ที่มารัฐธรรมนูญ 60

     วันนี้ (วันที่ 6 เมษายน 2560) จะมีพิธีพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับแรกของรัชกาลปัจจุบัน (


รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
             รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นกฎหมายลำดับศักดิ์สูงสุดแห่งราชอาณาจักรไทย กฎหมายอื่นใดจะขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญไม่ได้ รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายว่าด้วยการจัดระเบียบการปกครองของประเทศ ซึ่งตั้งแต่ พ.ศ. 2475 ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญแล้วทั้งสิ้น 19 ฉบับ อันแสดงให้เห็นถึงความขาดเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศ รัฐธรรมนูญที่มีผลบังคับใช้ ณ เวลานี้ ( เช้า วันที่ 6 เมษายน 2560) คือ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 และที่แก้ไขเพิ่มเติม(อีกสามฉบับ)

       รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560  ที่จะประกาศใช้นี้ เป็นรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ฉบับที่ 20 ซึ่งจัดร่างโดยคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ในระหว่าง พ.ศ. 2557-2560 ภายหลังการรัฐประหารในประเทศโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 โดยรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จะทรงลงพระปรมาภิไธยในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิต กรุงเทพมหานคร และมีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับสนองพระราชโองการ

ที่มารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560
       สืบเนื่องมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติกระทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 22พฤษภาคม พ.ศ. 2557 และยกเลิกรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช2550 ในวันที่ 22 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 ได้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 ซึ่งเนื้อหาในรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวได้กำหนดให้มี "คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ" จำนวน 36 คน ซึ่งสรรหามาจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ คณะรัฐมนตรี และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เพื่อร่างรัฐธรรมนูญถาวรฉบับใหม่ และกำหนดให้คณะกรรมมาธิการฯ ร่างรัฐธรรมนูญให้เสร็จภายใน 120 วันนับแต่วันที่ได้รับความเห็นหรือข้อเสนอแนะจากสภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งในวันที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 เทียนฉาย กีระนันทน์ ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมมาธิการฯ ซึ่งมีบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน

        คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้ครอบคลุมต่าง ๆ ตามที่มาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำหนด ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เดิมมี 315มาตรา หลังจากได้รับข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติแล้วนั้น คณะกรรมมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญได้ปรับแก้เนื้อหาให้เหลือ 285 มาตรา แต่ในวันที่ 6 กันยายน พ.ศ.2558 สภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของคณะกรรมาธิการ ส่งผลให้สภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมมาธิการฯ สิ้นสุดลงในวันนั้น

ซึ่งตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 39/1 ได้กำหนดว่า "ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง หรือนับแต่วันที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง หรือนับแต่วันที่ร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันตกไป ให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญขึ้นคณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกไม่เกินยี่สิบคน เพื่อทำหน้าที่ร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยแปดสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้ง"

        ในวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2558 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้ลงนามคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจำนวน21 คนโดยมีชัย ฤชุพันธุ์เป็นประธาน

คณะกรรมการผู้เขียนร่างรัฐธรรมนูญ 2560  
      จำนวน 21 คน ประกอบด้วย มีชัย ฤชุพันธุ์ (ประธาน) และคณะกรรมการอื่น ได้แก่ กีระณา สุมาวงศ์ จุรี วิจิตรวาทการ ชาติชาย ณ เชียงใหม่ ธนาวัฒน์ สังข์ทอง ธิติพันธุ์ เชื้อบุญชัย นรชิต สิงหเสนี พลเอก นิวัติ ศรีเพ็ญ ปกรณ์ นิลประพันธ์ ประพันธ์ นัยโกวิท ภัทระ คำพิทักษ์ ภุมรัตน ทักษาดิพงศ์ พลตรี วิระ โรจนวาศ เธียรชัย ณ นคร ศุภชัย ยาวะประภาษ สุพจน์ ไข่มุกด์ อมร วาณิชวิวัฒน์ อภิชาต สุขัคคานนท์ อุดม รัฐอมฤต อัชพร จารุจินดา และพลเอก อัฏฐพร เจริญพานิช

หลักการ เนื้อหาตามร่างรัฐธรรมนูญ 2560
       คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ได้ออกมาชี้แจงหลักการ แนวคิดที่ใช้ และเนื้อหาโดยภาพรวมของร่างรัฐธรรมนูญก่อนจะมีการลงประชามติ  มีสาระสำคัญเขียนเป็นภาษาพูดที่ประชาชนเข้าใจง่ายว่า
1. รัฐธรรมนูญไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการเมืองอย่างเดียว แต่เกี่ยวข้องกับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนและทิศทางการพัฒนาประเทศเพื่อให้ลูกไทยหลานไทยอยู่ในโลกยุคต่อไปได้ทัดเทียมชาติอื่นได้อย่างยั่งยืน

