นิติกรรม

นิติกรรม

      นิติกรรมถือเป็นเรื่องสำคัญและมีส่วนเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นสิ่งที่บุคคลใช้สร้างสิทธิและหน้าที่ต่อกันได้อย่างอิสระโดยสมัครใจภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนด นิติกรรมถือเป็นพื้นฐานของการศึกษากฎหมาย โดยเฉพาะในเรื่องสัญญาต่างๆ เพราะไม่ว่าจะเป็นสัญญาซื้อขาย สัญญาให้ สัญญาเช่า สัญญาจ้างแรงงาน จ้างทำของ การสมรส หรือสัญญาอื่นๆ ถือเป็นการทำนิติกรรมทั้งสิ้น

"นิติกรรมนั้นเป็นเครื่องมือซึ่งกฎหมายมอบให้แก่บุคคล เพื่อใช้สร้างสิทธิและหน้าที่ผูกพันได้ตามความสมัครใจภายในขอบเขตแห่งกฎหมาย"

ความหมาย

      ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 149 "นิติกรรม หมายความว่า การใดๆอันทำลงโดยชอบด้วยกฎหมายและด้วยใจสมัคร มุ่งโดยตรงต่อการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลเพื่อจะก่อ เปลี่ยนแปลง โอน สงวน หรือระงับซึ่งสิทธิ"

       ความหมายของนิติกรรมตามมาตรา 149 นั้น แยกสาระสำคัญออกมาได้ดังนี้
       1.เป็นการกระทำของบุคคลซึ่งได้แสดงออกให้ผู้อื่นได้รับรู้หรือเข้าใจความประสงค์หรือความต้องการของตน ซึ่งเราเรียกการแสดงออกนี้ว่า "การแสดงเจตนา"

       2.การกระทำนี้ต้องที่ชอบด้วยกฎหมาย คือการกระทำที่ถูกต้องตามที่กฎหมายกำหนด

        3.การกระทำนี้ต้องเกิดจากความสมัครใจของผู้กระทำ คือเกิดจากความตั้งใจ ความยินยอมของผู้กระทำนั้นเอง

        4.ต้องกระทำโดยมีความมุ่งหมายที่จะผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคล นิติสัมพันธ์คือความผูกพันกันตามกฎหมาย ดังนั้นการผูกนิติสัมพันธ์ขึ้นระหว่างบุคคลย่อมมีความหมายถึง การที่บุคคลเข้ามามีความผูกพันกันตามกฎหมายซึ่งเป็นความผูกพันที่เกิดขึ้นด้วยความประสงค์ของบุคคลนั้นๆเองและทำให้เกิดสิทธิและหน้าที่ต่อกัน ไม่ใช่เกิดจากการที่กฎหมายกำหนดความผูกพันนั้น เช่น ในเรื่องของบิดามารดาและบุตร กฎหมายกำหนดไว้ว่าบิดามารดาต้องอุปการะเลี้ยงดูบุตร สิทธิและหน้าที่ดังกล่าวจึงเกิดขึ้นเนื่องจากกฎหมาย ไม่ใช่เกิดจากการที่บุคคลกระทำการโดยมุ่งหมายที่จะก่อให้เกิดความผูกพันตามกฎหมายด้วยตนเอง ฯลฯ

หากการกระทำใดผู้กระทำไม่ได้มุ่งหมายให้เกิดความผูกพันตามกฎหมาย การกระทำนั้นก็ไม่ถือเป็นนิติกรรม เช่น การชวนไปเที่ยว ชวนไปดูหนัง หรือพูดจาล้อเล่นกัน การกระทำดังผู้กระทำไม่ได้มุ่งที่จะก่อให้เกิดความผูกพันตามกฎหมาย หากไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงกันก็จำไปฟ้องร้องบังคับคดีไม่ได้

       5.ต้องเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดการ "เคลื่อนไหวในสิทธิ" คือ ก่อให้เกิดสิทธิ เปลี่ยนแปลงสิทธิ โอนสิทธิ สงวนสิทธิ หรือระงับสิทธิ การเคลื่อนไหวในสิทธินี้อาจจะเป็นการเคลื่อนไหวในบุคคลสิทธิหรือทรัพยสิทธิก็ได้ การกระทำใดๆที่ไม่เกิดการเคลื่อนไหวในสิทธิ การกระทำนั้นย่อมไม่ใช่นิติกรรม

