ความหมาย ความสำคัญ

                      ทำไมสังคมต้องมีกฎหมาย ลักษณะทั่วไปของกฎหมายเป็นอย่างไร และมีความแตกต่างกับกฎเกณฑ์ความประพฤติของสังคมในประเภทอื่น เช่น หลักศีลธรรม ศาสนาและจารีตประเพณีอย่างไร กฎหมายมีความสำคัญสำหรับสังคมอย่างยิ่ง กฎหมายเป็นเรื่องคู่กับสังคมตลอดมา คือ มีสังคมที่ไหนมีกฎหมายที่นั่น เป็นเพราะมนุษย์ต้องอยู่ร่วมกันเป็นสังคมและมนุษย์ปรารถนาที่จะสนองตอบความต้องการของตนและปกปักษ์รักษาตน การที่มนุษย์อยู่ร่วมกันและมีความปราถนาดังกล่าวนั้นเพื่อให้สังคมเกิดความสงบสุข จึงจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ หรือที่เรียกง่ายๆ ว่า กติกา ถ้าไม่มีกฎเกณฑ์หรือกติกา คนในสังคมก็จะทำอะไรตามอำเภอใจของตนเกิดความสับสนวุ่นวาย สังคมก็ไม่อาจอยู่เป็นสุขได้ จึงต้องมีการกำหนดกฎเกณฑ์หรือกติกาขึ้น มาเพื่อให้สังคมนั้นเป็นระเบียบเรียบร้อย
จะเห็นได้ว่ากติกาเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับทุกคนที่อยู่รวมกันเป็นเป็นกลุ่ม เป็นสังคมและผู้อยู่ในกลุ่มหรือสังคมนั้นจะต้องทราบ และต้องปฏิบัติตามกติกาเหล่านั้น ซึ่งเรียกว่า “กฎหมาย”
. ความหมายของกฎหมาย
   ความหมายคำว่า “กฎหมาย” มีความหมายอย่างไร นักปรัชญาและนักกฎหมายได้พยายามให้ความหมายไว้มากมาย อาทิเช่น
   1) ฌอง ชาค รุสโซ (Jean Jacque Rousseau) นักปราชญ์ชาวฝรั่งเศส ได้กล่าวไว้ว่า กฎหมายคือ เจตจำนงของประชาชนในชาติ ซึ่งแสดงออกรวมกัน
   2) โทมัส ฮ็อบส์ (Thomas Hobbes) นักปราชญ์ชาวอังกฤษ ได้ความหมาย กฎหมาย คือ หลักข้อบังคับความประพฤติ ที่บัญญัติขึ้น และบังคับ โดยผู้ทรงอำนาจอธิปไตย
   3) จอห์น ออสติน (John Austin) นักปราชญ์ชาวอังกฤษได้กล่าว กฎหมายคือคำสั่งทั่วไปที่ผู้มีอำนาจเหนือสั่งต่อผู้อยู่ใต้อำนาจของตน ให้กระทำการหรือละเว้น ไม่กระทำการอย่างใด อย่างหนึ่ง ถ้าผู้ใดไม่ปฏิบัติความผู้นั้นย่อมต้องได้รับโทษ
   4) กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ พระบิดาแห่งกฎหมายไทย ได้อธิบายกฎหมาย คือ คำสั่งทั้งหลายของผู้ปกครองว่าการแผ่นดินต่อราษฎรทั้งหลาย เมื่อไม่ทำตามแล้วธรรมดาต้องรับโทษ
   5) หลวงจำรูญเนติศาสตร์ ได้อธิบายว่ากฎหมาย ได้แก่ข้อบังคับว่าด้วยการปฏิบัติ ซึ่งผู้มีอำนาจของประเทศ ได้บัญญัติ
   6) ประสิทธิ์ โฆวิไลกูล ได้อธิบายว่ากฎหมาย คือระเบียบ ข้อบังคับของสังคม ซึ่งมนุษย์เป็นผู้กำหนดขึ้นจะเป็นกฎหมายลายลักษณ์อักษร(Statute)หรือกฎหมายจารีตประเพณี(Customary Law)เพื่อให้ใช้บังคับสมาชิกในสังคม
   7) ความหมายในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 กฎหมายคือ กฎที่สถาบันหรือผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐตราขึ้นหรือที่เกิดขึ้นจากจารีตประเพณีอันเป็นที่ยอมรับนับถือเพื่อใช้ในการบริหารประเทศ เพื่อใช้บังคับบุคคลให้ปฏิบัติตามหรือเพื่อกำหนดระเบียบแห่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือระหว่างบุคคลกับรัฐ
   