2.ปัญหาของประเทศไทย คือ 1)ประเทศไม่เจริญ / ย่ำอยู่กับที่ / ดูทันสมัยแต่ไม่พัฒนา 2) เหลื่อมล้ำ / ไม่เป็นธรรมในทุกมิติ  3) สังคมแตกแยก / ใช้สิทธิเสรีภาพกันอย่างไม่รับผิดชอบ ต้องได้รับการแก้ไข

3.สาเหตุของปัญหาดังกล่าวข้องต้น คือ
   1) คอร์รัปชัน/ความไม่โปร่งใสและไม่รอบคอบของการวางนโยบายสาธารณะ/การใช้จ่ายเงินแผ่นดินโดยไม่คุ้มค่า/การบริหารราชการแผ่นดินไม่โปร่งใส/ไม่รับฟังความเห็นประชาชน กฎหมายไม่ทันสมัย
   2) คุณภาพการศึกษาต่ำมาก/เน้นปริมาณ/ละเลยการพัฒนาเด็กเล็กซึ่งเป็นพัฒนาการที่สำคัญที่สุดของมนุษย์/ไม่เปิดให้เด็กพัฒนาศักยภาพได้ตามถนัด
   3) กฎหมายให้ดุลพินิจแก่เจ้าหน้าที่มากเกินไป/ใช้ระบบควบคุมมากเกินไป/จึงเกิดการใช้ดุลพินิจหลายมาตรฐานและการทุจริต/คนรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม/ขณะที่คนไทยเองก็ขาดระเบียบวินัยที่จะปฏิบัติตามกฎหมาย
   4) นักการเมืองจำนวนหนึ่งขาดคุณธรรมจริยธรรมอย่างรุนแรง เล่นพรรคเล่นพวก เอื้อประโยชน์พวกพ้อง ทุจริต
   5) ระบบราชการหย่อนประสิทธิภาพ
   6) ไม่มียุทธศาสตร์พัฒนาประเทศที่ประชาชนและรัฐเห็นดีเห็นงามร่วมกันที่มีความต่อเนื่องในระยะยาว จึงเดินเป๋ไปเป๋มาตามลมการเมือง
   7) ค่านิยมประหลาด บริโภคนิยม/วัตถุนิยม/ไม่คิดวางแผนระยะยาวให้ลูกหลาน คิดถึงแต่ประโยชน์เฉพาะหน้า/ขาดวินัย/ไม่มีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวม อยากทำอะไรก็ทำ

