กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง

กระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง
ก. องค์กรและบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง
  (1) คู่ความ  ในคดีแพ่งไม่ว่าจะเป็นผู้ยื่นฟ้อง (โจทก์) หรือผู้ถูกฟ้อง (จำเลย) กฎหมายจะเรียกว่าคู่ความ นอกจากนั้นคู่ความยังหมาย ความถึงผู้ร้องเรียนสำหรับคดีไม่มีข้อพิพาทด้วย และเนื่องจากคดีแพ่งเป็นเรื่องของเอกชนที่จะต้องรักษาส่วนได้เสียของตนเอง กระบวนการยุติธรรมทางแพ่งจึงยินยอมให้คู่ความมอบหมายให้ผู้อื่นดำเนินการแทนได้ ดังนั้น คู่ความจึงหมายความรวมถึงบุคคลผู้มีสิทธิกระทำแทนคู่ความตามกฎหมาย หรือในฐานะทนายความด้วยนอกจากนี้บุคคลภายนอกที่ศาลอนุญาตให้ร้องสอดเข้ามาเป็นโจทก์ หรือจำเลยในภายหลัง ก็ถือว่าเป็นคู่ความด้วยเช่นกัน
  (2) ศาลยุติธรรม  ศาลเป็นผู้พิพากษาคดีแพ่งที่คู่ความฟ้องร้องกัน พระธรรมนูญศาลยุติ-ธรรม ศาลแบ่งออกเป็น ๓ ชั้น คือ ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา
  การฟ้องร้องคดีแพ่งจะต้องฟ้องที่ศาลชั้นต้นเป็นลำดับแรก แต่เนื่องจากศาลชั้นต้นมีหลายประเภท และตั้งอยู่ในทุกจังหวัด การเสนอคำฟ้องจะต้องเสนอให้ถูกศาล มิฉะนั้นศาลก็จะไม่รับฟ้องหรือยกฟ้องเสีย
  (3) เจ้าพนักงานบังคับคดี  พนักงานบังคับคดี คือ เจ้าพนักงานของศาลหรือพนักงานอื่นผู้มีอำนาจตามหาบัญญัติแห่งกฎหมาย ที่ใช้อยู่ในอันที่จะปฏิบัติตามวิธีการที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย เพื่อ คุ้มครองสิทธิของคู่ความในระหว่างพิจารณา หรือเพื่อบังคับตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง
  การที่ศาลจะให้ผู้ใดเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดี ศาลจะต้องออกหมายบังคับคดีตั้งผู้นั้นเป็นเจ้าพนักงานบังคับคดี สำหรับในกรุงเทพมหานคร ศาลจะตั้งเจ้าพนักงานในกรมบังคับคดี กระทรวงยุติธรรม ส่วนในจังหวัดอื่น จ่าศาลจะทำหน้าที่เป็นเจ้าพนักงานบังคับคดี
  เจ้าพนักงานบังคับคดีถือเป็นเจ้าพนักงานของศาล จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศาล เมื่อศาลสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีปฏิบัติหน้าที่อย่างใด เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีสิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาคำสั่งของศาลได้
ข. การดำเนินกระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง มีหลักการดังนี้
  (1) บุคคลที่เกี่ยวข้องในกระบวนการยุติธรรมทางแพ่ง ได้แก่ ผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย ผู้เสียหาย คู่ความ ศาล เจ้าพนักงานบังคับคดี และในบางกรณีมีอัยการเข้าเกี่ยวข้องด้วย
  (2) กระบวนการยุติธรรมทางแพ่งเริ่มต้น โดยคู่ความเสนอคำฟ้องต่อศาล จากนั้นศาลจะทำการพิพากษาคดี และเจ้าพนักงานบังคับคดีจะเป็นผู้จัดการบังคับให้บรรลุผลตามคำพิพากษา
  (3) การพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น จะต้องกระทำในศาลโดยเปิดเผยต่อหน้า คู่ความที่มาศาล แต่ในศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกานั้นไม่จำต้องกระทำโดยเปิดเผย ศาลเพียงแต่พิจารณาจากพยานหลักฐานในสำนวนก็วินิจฉัยคดีได้
