เหตุยกเว้นโทษ

การกระทำใดที่ครบองค์ประกอบความผิดในฐานนั้นๆ แล้ว (ผ่านโครงสร้างข้อที่ 1) และพิจารณาแล้วว่าการกระทำความผิดนั้นไม่มีเหตุยกเว้นความผิดไว้ (ผ่านโครงสร้างข้อที่ 2) ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดอาญาแล้ว แต่ทั้งนี้อาจมีเหตุตามกฎหมายที่ทำให้ผู้กระทำผิดนั้นไม่ต้องรับโทษทางอาญาในฐานนั้น ๆ ก็ได้ เช่น ไม่ต้องจำคุก หรือถูกปรับ เป็นต้น ซึ่งเรียกเหตุดังกล่าวว่าเหตุยกเว้นโทษ (excuse) เหตุที่กฎหมายยกเว้นโทษให้มีสาเหตุหลายประการ ซึ่งแต่ละเหตุนั้นยังไม่มีเหตุผลที่ชอบธรรมเพียงพอที่กฎหมายจะเว้นความผิดให้เลย แต่ก็มีเหตุผลเพียงพอที่กฎหมายไม่ควรลงโทษบุคคลดังกล่าวตามกฎหมาย แม้เขาเหล่านั้นจะได้กระทำความผิดก็ตาม เช่น การกระทำผิดเพราะไม่รู้ผิดชอบในการกระทำของตนเองเพราะเป็นเด็กหรือคนวิกลจริต ซึ่งถือว่าเป็นการกระทำโดยปราศจากความชั่ว[1]หรือเป็นการกระทำด้วยความจำเป็นต้องกระทำซึ่งถือเป็นเหตุที่กฎหมายยกเว้นโทษให้เช่นเดียวกัน[2]
          1. การกระทำผิดด้วยความจำเป็นตาม ม.67
            2. การกระทำความผิดของเด็กอายุไม่เกิน 12 ปี ตาม ม.73 และการกระทำความผิดของเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ตาม ม.74
            3. การกระทำความผิดของคนวิกลจริต ตาม ม.65
            4. การกระทำความผิดด้วยความมึนเมา ตาม ม.66
            5. การกระทำตามคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมายของเจ้าพนักงาน ตาม ม.70
            6. การกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์ในบางความผิดระหว่างสามีกริยา ตาม ม.71 วรรคแรก
1. การกระทำผิดด้วยความจำเป็นตาม ม.67
          การกระทำความผิดด้วยความจำเป็นนั้นกฎหมายอาญาของไทยถือเป็นเหตุยกเว้นโทษ หมายถึง ผู้กระทำยังมีความผิดอยู่แต่ไม่ต้องรับโทษตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ เนื่องจากกฎหมายถือว่า ผู้ที่กระทำนั้นจำเป็นต้องกระทำเพราะไม่มีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า โดยสาเหตุที่ไม่มีทางเลือกเนื่องจากกระทำความผิดนั้นมาจาก ถูกบังคับให้กระทำความผิด หรือไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากการกระทำความผิด ซึ่งถ้าพิจารณาถึงเจตนาของผู้กระทำความผิดนั้น เขากระทำผิดโดยเจตนาที่จะกระทำ (มีจิตใจที่ชั่วร้าย) จึงมีความผิดอยู่ แต่อย่างไรก็ตามการกระทำความผิดดังกล่าวก็เพราะถูกบังคับให้จำใจต้องกระทำ กฎหมายก็เหตุใจผู้ที่ตกอยู่ในภาวะดังกล่าว กฎหมายจึงให้อภัยโดยการกำหนดให้เป็นเหตุยกเว้นโทษ[3]
          มาตรา 67 “ผู้ใดกระทำความผิดด้วยความจำเป็น
                   (1) เพราะอยู่ในที่บังคับ หรือภายใต้อำนาจซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยง หรือขัดขืนได้ หรือ
                   (2) เพราะเพื่อให้ตนเอง หรือผู้อื่นพ้นจากภยันตรายที่ใกล้จะถึงและไม่สามมารถหลีกเลี่ยงให้พ้นจากวิธีอื่นใดได้ เมื่อภยันตรายนั้นตนมิได้ก่อให้เกิดขึ้นเพราะความผิดของตน
          ถ้าการกระทำนั้นเป็นการสมควรแก่เหตุแล้ว ผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ
