การจำนำ

 
          สัญญาจำนำ คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่า ผู้จำนำ ส่งมอบสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเป็นผู้ครอบครองเรียกว่า ผู้รับจำนำ เพื่อประกันการชำระหนี้ ทรัพย์สินที่จำนำได้คือ ทรัพย์สินที่สามารถเคลื่อนที่ได้ เช่น วิทยุ โทรทัศน์ ช้าง ม้า โค กระบือ และเครื่องทองรูปพรรณ สร้อย แหวน เพชร เป็นต้น
      ตัวอย่างเช่น นาย ก กู้เงินนาย ข จำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท เอาแหวนเพชรหนึ่งวงมอบให้นาย ข ยึดถือ ไว้เป็นประกันการชำระหนี้เรียกว่า นาย ก เป็นผู้จำนำ และนาย ข เป็นผู้รับจำนำ ผู้จำนำอาจเป็นบุคคลภายนอก เช่น ถ้าแทนที่นาย ก จะเป็นผู้ส่งมอบแหวนเพชรให้เจ้าหนี้กลับเป็นนาย ค ก็เรียกว่า เป็นผู้จำนำ ผู้จำนำไม่จำเป็นต้องเป็นลูกหนี้เสมอไป

ผู้รับจำนำต้องระวัง
         ผู้จำนำต้องเป็นเจ้าของทรัพย์ คือ มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่จำนำใครอื่นจะเอาทรัพย์ของเขาไปจำนำหาได้ไม่ เพราะฉะนั้นถ้ายักยอก ยืมหรือลักทรัพย์ของเขามาหรือได้ทรัพย์ของเขามาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายประการอื่นแล้วเอาไปจำนำ เจ้าของอันแท้จริงก็ย่อมมีอำนาจติดตามเอาคืนได้โดยไม่ต้องเสียค่าไถ่ เพราะฉะนั้นผู้รับจำนำต้องระวังควรรับจำนำจากบุคคลที่รู้จัก และเป็นเจ้าของทรัพย์เท่านั้น มิฉะนั้นอาจจะเสียเงินเปล่าๆ

สิทธิหน้าที่ผู้รับจำนำ
       เมื่อรับจำนำแล้วทรัพย์สินที่จำนำก็อยู่ในความครอบครองของผู้รับจำนำตลอดไป จนกว่าผู้รับจำนำจะรับคืนไปโดยการชำระหนี้ ในระหว่างนั้น

ผู้รับจำนำมีหน้าที่เกี่ยวกับทรัพย์สินที่จำนำบางประการ
     ๑. ต้องเก็บรักษาและสงวนทรัพย์ที่จำนำให้ปลอดภัย ไม่ให้สูญหาย หรือเสียหาย เช่น รับจำนำแหวนเพชรก็ต้องเก็บในที่มั่นคง ถ้าประมาทเลินเล่อวางไว้ไม่เป็นที่เป็นทาง คนร้ายลักไปอาจจะต้องรับผิดได้
     ๒. ไม่เอาทรัพย์ที่จำนำออกไปใช้เอง หรือให้บุคคลภายนอกใช้สอยหรือเก็บรักษา มิฉะนั้นถ้าเกิดความเสียหายใด ๆ ขึ้นต้องรับผิดชอบ เช่น เอาแหวนที่จำนำสวมใส่ไปเที่ยวถูกคนร้ายจี้เอาไปก็ต้องใช้ราคาให้เขา
     ๓. ทรัพย์สินที่จำนำบางอย่าง ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษา เช่น จำนำสุนัขพันธุ์ดี โค กระบือหรือม้าแข่ง อาจจะต้องเสียค่าหญ้า อาหารและยารักษาโรค ผู้จำนำต้องชดใช้แก่ผู้รับจำนำ มิฉะนั้น ผู้รับจำนำก็มีสิทธิยึดหน่วงทรัพย์ที่จำนำไว้ก่อน ไม่ยอมคืนให้จนกว่าจะได้รับชำระหนี้ครบถ้วน

การบังคับจำนำ
     เมื่อหนี้ถึงกำหนดลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ ผู้รับจำนำก็มีสิทธิบังคับจำนำได้ คือ
     ๑. เอาทรัพย์สินที่จำนำออกขายทอดตลาด คือกระทำได้เองไม่ต้องขออำนาจซึ่งตามธรรมดาก็ให้บุคคลซึ่งมีอาชีพทางดำเนินธุรกิจขายทอดตลาดเป็นผู้ขาย แต่ก่อนที่จะขายทอดตลาดผู้รับจำนำจะต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนให้ชำระหนี้และหนี้ที่เกี่ยวเนื่องกัน เช่น ดอกเบี้ย ค่ารักษาทรัพย์ที่จำนำ เป็นต้น ภายในเวลาอันสมควร
      ๒. ถ้าผู้รับจำนำไม่บังคับตามวิธีที่ ๑ เมื่อลูกหนี้ไม่ชำระหนี้เพื่อไถ่ถอนทรัพย์ที่จำนำคืนไป เจ้าหนี้ผู้รับจำนำยื่นฟ้องต่อศาล ให้ขายทอดตลาดทรัพย์ที่จำนำก็ย่อมได้ ไม่มีอะไรห้าม

ข้อสังเกต
        (๑) เงินที่ได้จากการขายทอดตลาดต้องนำมาชำระหนี้พร้อมด้วยอุปกรณ์ คือค่าใช้จ่ายต่างๆ ถ้ามีเงินเหลือก็คืนแก่ผู้จำนำไป เพราะเป็นเจ้าของทรัพย์ ถ้ามีเจ้าหนี้หลายคน ผู้รับจำนำก็มีสิทธิได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น
          (๒) เมื่อถึงกำหนดชำระหนี้แล้วคู่สัญญาจะตกลงกันให้ทรัพย์สินที่จำนำตกเป็นของผู้รับจำนำก็ย่อมทำได้ ถือว่าเป็นการชำระหนี้ด้วยของอื่น แต่จะตกลงกันเช่นนี้ในขณะทำสัญญาจำนำ หรือก่อนหนี้ถึงกำหนดหาได้ไม่

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น