  (4) การบังคับคดีแพ่งจะทำต่อเมื่อลูกหนี้ตามคำพิพากษาไม่ยอมปฏิบัติตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล หรือในบางกรณีถ้าไม่อาจปฏิบัติดังกล่าวได้ ศาลอาจมีคำสั่งให้ จับกุมขังลูกหนี้ตามคำพิพากษาได้
สาระสำคัญของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
  กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่ง คือ กฎหมายที่ว่าด้วยระเบียบวิธีการดำเนินการฟ้องร้องดำเนินคดี และบังคับคดีในกรณีที่มีข้อพิพาทโต้แย้งสิทธิกันในทางแพ่ง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ กฎหมายที่ว่าด้วยการบังคับสิทธิและหน้าที่ของเอกชนในทางแพ่งนั่นเอง กฎหมายนี้ได้แก่ ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง 
  กฎหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งถือเป็นสาขาหนึ่งของกฎหมายมหาชน เหตุที่จัดกฎหมายนี้เป็นกฎหมายมหาชน เพราะพิจารณาในแง่ที่ว่าคู่กรณีที่ประสงค์จะให้การเป็นไปตามสิทธิซึ่งบังคับเองไม่ได้ แต่ต้องมาขอความช่วยเหลือจากศาลของรัฐ จึงเข้าลักษณะเป็นกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับราษฎรในฐานะที่รัฐมีอำนาจเหนือราษฎร
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แบ่งออกเป็น 4 ภาค ได้แก่
  ภาค 1 บททั่วไป
  ภาค 2 วิธีพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น
  ภาค 3 อุทธรณ์ ฎีกา
  ภาค 4 วิธีการชั่วคราวก่อนศาลพิพากษา และการบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่งศาล
  กฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมีเรื่องที่ต้องศึกษามากมายและยุ่งยากซับซ้อน แต่ที่จะนำมากล่าวถึงในที่นี้เป็นเพียงการศึกษาอย่างคร่าว ๆ เพื่อทำความรู้จักกับกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งเท่านั้น ซึ่งมีเรื่องที่จะศึกษาดังต่อไปนี้
  1. การฟ้องคดีแพ่ง
การฟ้องคดีแพ่ง จะกระทำได้ต่อเมื่อมีข้อโต้แย้งเกิดขึ้นเกี่ยวกับสิทธิหรือหน้าที่ของบุคคลใดตามกฎหมายแพ่ง หรือบุคคลใดจะต้องใช้สิทธิทางศาล บุคคลนั้นชอบที่จะเสนอคดีของตนต่อศาลส่วนแพ่งที่มีเขตอำนาจได้
  2. การพิจารณาความแพ่ง 
  (1) หลักการริเริ่มอยู่ที่คู่ความ คำฟ้อง คำให้การหรือคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีแพ่ง คู่ความต้องระวังรักษาผลประโยชน์ของตนเอง
  (2) การพิจารณาคดีเป็นไปโดยเคร่งครัดต่อแบบพิธี คู่ความที่ไม่ปฏิบัติตามแบบพิธีย่อมได้รับผลร้ายบางประการ
  (3) ไม่จำเป็นต้องถือเอาความสัตย์จริงเป็นใหญ่ ศาลจะพิพากษาให้เป็นไปตามฟ้องของโจทก์ และคำรับของจำเลย เพราะคู่ความต้องระวังผลประโยชน์ในทางคดีของตนเอง มีข้อยกเว้นอยู่ในกรณีที่ศาลอาจยกข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นมาอ้างได้ โดยศาลอาจวินิจฉัยไปโดยไม่ฟังคำรับของคู่ความก็ได้
  ๓. การพิพากษาคดีแพ่ง
  ศาลพิพากษาตามข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณา แต่จะพิพากษาให้เกินคำขอไม่ได้
  4. การบังคับคดีแพ่ง
  (1) ต้องมีคำพิพากษาก่อน และขอให้ศาลมีคำบังคับอีกชั้นหนึ่งจึงจะบังคับคดีได้