          ตามมาตรา 67 นั้นได้บัญญัติเหตุยกเว้นโทษสำหรับผู้ที่กระทำความผิดด้วยความจำเป็นไว้ 2 กรณี คือ กรณีตาม (1) ซึ่งเป็นความจำเป็นเพราะถูกบังคับ (duress) ส่วนตาม (2) เป็นความจำเป็นเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตราย (necessity) ซึ่งทั้ง 2 กรณีนี้กฎหมายถือว่าผู้กระทำความผิดนั้นกระทำด้วยความจำเป็นสมควรที่จะยกเว้นโทษตามกฎหมายให้ [4]เช่น
          ตัวอย่างที่ 1 แดงถูกดำเอาปืนจี้ให้ข่มขืนนางขาว หากไม่ทำตาม ดำจะยิงแดงให้ตาย กรณีเช่นนี้เป็นการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นเพราะอยู่ในที่บังคับ ตาม ม. 67 (1)
          ตัวอย่างที่ 2 แดงถูกกลุ่มวัยรุ่นเอามีดวิ่งไล่ฟัน จึงวิ่งหนีจะเข้าไปหลบในบ้านของดำ แต่นายดำยืนขวางประตูอยู่ นายแดงจึงผลักนายดำล้มลงหัวแตก กรณีเช่นนี้เป็นการกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายแต่เป็นการกระทำด้วยความจำเป็นเพื่อให้ตนเองพ้นจากภยันตราย ตาม ม. 67 (2)
          จะเห็นได้ว่าทั้งสองตัวอย่างนั้น แดงไม่ได้ถูกใครจับมือให้ทำ แต่แดงเป็นคนที่รู้สำนึกในการกระทำของตนเองเป็นอย่างดี และได้กระทำความผิดโดยเจตนาต่อผู้อื่น แต่การที่แดงกระทำความผิดนั้น เพราะความจำเป็นอยู่ในที่บังคับหรือเพื่อให้ตนเองหรือผู้อื่นพ้นจากภยันตราย
          ผลของการกระทำความผิดด้วยความจำเป็นหากได้กระทำไปพอสมควรแก่เหตุแล้วผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ ถือเป็นเหตุยกเว้นโทษที่อยู่ในโครงสร้างความรับผิดทางอาญาที่ 3 แต่การจะพิจารณาว่า การกระทำด้วยความจำเป็นนั้นเป็นการกระทำไปพอสมควรแก่เหตุหรือไม่ ซึ่งหากได้กระทำผิดด้วยความจำเป็นแต่กระทำไปเกินขอบเขต ซึ่งในประมวลกฎหมายอาญา ม. 69 ได้บัญญัติไว้ว่า “ในกรณีที่บัญญัติไว้ใน มาตรา 67 และ มาตรา 68 นั้น ถ้าผู้กระทำได้กระทำไปเกินสมควรแก่เหตุ หรือเกินกว่ากรณีแห่งความจำเป็นหรือเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น เพียงใดก็ได้แต่ถ้าการกระทำนั้นเกิดขึ้นจากความตื่นเต้น ความตกใจหรือความกลัว ศาลจะไม่ลงโทษผู้กระทำก็ได้” ดังนั้นหากผู้นั้นได้กระทำด้วยความจำเป็นไม่เกินขอบเขตย่อมได้รับการยกเว้นโทษ แต่หากเกินขอบเขตก็ต้องพิจารณาตาม ม. 69 ซึ่งกฎหมายไม่ได้ยกเว้นโทษให้เพียงแต่เป็นเหตุลดโทษที่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ได้[5]
2. การกระทำความผิดของเด็กอายุไม่เกิน 12 ปี ตาม ม.73 และการกระทำความผิดของเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ตาม ม.74
          เหตุยกเว้นโทษสำหรับผู้กระทำความผิดที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 12 ปี และไม่เกิน 15 ปีนั้น กฎหมายพิจารณาถึงตัวผู้กระทำผิดที่ยังเป็นเด็ก ยังไม่รู้ผิดชอบชั่วดีเหมือนกันกับผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์และรู้ผิดชอบ แต่เด็กนั้นตามอายุแล้วยังเป็นวัยที่ยังไร้เดียงสา แม้จะหลงผิดกระทำความผิดอาญาขึ้นโดยเจตนาก็ตาม ก็ต้องเข้าใจว่าเด็กเหล่านั้นกระทำความผิดตามความนึกคิดของเด็ก ซึ่งอาจจะขาดการตรึกตรองถึงผลที่จะตามมา[6] อีกทั้งการลงโทษทางอาญาแก่เด็กที่กระทำความผิดยังเป็นโทษมากกว่าเป็นผลดี