การพิจารณาว่าการกระทำใดถือเป็นนิติกรรมหรือไม่ การกระทำนั้นต้องเข้าลักษณะทั้ง 5 ข้อที่กล่าวไว้ จะขาดข้อหนึ่งข้อใดไม่ได้

ตัวอย่างที่ 1. ก มอบแหวนเพชรให้ ข โดยเสน่หา การที่ ก มอบแหวนให้แก่ ข นี้(สัญญาให้)ถือเป็นการทำนิติกรรมอย่างหนึ่ง เพราะ ก แสดงออกให้ ข ได้รับรู้ถึงความประสงค์ของตนโดยการมอบแหวนเพชรให้(การแสดงเจตนา) ซึ่งเป็นการกระทำที่ชอบด้วยกฎหมายและเกิดจากความสมัครใจของ ก เอง มีผลผูกพันกันตามกฎหมาย(นิติสัมพันธ์) คือ หาก ก ไม่ยอมส่งมอบแหวนให้ ข มีสิทธิฟ้องร้องให้ ก ส่งมอบได้ และถือเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหวในสิทธิ คือ การโอนสิทธิ(โอนกรรมสิทธิ์ซึ่งเป็นทรัพยสิทธิ)

ตัวอย่างที่ 2. ก นัด ข ไปกินข้าว เช่นนี้การที่ ก นัด ข ไปกินข้าวไม่ถือเป็นการทำนิติกรรม เพราะแม้จะเป็นการแสดงออกให้ ข ได้รับรู้ถึงความประสงค์ของตนเองโดยการนัด ข ไปกินข้าว เป็นการชอบด้วยกฎหมาย(คือไม่มีกฎหมายห้ามไม่ให้ทำหรือกฎหมายบอกว่าทำแล้วผิด)และเกิดจากควาสมัครใจของ ข เอง แต่การกระทำดังกล่าวไม่ก่อให้เกิดนิติสัมพันธ์ ไม่เกิดสิทธิและหน้าที่ต่อกัน เป็นเรื่องของการมีปฏิสัมพันธ์โดยทั่วไประหว่างบุคคลในสังคมเท่านั้น ไม่อาจฟ้องร้องบังคับคดีกันต่อศาลได้ และไม่ก่อให้เกิดการเคลื่อนไหวในสิทธิแต่อย่างใด

ประเภทของนิติกรรม 

      นิติกรรมสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท ขึ้นอยู่กับว่าเราจะพิจารณาด้านใด เช่น

      1.นิติกรรมฝ่ายเดียวกับนิติกรรมสองฝ่าย นิติกรรมฝ่ายเดียวคือการแสดงเจตนาของบุคคลฝ่ายเดียวซึ่งครบหลักเกณฑ์ตามมาตรา 149 ทำให้เกิดเป็นนิติกรรมและมีผลทางกฎหมาย เช่น การทำพินัยกรรม การรับสภาพหนี้ การปลดหนี้ ฯลฯ ส่วนนิติกรรมสองฝ่าย(หรืออาจจะเป็นหลายฝ่ายก็ได้)คือการการแสดงเจตนาโต้ของบุคคลตั้งแต่สองฝ่ายขึ้นไป(ฝ่ายหนึ่งอาจมีหลายคนก็ได้) ซึ่งก่อให้เกิดเป็นสัญญาประเภทต่างๆขึ้น การแสดงเจตนาโต้ตอบกันที่จะถือเป็นสัญญา(นิติกรรมสองฝ่าย)นั้น ต้องเป็นการยอมรับการแสดงเจตนาของกันและกันด้วย สัญญาจึงจะเกิด เช่น ก เสนอขายรถแก่ ข เช่นนี้ถือว่า การเสนอขายนั้นเป็นนิติกรรม(นิติกรรมฝ่ายเดียว) หาก ข ปฏิเสธ(ซึ่งถือเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียวเช่นกัน)ไม่ยอมซื้อแสดงว่าการแสดงเจตนาโต้ตอบนั้นไม่ตรงกัน สัญญาซื้อขายก็ไม่เกิด แต่ถ้า ข ตกลงจะซื้อ การแสดงเจตนาของทั้งคู่ถือเป็นการรับกัน สัญญาซื้อขายก็เกิดขึ้น(ทำให้จากนิติกรรมฝ่ายเดียวก็กลายเป็นนิติกรรมสองฝ่ายขึ้นมา)

