาลยุติธรรม เพราะศาลปกครองจะใช้หลักกฎหมายอย่างหนึ่ง ศาลยุติธรรมจะใช้หลักกฎหมายอีกอย่างหนึ่ง
ระบบที่สอง โดยการแยกศาลปกครอง ออกเป็นศาลหนึ่งต่างหาก มีองค์การและเจ้าหน้าที่ของตนเอง ไม่ขึ้นต่อศาลยุติธรรม การจำแนกระบบศาลปกครองดังระบบที่สอง ยกตัวอย่างเช่นประเทศไทยเป็นต้น
          ประเทศที่แยกศาลปกครองและศาลยุติธรรมออกจากกัน หรือใช้ระบบศาลคู่ คือ แยกศาล ออกเป็นสองสาย ในแต่ละสายมีศาลสูงสุดของตัวเอง ศาลทั้งสองต่างเป็นอิสระต่อกัน และต่างมีหน้าที่ ของตน อย่างไรก็ดี ระบบที่แยกศาลออกเป็นสองสายนี้ ก็มีปัญหายุ่งยากอยู่บ้าง กล่าวคือ เกิดความขัดแย้งกันใน 3 รูป ได้แก่ (1) การขัดแย้งกันในอำนาจศาล (2) การขัดแย้งกันในเรื่องของการปฏิเสธ ให้ความยุติธรรม ทั้งนี้ โดยที่แต่ละศาลวินิจฉัยว่าตนไม่มีอำนาจพิจารณาคดี และ (3) การขัดแย้งกัน ในการตัดสินของศาล กรณีเช่นนี้ อาจเกิดขึ้นได้ เมื่อศาลยุติธรรมและศาลปกครอง พิจารณาคดีเดียวกัน แต่การตัดสินของศาลขัดกัน เช่น นาย ก. อาศัยรถยนต์ส่วนตัว ของนาย ข. ไปทำธุรกิจ รถคันที่นาย ก. นั่งไป เกิดชนกับรถของทางราชการ และได้รับบาดเจ็บสาหัส ประการแรก นาย ก. อาจจะฟ้องคนขับรถ ที่ตนนั่งไป ต่อศาลยุติธรรม ซึ่งศาลยุติธรรม อาจจะวินิจฉัยว่า ผู้ที่จะต้องรับผิดชอบนั้น คือคนขับรถราชการ และแนะนำให้ไปฟ้องศาลปกครอง นาย ก. ไม่รู้จะไปฟ้อง ณ ศาลใด อย่างไรก็ดี ในฝรั่งเศสซึ่งเป็นแบบฉบับของการใช้ระบบศาลคู่ ได้แก้ปัญหาขัดแย้งนี้ โดยการจัดตั้งศาลปกครองพิเศษขึ้น เรียกว่า “Tribunal des Conflite” หรือศาลพิจารณาการขัดแย้ง ประกอบด้วย ผู้พิพากษา ของศาลยุติธรรมสูงสุด และศาลปกครองสูงสุด แต่ละฝ่ายจำนวนเท่ากัน ศาลนี้จะทำหน้าที่วินิจฉัยว่า ศาลยุติธรรม หรือศาลปกครอง มีเขตอำนาจหน้าที่เหนือคดี และศาลนี้จะต้องตัดสินคดีเอง หากศาลยุติธรรม และศาลปกครอง ตัดสินชี้ขาดขัดแย้งกัน

ศาลทหาร (Military Court)
          ได้มีขึ้นเป็นของคู่กันมาตั้งแต่มีการทหารไว้ป้องกันประเทศ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบบศาลทหารไทยปรากฏตามกฎหมายลักษณะขบฎศึก จุลศักราช 796 ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 5 มีศาลกลาโหม ชำระความที่เกี่ยวกับทหารและยังชำระความพลเรือนด้วย ทั้งนี้ เนื่องจากสมุหพระกลาโหมนั้นมิได้มีเพียงอำนาจหน้าที่เฉพาะการบังคับบัญชาทหารบก ทหารเรือ เท่านั้น แต่ยังมีหน้าที่จัดการปกครองหัวเมืองฝ่ายใต้ด้วย ศาลที่ขึ้นอยู่ในกระทรวงกลาโหมมีทั้งศาลที่ตั้งอยู่ในกรุงเทพ และศาลในหัวเมืองฝ่ายใต้ด้วย ศาลกลาโหมจึงมีลักษณะเป็นทั้งศาลทหารและศาลพลเรือน
          พ.ศ. 2434 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้ปรับปรุงในเรื่องการศาลทั้งหมด โดยให้ตั้งกระทรวงยุติธรรมขึ้น และรวบรวมศาลซึ่งกระจัดกระจายสังกัดอยู่ในกระทรวง ทบวง กรม ต่าง ๆ เข้ามาสังกัดกระทรวงยุติธรรมจนหมดสิ้นทุกศาล ยกเว้นแต่เพียงศาลทหารเพียงศาลเดียวที่ยังคงให้สังกัดกระทรวงกลาโหมอยู่ตามเดิม ศาลในประเทศไทยจึงแบ่งได้เป็นศาลกระทรวงยุติธรรมกับศาลทหารนับแต่นั้นมา
ศาลทหารสามารถแบ่งได้เป็น 3 ประเภท คือ