เพราะไม่มีผลเป็นการยับยั้งไม่ให้เด็กกระทำการเช่นนั้นอีก[7] และหากมีการลงโทษเด็กจะเป็นการผลักดันให้เด็กที่หลงผิดกลายไปเป็นอาชญากรรมที่รุนแรงขึ้นในอนาคตซึ่งแนวคิดนี้กลายเป็นนโยบายทางอาญาที่ในแต่ละประเทศนำไปใช้เพื่อยกเว้นโทษให้กับผู้กระทำความผิดที่เป็นเด็ก แต่จะมีความแตกต่างกันบ้างในเรื่องของอายุ ว่าจะยกเว้นโทษให้เด็กอายุเท่าไหร่ ซึ่งแต่เดิมของไทยนั้นยกเว้นโทษให้สำหรับเด็กที่อายุไม่เกิน 10 ปี แต่ต่อมาก็ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญาโดยในปัจจุบันยกเว้นโทษให้สำหรับเด็กที่กระทำความผิดที่มีอายุไม่เกิน 12 ปี
            1) การกระทำความผิดของเด็กอายุไม่เกิน 12 ปี ตาม ม.73
          มาตรา 73 เด็กอายุยังไม่เกินสิบสองปีกระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิดเด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ
          กรณีของเด็กอายุไม่เกินสิบสองปีกระทำความผิดอาญา กฎหมายถือเอาอายุเป็นเกณฑ์ในการวินิจฉัย ข้อเท็จจริงว่าเด็กจะรู้ผิดชอบหรือไม่นั้นไม่ได้พิจารณา[8] และตาม ม.73 นั้นยกเว้นโทษให้สำหรับเด็กที่อายุไม่เกินสิบสองปีที่กระทำความผิดกฎหมาย โดยถือเอาอายุในวันที่กระทำความผิดเป็นเกณฑ์ในการพิจารณา หากว่าตอนที่กระทำความผิดนั้นยังเป็นเด็กอายุไม่เกินสิบสองปีแม้ต่อมาในระหว่างการดำเนินคดีเด็กจะมีอายุเกินสิบปีแล้วก็ได้รับการยกเว้นโทษเช่นเดิม แต่ทั้งนี้ในปัจจุบันมีกฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองเด็ก ทั้งเด็กที่ตกเป็นผู้เสียหายและเด็กที่เป็นผู้กระทำความผิด ดังนั้นตามวรรคสองของ ม.73 จึงกำหนดให้ให้พนักงานสอบสวนส่งตัวเด็กตามวรรคหนึ่งให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองเด็ก เพื่อดำเนินการคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมายด้วย
            2) การกระทำความผิดของเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ตาม ม.74
          การกระทำความผิดของเด็กที่มีอายุกว่าสิบสิบสองแต่ไม่เกิน 15 ปี กฎหมายก็กำหนดให้เป็นเหตุยกเว้นโทษเช่นเดียวกัน มาตรา 74 เด็กอายุกว่าสิบปีแต่ยังไม่เกินสิบห้าปี กระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด เด็กนั้นไม่ต้องรับโทษ เพราะกฎหมายสันนิษฐานว่าเด็กอายุไม่เกิน 15 ปีนั้นยังไม่มีความสามารถในการทำชั่ว[9] แต่ให้ศาลมีอำนาจที่จะดำเนินการดังต่อไปนี้ โดยถือหลักในการพิจารณาเช่นเดียวกัน จะแตกต่างกันก็แต่เพียงการกระทำความผิดของเด็กตาม ม.74 นั้นกฎหมายให้อำนาจศาลสามารถออกคำสั่งกำหนดเงื่อนไขต่าง ๆ แก่เด็กและผู้ปกครองของเด็ก เพื่อไม่ให้เด็กที่กระทำความผิดกลับมากระทำความผิดซ้ำและหลงผิดไปมากกว่าเดิม ซึ่งมาตรการทางศาลตามมาตรานี้ไม่ใช่โทษทางอาญา เพราะกฎหมายยกเว้นโทษทางอาญาให้ไปแล้ว แต่เป็นมาตรการเพื่อความปลอดภัยที่ศาลสามารถนำมาใช้ได้เพื่อคุ้มครองเด็ก เช่น (1) ว่ากล่าวตักเตือนเด็ก บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กนั้นอาศัยอยู่มาตักเตือน หรือ (5) ส่งตัวเด็กนั้นไปยังโรงเรียน หรือสถานฝึกและอบรม หรือสถานที่ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อฝึกและอบรมเด็ก เป็นต้น