  (2) การบังคับคดีต้องกระทำโดยรัฐ คู่ความจะบังคับคดีตามคำพิพากษา โดย ตนเองไม่ได้ ต้องให้เจ้าพนักงานตามที่กฎหมายระบุไว้บังคับคดีให้
การฟ้องศาลในคดีแพ่ง
           ในคดีแพ่งเป็นคดีที่ไม่ต้องแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเช่นคดีอาญา แต่คดีแพ่งผู้เสียหาย หรือผู้ที่มีส่วนได้เสียจะต้องเป็นผู้ดำเนินคดี โดยการฟ้องร้องต่อศาลเอง ซึ่งส่วนใหญ่ผู้ที่ฟ้องร้อง ในคดีแพ่งต่อศาลมักจะมอบหมายให้ทนายความเป็นตัวแทนในการฟ้องร้อง เนื่องจากมีความรู้ทางด้านกฎหมาย สามารถที่จะต่อสู้คดีได้ การฟ้องร้องในทาง แพ่งมีลักษณะที่เราจะฟ้องร้อง ต่อศาล ให้พิจารณาออกคำสั่ง และตัดสินได้ดังนี้
  1. การร้องต่อศาลฝ่ายเดียว 
            ซึ่งการร้องฝ่ายเดียวนี้เป็นการร้องขอต่อศาลโดยไม่มีคู่กรณี เพื่อให้ศาลออกคำสั่งตามที่ตนต้องการ เช่น การร้องต่อศาลเพื่อให้แต่งตั้งตนเองเป็นผู้จัดการมรดก การร้องต่อศาลในการอายัดทรัพย์เพื่อชำระหนี้ การร้องต่อศาล เพื่อสั่งให้ทำการสมรส การร้องต่อศาลฝ่ายเดียวหรือการร้องต่อศาลโดยไม่มีคู่กรณี ผู้ร้องไม่ต้องแต่งตั้งทนายก็ได้เพียงแต่ไปปรึกษากับ เจ้าหน้าที่ธุรการศาลเพื่อขอคำแนะนำช่วยเหลือทางเจ้าหน้าที่ธุรการศาลจะช่วยดำเนินการได้
  2. การฟ้องต่อศาลในคดีแพ่งโดยมีคู่กรณี ฝ่าย 
            ฝ่ายที่ฟ้องจะเป็นฝ่ายที่เสียหายซึ่งเรียกกันว่า ฝ่ายโจทก์ และฝ่ายที่ถูกฟ้องจะเป็นฝ่ายจำเลย เมื่อเกิดคดีในทางแพ่ง ฝ่ายโจทก์จะไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจ เช่น คดีอาญาไม่ได้ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่รับแจ้งความ เคยมีคดีความทางแพ่ง ที่ไปแจ้งความต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่บ่อย ๆ ได้แก่คดีที่สามีภรรยาต้องการหย่าขาดจากกันก็พากัน ไปแจ้งความประสงค์ที่จะหย่าขาดจากการเป็นสามีภรรยากันทางเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องแจ้งให้ทราบว่าตนเองไม่มีอำนาจรับแจ้งความในเรื่องการหย่า ต้องไปแจ้งความประสงค์การหย่ากัน ที่อำเภอ และถ้าหากฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่ยินยอมหย่า จะต้องฟ้องร้องต่อศาลเพื่อพิจารณาการหย่า การฟ้องคดีแพ่งที่มีคู่กรณี ปกติฝ่ายโจทก์มักจะหาทนายความเพื่อปรึกษาปัญหาต่าง ๆ ทางด้านกฎหมาย และแต่งตั้งทนายความให้เป็นผู้ฟ้องร้องคดีต่อศาลแทน ซึ่งการฟ้องคดีแพ่งที่กรุงเทพมหานคร จะฟ้องร้องต่อศาลแพ่ง และศาลแพ่งธนบุรี ถ้าอยู่เขตฝั่งธนบุรีเดิม ส่วนในต่างจังหวัดก็ฟ้องร้องต่อศาลจังหวัดนั้น
  3. การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา 
            ตามปกติเมื่อเกิดคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจะฟ้องคดีแพ่งควบคู่กับไปคดีอาญาต่อศาลอาญาที่รับฟ้องคดีอาญา เช่น โจรวิ่งราวทรัพย์สร้อยคอทองคำของผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งยืนรอรถประจำทางอยู่ และได้นำสร้อยคอไปขาย ต่อมาโจรวิ่งราว ทรัพย์ผู้นั้นถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตามจับได้ และให้การรับสารภาพ เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงนำสำนวนการสอบสวน และโจรวิ่งราวทรัพย์ผู้นั้น ส่งให้อัยการเพื่อดำเนินการส่งฟ้องศาล การกระทำผิดวิ่งราวทรัพย์เป็นคดีความผิดทางอาญา ส่วนการนำสร้อยคอ ทองคำไปขายเสียแล้ว ทางผู้เสียหายจะต้องได้สร้อยคำทองคำคืน การเรียกร้องที่จะได้สร้อยคอทองคำคืนเป็นคดีความทางแพ่ง คดีแพ่งลักษณะเช่นนี้จะฟ้องคดีแพ่งควบคู่ไปกับคดีอาญาได้เลยต่อศาลอาญาในเขตกรุงเทพฯ เดิม หรือศาลอาญาธนบุรีในเขตฝั่งธนบุรีเดิม แต่ถ้าเป็นคดีที่เกิดขึ้นในต่างจังหวัด ก็ฟ้องต่อศาลจังหวัดนั้น