  1. ศาลทหารในเวลาปกติ
  2. ศาลทหารในเวลาไม่ปกติ
  3. ศาลอาญาศึก

คดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร

          าลทหาร มีอำนาจ พิจารณาพิพากษาลงโทษผู้กระทำความผิดอาญาซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารในขณะกระทำผิด สั่งลงโทษบุคคลใดๆ ที่กระทำผิดฐาน ละเมิดอำนาจศาล นอกจากนี้ยังกำหนดให้มีอำนาจในการพิจารณาคดีอย่างอื่นได้อีกตามที่จะมีกฎหมายบัญญัติเพิ่มเติม ที่เคยมีมาแล้วเช่น ความผิดฐานกระทำการอันเป็นคอมมูนิตส์ เป็นต้น สำหรับอำนาจในการรับฟ้องคดีของศาลทหารแบ่งได้ดังนี้ ศาลจังหวัดทหารจะรับฟ้องคดีที่จำเลยมีชั้นยศเป็นนายทหารประทวน ศาลมณฑลทหารจะรับฟ้องคดีที่จำเลยมีชั้นยศตั้งแต่ชั้นประทวนจนถึงชั้นยศสัญญาบัตรแต่ไม่เกินพันเอก ส่วนศาลทหารกรุงเทพจะรับฟ้องได้หมดทุกชั้นยศ นอกจากนี้ชั้นยศจำเลยมีผลต่อการแต่งตั้งองค์คณะตุลาการที่จะพิจารณาคดีด้วย โดยองค์คณะตุลาการที่จะแต่งตั้งนั้นอย่างน้อยต้องมีผู้ที่มียศเท่ากันหรือสูงกว่าจำเลย

คดีที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร

          แยกเป็น 4 ประเภท คือ

  • ประเภทแรก ได้แก่บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารกับบุคคลที่ไม่อยู่ในอำนาจศาลทหารกระทำผิดด้วยกัน
  • ประเภทที่สอง ได้แก่คดีที่เกี่ยวพันกับคดีที่อยู่ในอำนาจศาลพลเรือน
  • ประเภทที่สาม ได้แก่คดีที่ต้องดำเนินในศาลเยาวชนและครอบครัว เนื่องจากอายุของผู้กระทำความผิด ซึ่งคงจะมีแต่เฉพาะนักเรียนทหาร
  • ประเภทที่สี่ ได้แก่คดีที่ศาลทหารเห็นว่าไม่อยู่ในอำนาจศาลทหาร คดีประเภทนี้คงจะต้องประกอบด้วยหลักเกณฑ์ 2 ประการ ประการแรก คือ ได้มีการฟ้องคดียังศาลทหารแล้ว ประการที่สอง คือ เป็นคดีที่ไม่เข้าหลักเกณฑ์ในสามประเภทแรก

บุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร

  • กลุ่มแรก ได้แก่ ทหาร แยกเป็น 2 ประเภท คือ
  1. ทหารประจำการได้แก่ ทหารที่ยึดเอาการรับราชการทหารเป็นอาชีพ ซึ่งมีทั้งทหารประจำการชั้นสัญญาบัตร ชั้นประทวน และทหารที่ไม่มียศที่เรียกกันว่า พลทหารอาสาสมัคร
  2. ทหารกองประจำการ คือ ทหารเกณฑ์ หรือทหารที่สมัครเข้ากองประจำการเพราะกฎหมายบังคับให้ต้องเป็นทหาร
  • กลุ่มที่สอง ได้แก่ นักเรียนทหาร หมายถึง นักเรียนทหารที่กำหนดขึ้นโดยกระทรวงกลาโหม เช่น นักเรียนนายร้อย นักเรียนนายเรือ นักเรียนเตรียมทหาร นักศึกษาวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎเกล้า นักเรียนทหารดังกล่าวหากมีอายุอยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องดำเนินคดีในศาลเยาวชนและครอบครัว หากพ้นเกณฑ์อายุก็จะต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหาร
  • กลุ่มที่สาม คือบุคคลที่มิได้เป็นทหาร จำแนกได้เป็น 3 ประเภท คือ

  1. บุคคลที่เป็นข้าราชการกลาโหมพลเรือน เป็นลูกจ้างในสังกัดกระทรวงกลาโหม เมื่อกระทำความผิดต่อหน้าที่ราชการโดยมาจำกัดพื้นที่ หรือความผิดอาญาอื่นโดยจำกัดพื้นที่เฉพาะในบริเวณที่ตั้งหน่วยทหาร
  2. บุคคลที่อยู่ในความควบคุมของเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารโดยชอบด้วยกฎหมาย เช่น พยานที่ถูกศาลทหารออกหมายจับมาเพื่อเบิกความ
  3. บุคคลที่เป็นเชลยศึกหรือชนชาติศัตรูในช่วงเวลาที่มีศึกสงคราม

การแต่งตั้งตุลาการ


  • ตุลาการศาลทหารสูงสุด และตุลาการศาลทหารกลาง ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ แต่งตั้งและถอดถอน
  • ตุลาการศาลทหารชั้นต้น และศาลประจำหน่วยทหาร พระมหากษัตริย์ทรงมอบพระราชอำนาจแก่ผู้บังคับบัญชาทหาร และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้แต่งตั้งและถอดถอน
  • ตุลาการในศาลทหารชั้นต้น ผู้มีอำนาจบังคับบัญชาจังหวัดทหาร เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาลจังหวัดทหาร ผู้มีอำนาจบังคับบัญชามณฑลทหาร เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาลมณฑลทหาร ผู้มีอำนาจบังคับบัญชาหน่วยทหาร เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาลประจำหน่วยทหารและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาลทหารกรุงเทพ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น