4.หลักการและประเด็นเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญ
   1) รับรองความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ไว้ในบททั่วไปเพื่อคลุมทุกเรื่องว่าทุกคนต้องเสมอกัน และวางหลักว่ารัฐมีหน้าที่ทำสิ่งดี ๆ ให้แก่บ้านเมือง สิ่งที่บัญญัติไว้เป็นแต่เพียงมาตรฐานขั้นต่ำที่ต้องทำเท่านั้น จะทำดีมากกว่านั้น เป็นประโยชน์แก่ประชาชนมากกว่านั้น ทำได้หมด แต่ทำเรื่องเลว ๆ หรือเรื่องที่ รธน หรือ กฎหมาย ห้ามไว้ไม่ได้
   2) ประชาชน/ชุมชนมีสิทธิเสรีภาพมากขึ้น อะไรที่ รัฐธรรมนูญ หรือ กฎหมาย ไม่ได้ห้ามไว้ สามารถทำได้หมด ไม่ต้องเขียนจาระไนแบบเก่า ๆ ที่หลุดง่าย
   3)การออก กฎหมาย ที่จำกัดสิทธิ ต้องผ่านการรับฟังความเห็นประชาชน/ ผ่านรัฐสภา/ ต้องไม่ขัดหลักนิติธรรม / ไม่เกินจำเป็น ประชาชนและชุมชนขอให้ศาลตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายได้เสมอ
   4) การใช้สิทธิเสรีภาพของคนทุกคนต้องมีความรับผิดชอบต่อผู้อื่น สังคม และประเทศชาติ ไม่ใช่ใช้อย่างไรก็ได้
   5) ไม่ได้ยกเลิกบัตรทอง แต่กำหนดชัดว่าให้ปรับปรุงคุณภาพและประสิทธิภาพให้ดีขึ้น รวมทั้งสิทธิประกันสังคมด้วย
    6) ไม่ได้ยกเลิกเบี้ยผู้สูงอายุ แถมยังกำหนดให้มีเบี้ยยังชีพสำหรับบุคคลผู้ยากไร้ด้วยไม่ว่าจะมีอายุเท่าไร
    7) เน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้มีคุณภาพตามศักยภาพของแต่ละคนที่แตกต่างกัน และมีคุณธรรม เพื่อให้สอดคล้องกับคุณลักษณะของประชากรในอนาคตที่ต้องมี "creativity-collaboration-talent"
    8) รัฐต้องจัดการพัฒนาเด็กเล็กอย่างน้อยตั้งแต่ 2 ขวบ เรื่อยไปจนชั้นอนุบาล ประถม จนจบภาคบังคับ (ม.3) โดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย รวมอย่างน้อย 14 ปี จบ ม.3 แล้วให้เลือกตามถนัดจะเรียนต่อหรือจะไปทำงานก็ได้ แต่ถ้าจะเรียนต่อต้องได้เรียน โดยมีกองทุนสนับสนุน เป็นกองทุนใหม่ ไม่ใช่ กยศ / ขณะนี้ คสช เห็นด้วยกับแนวทางนี้และมีคำสั่งให้เรียนฟรีได้ถึง ม.6/ปวช.3 ด้วยแล้ว
     9) ต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ โดยกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ต้องเปิดเผยข้อมูลที่ไม่ใช่เรื่องลับเพื่อความโปร่งใส เพื่อให้ประชาชนและชุมชนมีส่วนร่วมในการตรวจสอบอย่างจริงจัง
    10) เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิตสำหรับผู้ทุจริตในการเลือกตั้ง/ต่อหน้าที่ ทรัพย์ที่ได้มาจากการทุจริตและที่ได้มาแทน ไม่ว่าจะโอนให้ใครไป ต้องถูกริบคืนให้ตกเป็นของแผ่นดิน
     11) ยังเป็นระบบ 2 สภาเหมือนเดิม คือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร(สส.) และ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) โดย สส. 500 (แบ่งเขต 350 บัญชีรายชื่อ 150) เป็นแบบเขตเดียวเบอร์เดียวเหมือนเดิมและกาบัตรใบเดียว แต่เพิ่มเติมเรื่องการนำคะแนนที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเขตได้ลงคะแนนไว้ทุกคะแนน (ทั้งคนที่ได้ /ไม่ได้รับเลือกเป็น สส เขต) ไปรวมนับคะแนนจากเขตอื่นทั่วประเทศเพื่อกำหนดจำนวน สส. ทั้งหมดที่พรรคนั้น ๆ จะได้แล้วนำจำนวน สส. เขตที่พรรคนั้นได้ไปหักออก ก็จะได้ สส. บัญชีรายชื่อ
     12) สว. จำนวน 200 คน การเลือก สว. จะตั้งกลุ่มตามความรู้ / เชี่ยวชาญ / อาชีพการงาน ฯลฯ ปชช. สามารถสมัครเองได้ จากระดับอำเภอ ; จังหวัด ;ประเทศ
     13) ใน 5 ปีแรก ให้มี สว. 250 คน ทั้งจากการเลือกและสรรหาโดย คสช. เพื่อกำกับและติดตามการปฏิรูปประเทศ
     14) คสช. สนช. กรธ. จะพ้นตำแหน่งก่อนรัฐบาลใหม่เข้ามาทำหน้าที่
     15) ไม่กำหนดวิธีการว่าให้ใช้ระบบ เศรษฐกิจ แบบใด (เดิมระบุว่าต้องใช้ระบบเสรีโดยอาศัยกลไกตลาด) แต่เน้นว่า เป็นระบบที่ ประชาชน ต้องได้ประโยชน์ไปด้วยกันอย่างทั่วถึงและยั่งยืน (inclusive and sustainable growth) ซึ่งสอดคล้องกับหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง / ไม่ใช่มือใครยาวสาวได้สาวเอาตามแบบกลไกตลาดอย่างเดียว
      16) รัฐไม่ประกอบกิจการแข่งเอกชน แต่ต้องส่งเสริมให้เอกชนมีความสามารถในการแข่งขัน ส่งเสริมธุรกิจ ขนาดกลาง-ย่อม
       17) พัฒนาวัตถุและจิตใจและตวามอยู่เย็นเป็นสุขของ ประชาชน อย่างสมดุล
       18) ปากท้องของพี่น้องประชาชนสำคัญมาก รัฐให้ความสำคัญ
        19) กฎหมาย ยุทธศาสตร์ชาติ; ต้องเสร็จใน 120 วัน หลังร่างรัฐธรรมนูญผ่าน ; ยุทธศาสตร์ชาติ (20 ปี) เสร็จในอีก 12 เดือน ดังนั้น เท่ากับว่าหลัง รัฐธรรมนูญ ผ่าน ยุทธศาสตร์ชาติต้องเสร็จใน 16 เดือน ; เมื่อมี ครม. เข้ามา การทำงานต้องสอดคล้องยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงการทำงบประมาณด้วย
        20) กระบวนการ/ ระยะเวลาอนุมัติ งบประมาณ แผ่นดิน สั้นลง; แผนต่างๆ เดินหน้าเร็วขึ้น
        21) กำหนดระยะเวลาจัดทำ กฎหมาย หลายฉบับสั้นลงและบทลงโทษในกรณีทำไม่เสร็จ
         22) ขอเห็นชอบหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ต้อง พิจารณา ให้เสร็จใน60 วัน (เหมือนรัฐธรรมนูญ 50) ถ้าไม่เสร็จถือว่าเห็นชอบ
     