 แต่ในการฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา จะฟ้องคดีอาญาต่อศาลอาญา และฟ้องร้องทางแพ่งต่อศาลแพ่งต่างหากก็ย่อมทำได้





ที่มา    http://www.oknation.net/blog/korung/2009/12/12/entry-1

1 ความคิดเห็น:

  1. ผมถูกฟ้องในฐานะผู้ค้ำประกันผมยอมรับในการค้ำประกันหนี้รายนี้ในปี๕๒
    ต่อมาในปี๕๕ ผู้กู้ตามที่กล่าวข้างต้นใช้หลักทรัพย์ของตนเองค้ำประซึ่งหลักทรัพย์ผู้กู้เพียงพอ แต่ธนาคารกับนำหลักทรัพย์ในปี๕๒ของผมไปค้ำประหนี้ในปี๕๕ โดยผมไม่ทราบและธนาคารก็ไม่ให้ทราบในเดือนเมษายนในปี๕๕
    ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ผู้กู้รายนี้ก็กู้อีก ธนาคารก็ทำเช่นเดียวกันกับในเดือนเมษายน
    ต่อมาผมได้เห็นเอกสารการกู้ในเดือนเมษายนพบว่าทำเป็นการกู้๒สัญญา วัน เดือน ปี เดียวกัน ยอดเงินเท่ากัน เลขที่หนังสือกู้เดียวกัน สัญญาแรกกู้เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย ทำการเบิกเงิน๔ครั้งนี้ ๕๘ สัญญาที่๒ เป็นการกู้เครดิตเงินสดรายบุคคล เมื่อทำหนังสือถามธนาคารสัญญาแบบนี้มีด้วยหรือธนาคารไม่ตอบแต่ฟ้องร้องให้รับผิดชอบหนี้รายนี้ การกู้เครดิตมีกฎและเงื่อนไขว่าไม่ต้องใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันใช้ทั้งประเทศ หนังสือกู้ใบนี้แจ้งว่าจ่ายเงินให้ผู้กู้งวดสุดท้ายในเดือน มิถุนายน แต่เอกสารการกู้ซึ่งควบกับสัญญาแรก ทำสัญญาที่ธนาคารเมื่อ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๘ สัญญาแบบนี้ธนาคารนำมาฟ้องร้องได้ ประชาชนทั้งประเทศรับได้ใหมถ้าเจอแบบนี้มีรายละเอียดที่หักล้างกันเองชัดเจน
    การกู้ในเดือนกรกฎาคม๒๕๕๕ ธนาคารให้กู้ ๑๐ กว่าล้าน เพื่อก่อสร้างตึก ๒ ชั้น ๔ ห้อง แต่ไม่ต้องเขียนโครงการ ไม่มีการก่อสร้าง ธนาคารอนุมัติ ธนาคารบอกว่าเป็นไปตาม กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ซึ่งทั้ง๒เคสเป็นเรื่องจริงพิสูจน์ด้วยหลักฐานของธนาคาร กระบวนความยุติธรรมบอกว่าไม่ว่าจะเป็นคดีแพ่ง หรือ คดีอาญาต้องพิสูจน์เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริง ผมอยากให้ประชาชนทั้งประเทศทราบว่าที่ผมได้รับมันไม่จริง ยังมีอีก ๓ เรื่องที่ผมต้องมารับหนี้จากขบวนการทุจริตของธนาคารกับผู้กู้ ผมขอบอกว่าธนาคารแห่งนี้ยิ่งใหญ่มาก หน่วยงานที่รัฐตั้งขึ้นมาเพื่อตรวจสอบการทุจริตยังกล้าแตะต้องเลย ทำให้ผมต้องชดใช้หนี้ประมาณ ๕๐ ล้านบาท หลังจากนี้ผมจะทำเอกสารและหาหลักฐานให้สมบูรณ์ทีสุดเพื่อให้สือมวลชนทราบ ทั้งในและต่างประเทศ มันวางแผนที่จะยึดทรัพย์ผมมาตั้งแต่ต้น ธนาคารมันทำหลักฐานเล่นงานผมมันยังตอบไม่ได้เลย ผมเชื่อว่าเอกสารผมถ้าได้ออกสือไปประชาชนทั้งประเทศจะได้รู้กลโกง ของธนาคารแห่งนี้

    ตอบลบ