3. การกระทำความผิดของคนวิกลจริต ตาม ม.65
          วิกลจริต หมายถึง สภาพจิตที่ไม่มั่นคง ไม่สมประกอบ หรือไม่สมบูรณ์ถึงขนาดผิดปกติคนธรรมดาทั่วๆไปอย่างมาก[10] เหตุผลที่กฎหมายยกเว้นโทษให้กับคนวิกลจริตที่กระทำความผิดอาญาก็มีเหตุผลเช่นเดียวกับการกระทำความผิดของเด็กอายุไม่เกิน 10 ปี  และเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี ที่กฎหมายถือว่ายังไร้เดียงสาไม่รู้ผิดและชอบเพราะอายุ ส่วนคนวิกลนั้นหมายถึงบุคคลมีความประพฤติหรือกิริยาผิดปรกติ หรือไม่สามารถแยกแยะผิดชอบชั่วดี เพราะสติวิปลาส ซึ่งถือว่าเป็นบุคคลที่ขาดความสามารถในการทำชั่วเช่นเดียวกันกับเด็ก[11] ซึ่งอาจมีสาเหตุหลายประการ เช่น ปัญญาอ่อน โรคจิตบกพร่อง เป็นต้น คนวิกลจิตกฎหมายถือว่าเป็นบุคคลที่ไม่รู้ผิดชอบ แม้จะได้กระทำความผิดอาญาไปโดยเจตนาก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นเรื่องที่ถูกต้องหรือเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นบุคคลเหล่านี้จึงสมควรได้รับการยกเว้นโทษ เพราะกระทำความผิดไปโดยปราศจากจิตใจที่ชั่วร้ายนั้นเอง
          ในกฎหมายอาญาของไทยก็ได้บัญญัติไว้ใน ม. 65 “ผู้ใดกระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้เพราะมีจิตบกพร่อง โรคจิตหรือ จิตฟั่นเฟือนผู้นั้นไม่ต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น” จะเห็นได้ว่าตามกฎหมายไทยถ้าได้กระทำความผิดในขณะที่วิกลจริตอยู่ ไม่ว่าการวิกลจริตนั้นจะมีสาเหตุเพราะจิตบกพร่อง โรคจิต จิตฟั่นเฟือน กฎหมายก็ยกเว้นโทษให้ แต่ต้องปรากฏว่าผู้กระทำนั้นไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือบังคับตนเองไม่ได้เลย ถ้าหากว่ายังพอรู้ผิดชอบอยู่บ้างหรือยังสามารถควบคุมตัวเองได้อยู่ กฎหมายไม่ยกเว้นโทษให้ แต่ถือเป็นเหตุลดโทษตามวรรคสอง “แต่ถ้าผู้กระทำความผิดยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ผู้นั้นต้องรับโทษสำหรับความผิดนั้น แต่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”
          ตัวอย่างเช่น นายแดงป่วยเป็นโรคจิตซึ่งต้องทานยาที่จิตแพทย์สั่งทุกวัน แต่วันเกิดเหตุนายแดงไม่ได้ทานยาจึงเกิดประสาทหลอน เข้าใจว่ารถยนต์ของนายดำที่จอดอยู่ริมถนน คือ มนุษย์ต่างดาวแปลงกายมา ด้วยความกลัวนายแดงได้เอาก้อนหินขว้างใส่รถของนายดำจนกระจกแตก จะเห็นว่าการที่นายแดงเอาก้อนหินปาใส่รถของนายดำนั้น นายแดงได้กระทำความผิดโดยเจตนาเพราะรู้สำนึกในการกระทำและประสงค์ต่อผล จึงมีความผิดฐานทำให้เสียทรัพย์ แต่การที่นายแดงกระทำความผิดนั้นเพราะไม่รู้ผิดชอบเนื่องจากป่วยเป็นโรคจิตและไม่ทานยาทำให้อาการกำเริบ นายแดงจึงได้รับการยกเว้นโทษตาม ม.65 วรรคแรก
          แม้กฎหมายอาญาจะไม่ลงโทษผู้กระทำความผิดที่เป็นคนวิกลจริตตาม ม.65 ก็ตาม แต่ศาลสามารถจะใช้วิธีการเพื่อความปลอดภัย ตามประมวลกฎหมายอาญา ม. 48 ได้[12]
4. การกระทำความผิดด้วยความมึนเมา ตาม ม.66
