การใช้บังคับกฎหมาย


     การที่จะทำให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้น จำเป็นต้องมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
     1.การประกาศใช้กฎหมายเพื่อให้ประชาชนทราบ เพื่อให้ประชาชนได้รับทราบว่ามีกฎหมายใดออกมาใช้บังคับแล้ว ก็จะมีการจัดพิมพ์ “ราชกิจจานุเบกษา” ซึ่งจัดพิมพ์ขึ้นเผยแพร่ทุกๆสัปดาห์เพื่อประกาศให้ประชาชนและหน่วยงานราชการทราบถึงกฎหมาย คำสั่ง ระเบียบข้อบังคับรวมไปถึงข้อเท็จจริงที่สำคัญอย่างใดๆหรือข้อเท็จจริงซึ่งมีกฎหมายกำหนดไว้ว่าจะมีผลสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เมื่อมีการประกาศแล้วให้ถือว่าประชาชนทุกคนทราบโดยถ้วนหน้ากัน ประชาชนจะอ้างว่าไม่รู้กฎหมายไม่ได้ ดังที่มีหลักทั่วไปในการใช้บังคับกฎหมายว่า “ความไม่รู้กฎหมาย ไม่เป็นข้อแก้ตัว”
     2.วันเริ่มใช้กฎหมาย ก็คือวันที่กำหนดให้กฎหมายที่ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วมีผลบังคับใช้นั่นเอง โดยปกติเมื่อมีการประกาศใช้กฎหมายก็จะมีการกำหนดวันใช้บังคับไว้ในกฎหมาย ซึ่งก็มีดังนี้
     -กำหนดให้ใช้ตั้งแต่วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อใดก็มีผลใช้บังคับในวันนั้นทันที ใช้ในกรณีที่จำเป็นเร่งด่วนหากใช้บังคับล่าช้าไปอาจทำให้มีผลเสียหายเกิดขึ้นได้
     -ให้ใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือมีผลใช้บังคับถัดในวันถัดไปหลังจากวันที่ได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้ประชาชนได้มีโอกาสทราบล่วงหน้าก่อนหนึ่งวัน ซึ่ง เป็นวิธีที่ใช้ปฏิบัติอยู่เป็นประจำ
     -กำหนดให้ใช้ในอนาคต คือกำหนดให้มีผลใช้บังคับภายหลังที่มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาหลายๆวัน เพื่อให้ทางราชการ เจ้าพนักงานและประชาชนเตรียมพร้อมหรือที่จะปฏิบัติตามกฎหมายนั้น
     -ในกรณีที่ไม่ได้กำหนดวันใช้บังคับไว้ คือมีการประกาศให้ประชาชนทราบแต่ไม่ได้กำหนดว่ากฎหมายที่ประกาศนั้นจะให้มีผลใช้บังคับเมื่อใด วันที่มีผลใช้บังคับอาจกำหนดขึ้นตามมาภายหลัง
     ***กฎหมายจะไม่มีผลย้อนหลังในทางเป็นโทษ คือ เมื่อมีกฎหมายใหม่ออกมาหรือมีการแก้ไขกฎหมายในทางที่เป็นโทษแก่บุคคลใด ก็จะมีผลตั้งแต่วันที่กำหนดให้มีผลใช้บังคับเป็นต้นไปเท่านั้น จะไม่มีผลย้อนไปก่อนวันที่กำหนดให้กฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับ เช่น ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2539 การขับรถโดยไม่คาดเข็มขัดนิรภัยไม่เป็นความผิด ต่อมาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 มีกฎหมายประกาศใช้บังคับว่าผู้ขับขี่รถยนต์จะต้องคาดเข็มขัดนิรภัย หากไม่ปฏิบัติตตามจะมีความผิด เช่นนี้กฎหมายจะไม่มีผลย้อนไปเอาผิดแก่บุคคลที่กระทำการฝ่าฝืนก่อนวันที่ 1 มกราคม 2539 จะมีผลเอาผิดกับบุคคลที่ฝ่าฝืนนับแต่วันที่ 1 มกราคม 2539 เท่านั้น
     แต่กฎหมายจะมีผลย้อนหลังในทางที่เป็นคุณ คือ เมื่อมีกฎหมายใหม่ออกมาหรือมีการแก้ไขกฎหมายในทางที่เป็นประโยชน์แก่บุคคล ก็จะมีผลใช้บังคับย้อนหลังไปก่อนวันที่กำหนดให้กฎหมายนั้นมีผลใช้บังคับด้วย เช่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 บัญญัติว่า “ถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดแตกต่างกับ กฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิด ให้ใช้กฎหมายในส่วน ที่เป็นคุณแก่ผู้กระทำความผิด ไม่ว่าในทางใด...” ฯลฯ
     3.สถานที่ใช้กฎหมาย กฎหมายย่อมใช้บังคับได้ทั่วราชอาณาจักรเว้นแต่จะมีบทบัญญัติเป็นการเฉพาะว่ากฎหมายใดให้ใช้เฉพาะในท้องที่ใด หรือให้ใช้บังคับแก่การกระทำหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนอกราชอาณาจักร เช่น ตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติว่าด้วยการใช้กฎหมายอิสลามในเขตจังหวัดปัตตานี นราธิวาส ยะลา สตูล พ.ศ. 2498 กำหนดว่าในการพิจารณาวินิจฉัยคดีแพ่งเกี่ยวกับเรื่องครอบครัวและมรดกของผู้ที่นับถือศาสนาอิสลามของศาลชั้นต้นในเขต  4 จังหวัด ให้กฎหมายอิสลามว่าด้วยครอบครัวและมรดกแทนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือการกระทำความผิดบางประเภทที่ได้กระทำขึ้นนอกราชอาณาจักร ก็อาจถูกลงโทษในราชอาณจักรได้ เช่น ความผิดฐานปลอมแปลงเงินตรา ฯลฯ
     4.บุคคลที่กฎหมายใช้บังคับ โดยทั่วไปแล้วกฎหมายย่อมใช้บังคับแก่บุคคลในสังคม แต่ก็มีข้อยกเว้นแก่บุคคลบางประเภทซึ่งกฎหมายไม่อาจใช้บังคับด้วยได้ แต่บุคคลเหล่านั้นต้องมีกฎหมายบัญญัติยกเว้นไว้โดยชัดแจ้ง เช่น
     -ตามกฎหมายไทย รัฐธรรมนูญกำหนดว่ากฎหมายจะไม่ใช้บังคับแก่พระมหากษัตริย์ เพราะถือว่าทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะล่วงละเมิดไม่ได้ ผู้ใดจะฟ้องพระมหากษัตริย์เป็นคดีแพ่งหรือคดีอาญาไม่ได้ทั้งสิ้น ฯลฯ
     -ตามกฎหมายอื่น เช่น ตามกฎหมายระหว่างประเทศกำหนดว่าจะไม่ใช้กฎหมายภายในประเทศของตนบังคับแก่ ฑูต บุคคลในคณะฑูตหรือประมุขของรัฐต่างประเทศ เพื่อเป็นการให้เกียรติแก่บุคคลดังกล่าว ฯลฯ
     5.การใช้กฎหมายกับข้อเท็จจริง ก็คือการนำบทบัญญัติของกฎหมายไปปรับเข้ากับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น และสรุปออกมาว่าจะมีผลทางกฎหมายอย่างไรบ้างนั่นเอง  ซึ่งจะกล่าวโดยละเอียดในภายหลัง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น