กล่าวโดยสรุป กฎหมายคือ บรรดากฎเกณฑ์ที่สถาบันหรือผู้มีอำนาจสูงสุดในสังคมกำหนดแบบแผน ความประพฤติของบุคคลในความสัมพันธ์ระหว่างกันและกัน ทั้งนี้ โดยจุดมุ่งหมายให้คนในสังคมทีมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และยุติธรรม โดยมีกระบวนการบังคับอย่างเป็นกิจจะลักษณะ กฎหมายเป็นเรื่องของกฎระเบียบแบบแผน เป็นเรื่องของเหตุผล เป็นเรื่องของคุณธรรม เป็นกติกาของสังคมมนุษย์ที่มีการจัดตั้ง เป็นเครื่องประสานประโยชน์ของมนุษย์ทุกคนที่อยู่รวมกันในสังคม
ดังนั้น กฎหมายต้องยุติธรรมเสมอไปหรือไม่ จะเห็นได้ว่าไม่เสมอไป แต่กฎหมายจะต้องเที่ยงธรรม และเมื่อมีปัญหาข้อขัดแย้งเกิดขึ้น กฎหมายต้องหาทางยุติโดยเที่ยงธรรม
     ความสำคัญของกฎหมาย
ในสังคมของมนุษย์นั้นมีสมาชิกจำนวนมากที่มีความแตกต่างกัน ทั้งด้านความคิดเห็นและพฤติกรรมต่างๆ จึงจำเป็นต้องมีกฎระเบียบหรือกติการ่วมกัน เพื่อเป็นบรรทัดฐานสำคัญในการควบคุมความประพฤติของมนุษย์ และช่วยรักษาความสงบเรียบร้อยให้กับสังคม ไม่ให้เกิดความวุ่นวาย กฎหมายมีความสำคัญต่อสังคมในด้านต่างๆ ดังนี้
      1. กฎหมายสร้างความเป็นระเบียบและความสงบเรียบร้อยให้กับสังคมและประเทศชาติ  เมื่ออยู่รวมกันเป็นสังคมทุกคนจำเป็นต้องมีบรรทัดฐาน ซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติยึดถือเพื่อความสงบเรียบร้อย ความเป็นปึกแผ่นของกลุ่ม
      2. กฎหมายเกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของมนุษย์พลเมืองไทยทุกคนต้องปฏิบัติตนตามข้อบังคับของกฎหมาย ถ้าใครฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามต้องได้รับโทษ กฎหมายจะเกี่ยวข้องกับ การดำรงชีวิตของเราตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย

      3. กฎหมายก่อให้เกิดความเป็นธรรมในสังคมคนเราทุกคนย่อมต้องการความ ยุติธรรมด้วยกันทั้งสิ้น การที่จะตัดสินว่าการกระทำใดถูกต้องหรือไม่นั้น ย่อมต้องมีหลักเกณฑ์ ฉะนั้น กฎหมายจึงเป็นกฎเกณฑ์สำคัญที่เป็นหลักของความยุติธรรม

      4. กฎหมายเป็นหลักในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนการกำหนดนโยบายพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าไปในทางใด หรือคุณภาพของพลเมืองเป็นอย่างไร จำเป็นต้องมีกฎหมายออกมาใช้บังคับ เพื่อให้ได้ผลตามเป้าหมายของการพัฒนาที่กำหนดไว้ ดังจะเห็นได้จากการที่กฎหมายได้กำหนดให้บุคคลมีสิทธิได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่า 12 ปี โดยรัฐเป็นผู้จัดการศึกษาให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายนั้น ย่อมส่งผลให้ คุณภาพด้านการศึกษาของประชาชนสูงขึ้น หรือการที่กฎหมายกำหนดให้ประชาชนทุกคนมีหน้าที่ พิทักษ์ปกป้อง และสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติ ภูมิปัญญาท้องถิ่น รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ย่อมทำให้สังคมและสภาพความเป็นอยู่ของประชาชนมีมาตรฐานดีขึ้น
       ดังนั้น การที่ประเทศใดจะพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้เป็นไปในแนวทางใดก็ตามถ้าได้มีบทบัญญัติของกฎหมายเป็นหลักการให้ทุกคนปฏิบัติตาม ก็ย่อมทำให้การพัฒนา คุณภาพชีวิตของประชาชนประสบผลสำเร็จได้สูงกว่าการปล่อยให้เป็นไปตามวิถีการดำเนินชีวิตของสังคมตามปกติ




ที่มา 
https://www.facebook.com/permalink.php?id=473834066044430&story_fbid=500289013398935

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น