    2.นิติกรรมที่มีค่าตอบแทนกับนิติกรรมที่ไม่มีค่าตอบแทน เป็นกรณีที่พิจารณาถึงค่าตอบแทนเป็นหลักนิติกรรมที่ไม่มีค่าตอบแทนจะต้องเป็นนิติกรรมที่ทำให้เปล่า เช่น สัญญาให้ การทำพินัยกรรม สัญญาฝากทรัพย์โดยไม่มีบำเหน็จ ฯลฯ ส่วนนิติกรรมที่มีค่าตอบแทนนั้น ค่าตอบแทนอาจเป็นเงิน ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดก็ได้ เช่น สัญญาจ้างแรงงาน สัญญากู้ยืมเงินที่มีการคิดดอกเบี้ย สัญญาซื้อขาย ฯลฯ

     3.นิติกรรมที่ไม่มีแบบและนิติกรรมที่มีแบบ นิติกรรมที่ไม่มีแบบนั้นถือว่าเมื่อได้ทำนิติกรรมแล้วก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายทันที แม้จะไม่มีหลักฐานการทำสัญญาใดๆเลยก็ตาม และสามารถฟ้องร้องบังคับคดีกันได้ตามกฎหมาย เช่น สัญญาจ้างแรงงาน  สัญญาจ้างทำของ ฯลฯ ส่วนนิติกรรมที่มีแบบนั้นจะมีผลสมบูณ์ได้ก็ต่อเมื่อทำตามรูปแบบที่กฎหมายกำหนดเท่านั้น เช่นสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ต้องทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ถ้าไม่ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดก็เป็นโมฆะ หรือสัญญาเช่าซื้อต้องมีการทำเป็นหนังสือสัญญามิเช่นนั้นจะเป็นโมฆะ ฯลฯ



หลักเกณท์ในการพิจารณาความสมบูรณ์ของนิติกรรม
      1. ความสามารถของผู้ทำนิติกรรม
      2. วัตถุประสงค์ของนิติกรรม
      3.แบบของนิติกรรม
      4.การแสดงเจตนาทำนิติกรรม

ความสามารถของผู้ทำนิติกรรม
                “การใดมิได้เป็นไปตามบทบัญญัติของกฏหมายว่าด้วยความสามารถของบุคคล การนั้นเป็นโมฆีนะ”[1]   ความ สามารถของนิติกรรม นับว่าเป็นข้อสำคัญเบื้องต้นที่จะต้องคำนึงถึงเป็นประการแรก ทั้งนี้เพราะหากผู้ทำนิติกรรมมีความสามารถบกพร่องก็จะเป็นผลให้นิติกรรมที่ แสดงออกมานั้นมีผลเสื่อมเสียไปด้วย
ดังนั้นผู้ศึกษาจึงควรมีความเข้าใจในหลักฏกหมายที่บัญญติเกี่ยวกับความสามารถของบุคคลในการทำนิติกรรมก่อน