          บุคคลไม่อาจอ้างความมึนเมาเพื่อให้พ้นจากความรับผิดทางอาญาได้ เว้นเสียแต่ว่าเสพโดยไม่รู้ว่าสิ่งนั้นทำให้มึนเมา เหตุใดกฎหมายจึงห้ามไม่ให้คนนำเรื่องความมึนเมามาแก้ตัวเพื่อให้พ้นจากความรับผิดทางอาญา ทั้ง ๆ ที่คนเมาย่อมทำอะไรไปโดยสติไม่สมบูรณ์ กล่าวคือ  ได้กระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เช่น เมาเหล้าจนขาดสติทำให้ก่อเหตุทะเลาะวิวาทและทำร้ายผู้อื่น ขับรถด้วยความมึนเมาจนไปชนคนตาย หากบุคคลเหล่านี้ไม่เมาก็จะไม่ทะเลาะวิวาท ไม่ขับรถด้วยความประมาท เช่นนี้สาเหตุน่าจะมาเพราะความมึนเมา เหตุใดกฎหมายอาญาจึงไม่ยอมให้อ้างเป็นเหตุยกเว้นโทษ
          คนที่กระทำความผิดด้วยมึนเมานั้น แม้ตอนขับรถจะไม่ได้สติเพราะหลับ ทำให้ชนคนตาย แม้ตอนชนไม่ได้สติไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ เหตุใดจึงมีความผิดและต้องรับโทษทางอาญาด้วย กฎหมายไม่ได้พิจารณาการกระทำตอนชนเท่านั้น การกระทำโดยรู้สำนึกในการกระทำเกิดขึ้นตั้งแต่ผู้ที่กระทำความผิดได้เสพสุราหรือของมึนเมาไปโดยรู้ว่าสิ่งนั้นทำให้มึนเมา ดังนั้นความผิดของบุคคลดั่งกล่าวจึงเกิดขึ้นตั้งแต่ได้เสพมันเข้าไป เมื่อรู้ว่าสิ่งของดังกล่าวทำให้ขาดสติไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถควบคุมตนเองได้ ก็ต้องรับผลของการกระทำอันเกิดจากความมึนเมาของตนเองด้วย เว้นเสียแต่ว่าเสพสิ่งนั้นเข้าไปโดยไม่รู้ว่าทำให้มึนเมา ดังที่ปรากฏใน ม. 66 “ความมึนเมาเพราะเสพย์สุราหรือสิ่งเมาอย่างอื่นจะยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวตาม มาตรา 65 ไม่ได้ เว้นแต่ความมึนเมานั้นจะได้เกิดโดยผู้เสพย์ไม่รู้ว่าสิ่งนั้นจะทำให้มึนเมา หรือได้เสพย์โดยถูกขืนใจให้เสพย์และได้กระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบ หรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ ผู้กระทำความผิดจึงจะได้รับยก เว้นโทษสำหรับความผิดนั้นแต่ถ้าผู้นั้นยังสามารถรู้ผิดชอบอยู่บ้าง หรือยังสามารถบังคับตนเองได้บ้าง ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้”
          ดังนั้นบุคคลที่จะอ้างความมึนเมาเพื่อยกเว้นโทษทางอาญา ต้องเข้าเงื่อนไข 2 ประการ คือ ผู้เสพไม่รู้ว่าสิ่งนั้นทำให้มึนเมา หรือ ผู้เสพถูกขืนนใจให้เสพ[13]
          1) เสพสุราหรือของมึนเมานั้นโดยไม่รู้ว่าสิ่งนั้นทำให้มึนเมาได้ เช่น ถูกหลอกให้กิน หรือกินผลไม้หรือเห็ดที่ทำให้เกิดการมันเมาโดยไม่รู้ว่าผลไม้หรือเห็ดนั้นทำให้มึนเมาได้
          2) ได้กระทำความผิดในขณะไม่สามารถรู้ผิดชอบหรือไม่สามารถบังคับตนเองได้ ซึ่งหมายถึง กระทำความผิดในขณะที่ยังเมาอยู่ ไม่ใช่หายเมาแล้วไปแล้วไปกระทำความผิด จะอ้าเหตุความมึนเมาเพื่อยกเว้นโทษไม่ได้
          การกระทำความผิดด้วยความมึนเมานั้นนอกจากไม่สามารถอ้างเป็นเหตุยกเว้นความรับผิดและโทษทางอาญาได้แล้ว ยังถือว่าเป็นการกระทำที่ประเทศต่าง ๆ ได้พยายามเพิ่มโทษหนักขึ้นกว่าการกระทำความผิดธรรมดา เช่น ในประเทศไทยสำหรับความผิดในพระราชบัญญัติจราจรทางบก สำหรับผู้ที่กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าวด้วยความมึนเมา เช่น เมาแล้วขับไปชนคนตายมีโทษหนักกว่ากรณีที่ขับรถด้วยความประมาทแล้วไปชนคนตายธรรมดาอีกด้วย



ที่มา   http://criminallawup.blogspot.com/2016/05/9.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น