การลงประชามติ
     26 มีนาคม พ.ศ. 2559 นรชิต สิงหเสนี โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ แถลงว่าคณะกรรมการได้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีเนื้อหา16 หมวด 279 มาตรา
     29 มีนาคม พ.ศ. 2559 ศ. มีชัย ฤชุพันธุ์ แถลงข่าวเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับลงประชามติ) พ.ศ. 2559
     7 เมษายน พ.ศ. 2559 สภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.... วาระ 2 และ 3 ตามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญที่มีพลเอก สมเจตน์ บุญถนอมเป็นประธาน โดยมีสาระสำคัญ คือ เปิดโอกาสให้แสดงความเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญได้โดยไม่ปิดกั้น แต่ต้องไม่ขัดต่อกฎหมาย โดยใช้เวลาผ่าน 5ชั่วโมง และไม่ใช้ลงคะแนนโดยใช้เครื่องลงคะแนน
     9 เมษายน พ.ศ. 2559 สภานิติบัญญัติแห่งชาติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์ให้เพิ่มคำถามประชามติว่าจะให้รัฐสภาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรีใน 5 ปีหลังรัฐสภาชุดแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ได้หรือไม่
     19 เมษายน พ.ศ. 2559 คณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศกำหนดให้วันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 เป็นวันออกเสียงประชามติ
     7 สิงหาคม พ.ศ. 2559 ในการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญผลออกมาปรากฏว่าร่างรัฐธรรมนูญผ่านความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง 15,562,027คะแนนขณะที่คำถามพ่วงว่าด้วยการกำหนดให้ ส.ส. และ ส.ว. เลือกนายกรัฐมนตรีภายในระยะเวลา 5 ปีแรกผ่านความเห็นชอบด้วยคะแนนเสียง13,969,594 คะแนน

การดำเนินการหลังผ่านประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ 2560
       จากนั้น คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ นำร่างรัฐธรรมนูญไปปรับปรุงในบางมาตราและในบทเฉพาะกาลเพื่อให้เข้ากับคำถามพ่วงเป็นเวลา 30 วันหลังจากนั้นเมื่อปรับปรุงร่างรัฐธรรมนูญเสร็จสิ้นแล้วคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะทำการส่งร่างกลับคืนนายกรัฐมนตรีให้นำขึ้นทูลเกล้า ฯ เพื่อให้ลงพระปรมาภิไธยในร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประกาศใช้เป็นกฎหมายต่อไป

           หลังจากนั้นทางคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จะได้ทำการร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญที่สำคัญ 4 ฉบับจากทั้งหมด 10 ฉบับได้แก่ ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง , ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส) , ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และ ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) โดย สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท. จะได้ส่งความคิดเห็นไปยังคณะ กรธ. เพื่อประกอบร่าง พ.ร.ป. จากนั้นจะได้ส่งไปยัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อทำการพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ทั้ง 4ฉบับโดยใช้เวลาทั้งสิ้น 8 เดือนหรือ 240 วันจากนั้นสนช.จะได้ทำการพิจารณาร่าง พ.ร.ป. อีก 6 ฉบับจนครบ 10 ฉบับเพื่อจะเข้าสู่การเลือกตั้งในช่วงปลายปี พ.ศ.2560 หรือต้นปี พ.ศ. 2561

การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560
วันที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2560 สำนักพระราชวังได้เผยแพร่หมายกำหนดการ ที่9/2560 เรื่อง หมายกำหนดการพระราชพิธีประกาศใช้รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ในวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560 เวลา 15.00 น. ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในพระราชวังดุสิต โดย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร จะเสด็จออกจาก พระที่นั่งอัมพรสถาน มายังพระที่นั่งอนันตสมาคมและประทับพระราชอาสน์หน้าพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์เพื่อลงพระปรมาภิไธยในร่างรัฐธรรมนูญและประทับตราพระราชลัญจกร

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น