วัตถุประสงค์ของนิติกรรม
                “วัตถุประสงค์ของนิติกรรม คือ สิทธิหรือประโยชน์ที่ผู้แสดงเจตนาทำนิติกรรมมุ่งประสงค์และกำหนดขึ้นในการทำนิติกรรม”[2] ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า วัตถุประสงค์ของนิติกรรม คือ เจตนาที่ผู้แสดงเจตนาต้องการให้ปรากฏผลอย่างใดๆขึ้น    ประมวลกฏหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 บัญญัติว่า “การ ใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยชัดแจ้ง ด้วยกฎหมาย เป็นการพ้นวิสัย หรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็น โมฆะ” จากตัวบทของมาตราดังกล่าว สามารถแบ่งได้ดังนี้
(ก) มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยชัดแจ้งด้วย กฎหมาย       ในกรณีนี้ต้องดูเป็นเรื่องว่าฏกหมายห้ามอะไรบ้าง
ตัวอย่าง
            คนต่างด้าวซื้อที่ดินโดยคนไทยเป็นผู้รับโอนแทน วัตถุประสงค์ของสัญญาซื้อขายจึงเป็นการต้องห้ามโดยชัดแจ้งโดยกฏหมาย เพราะขัดต่อประมวลกฏหมายที่ดิน พ.ศ.2497 จึงตกเป็นโมฆะตามมาตร 113 (ปัจจุบันคือ มาตรา 150)[3]
(ข) เป็นการพ้นวิสัย    “กิจการใดมีวัตถุประสงค์เป็นการพ้นวิสัย ย่อมหมายความว่าประโยชน์หรือผลสุดท้ายที่คู้สัญญามุ่งประสงค์จะได้รับนั้น ไม่อาจอยู่ในวิสัยที่จะประสบผลสำเร็จได้เลยอย่างแน่แท้”[4]                                              
(ค) เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน      ในเรื่องนี้กฏหมายได้บัญญัติไว้อย่างกว้างๆ ไม่มีบทวิเคราะห์ศัพท์ไว้ ดังนั้นผู้ศึกษาจึงต้องศึกษาความหมายของเรื่องนี้จากคำอธิบายของนักวิชาการ ทางนิติศาสตร์และแนวคำพิพากษาฏีกา      ศ.ดร.จิ๊ด เศรษฐบุตร ได้อธิบายไว้ [5] สรุปได้ว่า หลักการเรื่องความสงบเรียบร้อยของประชาชน จำแนกออกเป็น 2ประการ คือ ความสมเรียบร้อยทางการเมือง และความสงบเรียบร้อยทางเศรษฐกิจ

โมฆะกรรม
มาตรา 172 บัญญัติว่า “โมฆะกรรมนั้นไม่อาจให้สัตยาบันแก่กันได้ และผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะยกความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ได้...”
โมฆะกรรม หมายถึง การกระทำ หรือการแสดงเจตนาที่เสียเปล่า ไม่มีผลในกฎหมายที่จะเป็นนิติกรรมผูกนิติสัมพันธ์ระหว่างบุคคล กล่าวคือ ไม่ทำให้บุคคลใด หรือสิ่งใดเปลี่ยนแปลงฐานะไป  คู่กรณียังคงอยู่ในฐานะเดิมเสมือนว่ามิได้เข้าทำนิติกรรมแต่ประการใดเลย และการเสียเปล่าของนิติกรรมนี้มีมาแต่แรกเริ่มทำนิติกรรม  เช่น แดง ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินจากดำ แต่ในสัญญาไม่ได้ไปจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ สัญญาซื้อขายจึงตกเป็นโมฆะ ดั้งนั้น แดง จึงฟ้องดำ เพื่อเรียกค่าเสียหายจากการที่ดำ ผิดสัญญาไม่ได้ เพราะเป็นการยกเอาความเสียเปล่าของนิติกรรมซึ่งเป็นโมฆะมาแต่แรกขึ้นอ้าง  หรือ เช่นกรณีสัญญาที่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชนซึ่งถือว่าเป็นสัญญาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายจึงไม่อาจบังคับกันได้ตามกฎหมาย คือถือว่าไม่มีสัญญาเกิดขึ้นเลย
เมื่อนิติกรรมไดไม่มีผลในทางกฎหมายแล้ว จึงเท่ากับว่าไม่ได้มีการทำนิติกรรมนั้นเกิดขึ้นเลยและบุคคลผู้มีส่วนได้เสีย จะยกเอาความเสียเปล่าขึ้นกล่าวอ้างก็ไม่ได้  เช่น นายแดง กู้ยืมเงินนายดำ จำนวน 100,000 บาท เพื่อไปซื้อยาบ้า  ในการกู้ยืมเงินครั้งนี้มีนายขาว เป็นผู้ค้ำประกัน และมีนายฟ้า นำที่ดินมาจำนองเป็นประกันการกู้เงิน  จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่าการกู้ยืมเงินเพื่อไปซื้อยาบ้าจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ที่ต้องห้ามตามกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะ  ผู้มีส่วนได้เสียทั้งหมดจะอ้างอิงเอาความเสียเปล่าแห่งโมฆะกรรมขึ้นกล่าวอ้างก็ไม่ได้ จากตัวอย่าง ถ้านายดำไม่ยอมชำระคืนเงินให้แก่นายแดง นายแดงจะไปฟ้องร้องนายดำ หรือฟ้องร้องผู้ค้ำประกัน หรือไปฟ้องบังคับจำนองต่อทรัพย์ของนายฟ้า  ไม่ได้ทั้งสิ้นเพราะถือว่าจะยกเอาความเสียเปล่าขึ้นกล่าวอ้างไม่ได้
 โมฆียกรรม
โมฆียกรรม(viodable)  หมายถึง การแสดงเจตนาทำนิติกรรมที่เมื่อทำขึ้นแล้วมีผลในกฎหมายผูกพันกันได้ แต่เป็นนิติกรรมที่ไม่สมบูรณ์ อาจถูกบอกล้างทำให้นิติกรรมนั้นตกเป็นโมฆะ  หรืออาจได้รับการให้สัตยาบันทำให้นิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์ได้
สำหรับสาเหตุที่นิติกรรมเป็นโมฆียะนั้นประกอบไปด้วยเหตุแห่งการแสดงเจตนาที่วิปริตที่สำคัญๆ  ดังนี้
    1) การแสดงเจตนาโดยถูกข่มขู่
    2) การแสดงเจตนาโดยสำคัญผิดในคุณสมบัติของบุคคลหรือทรัพย์ซึ่งตามปกติถือว่าเป็น
สาระสำคัญ
    3) การแสดงเจตนาโดยบกพร่องในเรื่องความสามารถ เช่น ผู้เยาว์ คนเสมือนไร้ความ
สามารถ คนไร้ความสามารถ หรือคนวิกลจริต
    4) การแสดงเจตนาเพราะถูกกลฉ้อฉล
       การบอกล้างโมฆียกรรม หมายถึง การแสดงเจตนาปฏิเสธหรือทำลายนิติกรรมที่เป็นโมฆียะกรรมนั้นให้เสียไป (ซึ่งนิติกรรมนั้นมีผลสมบูรณ์อยู่ในขณะนั้น) ให้มีผลเป็นโมฆะย้อนหลังไปถึงเวลาเริ่มต้นทำนิติกรรมนั้นและคู่กรณีก็จะกลับคืนสู่ฐานะเดิมและถ้าเป็นการพ้นวิสัยที่จะกลับคืนสู่ฐานะนั้นได้ก็ให้ได้รับค่าเสียหายชดเชย  ส่วนวิธีการบอกล้างนิติกรรมที่เป็นโมฆียะนั้นกฎหมายไม่ได้กำหนดแบบเอาไว้ดังนั้นแม้นิติกรรมที่โมฆียะจะเป็นนิติกรรมที่มีแบบ เช่น กฎหมายกำหนดไว้ว่าจะต้องทำเป็นหนังสือ หรือทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่  หรือนิติกรรมที่ต้องทำเป็นหนังสือเพียงอย่างเดียว  การบอกล้างนิติกรรมนั้นก็ไม่จำเป็นที่จะต้องทำเป็นหนังสือด้วย การบอกล้างอาจทำด้วยวาจา หรือทำเป็นหนังสือก็ได้ แต่ต้องบอกล้างเสียภายในกำหนด 1 ปี นับแต่เวลาที่อาจให้สัตยาบันได้
การให้สัตยาบัน หมายถึง การเห็นชอบด้วยกับนิติกรรมที่ทำขึ้นเป็นโมฆียะและได้รับรองผลของนิติกรรมที่เป็นโมฆียกรรมให้มีผลสมบูรณ์บังคับกันได้ในระหว่างคู่กรณี  เช่น เด็กหญิงแดงผู้เยาว์ ไปทำนิติกรรมซื้อที่ดินจากนายดำ ราคา 100,000 บาท โดยไม่ได้รับความยินยอมจากนายขาว  ผู้แทนโดยชอบธรรม นิติกรรมนั้นย่อมมีผลเป็นโมฆียะ  เมื่อนายขาว ทราบเรื่องได้พิจารณาดูแล้วเห็นว่าการทำนิติกรรมซื้อที่ดินดังกล่าวผู้เยาว์ไม่ได้ถูกเอาเปรียบแต่อย่างได  นายขาวก็อาจให้สัตยาบันโดยปากเปล่า หรือทำเป็นหนังสือไปยังนายดำ เพื่อให้สัญญามีผลบังคับกันได้ตลอดไปได้







ที่มา
http://www.oknation.net/blog/knownledgelaw/2008/01/18/entry-1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น